ข่าว

รัฐต่อเวลามาตรการภาษีหนุนลงทุนถึงสิ้นธ.ค.60

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครม.ไฟเขียวต่อมาตรการภาษีส่งเสริมการลงทุนในประเทศไปถึงสิ้นเดือนธันวาคม 60 หวังดึงเอกชนลงทุนเพิ่มกว่า 8 พันล้านบาท แลกยอมสูญรายได้จากภาษี 100 ล้านบาท

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.) มีมติเห็นชอบต่อมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2560 โดยปรับปรุงจำนวนการหักรายจ่ายจาก 2 เท่า เหลือ 1.5 เท่า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลังมากเกินไป ซึ่งคาดว่าการต่อมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้การลงทุนภาคเอกชนและเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยมองว่าผู้ประกอบการจะมีการลงทุนในปี 2560 เพิ่มขึ้นกว่า 8,000 ล้านบาท ขณะที่อาจส่งผลให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ 2560 ไม่เกิน 100 ล้านบาท ถือว่าเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับการลงทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2560

สำหรับรายละเอียดนั้น กำหนดให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่าย เพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่การซ่อมแซมให้คงสภาพในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 1.5 เท่า ประกอบด้วย ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไป 1 เท่าของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง ส่วนอีก 0.5 เท่าให้หักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามปกติ 

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบหลักการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ.2536 เพื่อให้ธนาคารสามารถทำธุรกรรมสนับสนุนการส่งออกและการลงทุนได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วยเพิ่มเติมอำนาจในการดำเนินงานของธนาคาร และแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบันที่ได้มีการยกเลิกทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแล้ว

ส่วนรายละเอียด เช่น ให้ธนาคารรับประกันในส่วนที่ขายในประเทศที่เป็นธุรกิจเพื่อการส่งออกได้ด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนมีต้นทุนในการทำประกันที่ต่ำลง และยังให้ธนาคารรับประกันความเสี่ยงในการที่ธนาคารของผู้ส่งออกหรือผู้ลงทุนถูกเรียกร้องให้ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ซึ่งเดิมไม่สามารถทำได้ รวมทั้งให้อำนาจธนาคารในการรับประกันต่อและรับประกันต่อรับประกันร่วม หรือเป็นนายหน้ารับประกัน ที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความเสี่ยงดังกล่าว พร้อมกันนี้ยังขยายขอบเขตในการรับประกันความเสี่ยงในการลงทุนในต่างประเทศให้แก่ผู้ลงทุนที่ไม่ได้ขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ