ข่าว

ป้องกันตัวเองจากโลกที่เราไม่รู้จัก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ เงินทองต้องรู้ โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected]

 

          เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระลอกตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน รวมถึงการบริหารจัดการเงิน (ที่มีอยู่น้อยนิดและหามาได้ด้วยความยากลำบาก) ของผู้คน ต้องยกให้การผิดนัดชำระหนี้ที่ครบกำหนดชำระตั๋วแลกเงินหรือบีอี ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 4-5 แห่ง แม้ว่า ณ วันนี้ จำนวนเงินและจำนวนคนที่เกี่ยวข้องจะไม่มาก พอที่จะกระทบกระเทือนหรือลุกลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เรื่องที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่าง

          ย้อนกลับไปเมื่อราวๆ กลางปีที่แล้ว ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนด้วยความเป็นห่วงเป็นใยว่า หลังจาก ธปท.ได้ติดตามแนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนอย่างใกล้ชิด พบว่า การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้นักลงทุนมีพฤติกรรมแสวงผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยพบว่า การลงทุนในหุ้นตัวเล็ก ตราสารที่มีคุณภาพต่ำ ตราสารที่มีความซับซ้อนและตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยที่นักลงทุนยังไม่ได้ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอย่างละเอียด

          “การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ทำให้เกิดภาวะแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งนักลงทุนต้องแน่ใจว่า จะรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นได้ สิ่งที่ ธปท.กังวลก็คือ ประชาชนบางกลุ่มยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการเงิน โดยจะไปให้ความสำคัญกับผลตอบแทน แต่ไม่เข้าใจความเสี่ยงที่ต้องรับมากขึ้น”

          ถ้าจะค้นข้อมูลย้อนให้ลึกลงไปกว่านั้นอีก ก็จะพบว่า มีผู้บริหารของแบงก์ชาติออกมาเตือนเรื่องนี้หลายครั้ง และไม่ใช่แค่เตือนเมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว แต่คำเตือนลักษณะนี้มีมาตั้งแต่ปี 2554 หรือเมื่อ 6 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ !!

          ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว สงสัยว่า ตั๋วบีอีคืออะไร ตราสารหนี้ ตราสารคุณภาพต่ำ ตราสารที่มีความซับซ้อนคืออะไร ขออนุญาตไม่อธิบาย (ถ้าอยากรู้จริงๆ สามารถค้นข้อมูลได้จากอินเทอร์เน็ต ซึ่งหาได้ง่ายมาก แต่อาจจะเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับบางคน) เพราะประเด็นที่จะมุ่งเน้นใน “เงินทองต้องรู้” วันนี้ คือ เราจะป้องกันตัวเองอย่างไรจากความเสี่ยงทางการเงินเหล่านี้

          หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับความเสี่ยงทางการเงินในหลากหลายรูปแบบ แต่ถ้าจำแนกประเภทความเสี่ยงจาก “ความไม่รู้จัก” เราก็อาจจะแยกได้เป็น 2 ประเภท นั่นคือ ความเสี่ยงที่เราไม่รู้จัก และความเสี่ยงที่เรารู้จักจากคนที่เราไม่รู้จัก

          กรณีความเสี่ยงที่เราไม่รู้จัก ต้องยอมรับว่า ในโลกของการลงทุนนั้น มีสินทรัพย์ให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงินกับธนาคาร การลงทุนในตราสารหนี้ การลงทุนในกองทุน การลงทุนในหุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ประกันชีวิต และอื่นๆ

          หลักการลงทุนข้อสำคัญที่ได้รับการยอมรับทั่วไปประการแรก ก็คือ เราต้องรู้จักสิ่งที่เราเข้าไปลงทุน ถ้าไม่รู้จัก แต่เราอยากลงทุน ก็ต้องหาทางทำความรู้จัก ต้องศึกษาข้อมูลให้เกิดความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะต้องแน่ใจว่า สิ่งที่เรากำลังจะลงทุนนั้นถูกกฎหมายหรือมีกฎหมายรองรับหรือไม่ เพื่อที่อย่างน้อยที่สุด หากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการลงทุน ก็ยังหา “เจ้าภาพ” หรือ “ผู้รับผิดชอบความเสียหาย” ได้

          อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ลงทุนจะได้ลองศึกษาข้อมูลของสิ่งที่จะลงทุนแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องรู้และเข้าใจเสมอ เพราะมีความเป็นไปได้ว่า เราอาจจะยังไม่เข้าใจ หรือบางครั้งรู้สึกว่ามันซับซ้อนเกินไป ถ้าคิดว่าจะศึกษาเพิ่มแล้วรู้แน่ ก็เดินหน้าต่อไป แต่หากคิดว่า ทำอย่างไรก็ไม่เข้าใจ ก็ไม่ควรเข้าไปลงทุนในสิ่งที่เราไม่รู้จัก

          กรณีความเสี่ยงที่เรารู้จัก จากคนที่ไม่รู้จัก ลองพิจารณาจากกรณีของ “น้องเอ” เด็กสาวที่ตั้งหน้าตั้งตารับจ้างทำงาน ประหยัดอดออม จนมีเงินเก็บก้อนใหญ่ราว 2 แสนบาท เมื่อมีเงินก้อนใหญ่ขึ้น เด็กสาวก็มองหาลู่ทางจะขยายดอกผลของเงินเก็บ เธอต้องการทำให้เงินก้อนนี้เพิ่มจาก 2 แสนบาท เป็น 4 แสนบาท โดยช่องทางที่เธอเลือก คือ นำไปลงทุนใน “วงแชร์ออนไลน์” ที่มีถ้อยคำเชิญชวนอยู่ในเฟซบุ๊ก

          เธอลงเงินทั้งหมดที่มีอยู่ 2 แสนบาทในวงแชร์ออนไลน์ 2 วง วงละ 1 แสนบาท แน่นอนว่า เป้าหมายของเธอคือ เปียแชร์เป็นคนสุดท้าย เพื่อให้เงินสะสมจาก 2 แสนเป็น 4 แสนตามที่เธอต้องการ ไม่ต้องบอกก็คงจะเดาได้ไม่ยากว่า นอกจากเธอจะไม่ได้เงิน 4 แสนบาทตามที่ตั้งใจแล้ว เธอยังสูญเงิน 2 แสนบาท ให้กับเจ้ามือในเฟซบุ๊กที่เธอไม่รู้จักแม้ชื่อเสียงเรียงนามที่แท้จริง ไม่เคยเห็นแม้กระทั่งรูปร่างหน้าตา

          ถามว่า ทำไมกล้าเสี่ยงขนาดนั้น เพราะขนาดเล่นแชร์กับเพื่อน กับคนรู้จักหรือกับญาติ ยังถูกโกงกันมานักต่อนักแล้ว เธอบอกสั้นๆ ว่า เพราะคำว่า “อยากได้มากๆ” คำเดียวจริงๆ

          ไม่เพียงความเสี่ยงในโลกออนไลน์จากคนที่เราไม่รู้จักเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาหลายคนถูกหลอกจากคนไม่รู้จักในชีวิตจริง มาให้เห็นกันตัวเป็นๆ นี่แหละ แต่มาในหลายรูปแบบ หลอกขายที่ดินบ้าง หลอกแลกทองจริงกับทองปลอมบ้าง หลอกขายลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งปลอมบ้าง หรือบางครั้งก็ใช้วิธีโทรศัพท์มาหลอกให้โอนเงิน หรือหลอกล้วงข้อมูลส่วนตัวทั้งบัตรประชาชน-บัตรเครดิตเอาไปปลอมแปลง

          สำหรับวิธีป้องกันความเสี่ยงในลักษณะแบบนี้ เริ่มตั้งแต่ “ต้องมีสติ” เมื่อได้รับโทรศัพท์จากบุคคลที่ไม่รู้จัก ต้องทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และ “ต้องไม่โลภ” ต้องไม่อยากได้เงินรางวัลที่ไม่มีที่มา ต้องไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินแก่บุคคลอื่น ถึงแม้ผู้ติดต่อจะอ้างตัวเป็นส่วนราชการหรือสถาบันการเงิน เพราะส่วนราชการและสถาบันการเงินไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนตัวลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์ ต้องไม่ทำรายการที่ตู้เอทีเอ็ม หรือเครื่องฝากเงินอัตโนมัติตามคำบอกของผู้ที่ติดต่อมา และต้องสอบถามข้อเท็จจริงกับสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึง โดยติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าหรือคอลล์เซ็นเตอร์ของสถาบันการเงิน

          เวลาที่เราเจอคนที่ใช่ แล้วใจมันชอบ เรายังอยากทำความรู้จักเขาให้มากขึ้น อยากรู้ว่า นิสัยใจคอเป็นยังไง พื้นฐานครอบครัวเป็นยังไง ทำงานทำการอะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร จะสร้างอนาคตด้วยกันได้มั้ย เรื่องเงินๆ ทองๆ เรื่องการลงทุนก็ (ต้องการอะไรแบบนั้น) เช่นกัน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ