ข่าว

ถึงเวลาจัดการข่าวปลอม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ เล่าสู่กันฟัง โดย...บัญญัติ คำนูญวัฒน์

 

          วันนี้ต้องยอมรับว่าเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ เป็นเครื่องมือกระจายข่าวในสังคมออนไลน์ที่รวดเร็วมาก ซึ่งหากข่าวนั้นเป็นเรื่องจริงก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อไรที่มีการสร้างข่าวปลอม ปล่อยข่าวลือ เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างขึ้นมา ทั้งที่โดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและประเทศ ในวงกว้างอย่างน่าเศร้าทีเดียว

          ยกตัวอย่าง ข่าวลือเรื่องข้าวปลอมจากจีนที่ทำจากมันฝรั่ง มันเทศ และเรซินสังเคราะห์ บุกเข้าไปขายในเอเชีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็มีคลิปเหตุการณ์ที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กสาวชาวสหรัฐอเมริกา โพสต์ในสังคมออนไลน์ ต่อว่าคุณภาพข้าวหอมมะลิของไทย โดยให้ข้อมูลว่าข้าวหอมมะลิจากไทยเป็นข้าวปลอมผสมพลาสติก ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ข้าวไทยเป็นอย่างมาก ทางอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จึงต้องรีบออกมายืนยันว่าข้าวไทยผ่านการตรวจสอบคุณภาพได้มาตรฐานถูกต้อง และที่สำคัญข้าวไทยกิโลกรัมละ 20 บาท แต่พลาสติกกิโลกรัมละ 40 บาท ฉะนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะเอาพลาสติกมาทำข้าวปลอม

          การกดแชร์ที่ทำได้ง่ายๆ อาจจะทำให้หลายคนตกเป็นเหยื่อของข่าวลือ ข่าวลวงได้ง่ายเช่นกัน เพราะในแต่ละปีมีข่าวปลอมเกิดขึ้นจำนวนมาก หากดูจากรายงานของไซแมนเทค ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัย ฉบับที่ 21 ที่ให้ข้อมูลไว้ว่าอาชญากรไซเบอร์ในปัจจุบันมีการจัดตั้งองค์กรธุรกิจแบบมืออาชีพเหมือนองค์กรทั่วไป ทำให้ขยายขอบเขตได้กว้างขวางมากขึ้น ด้วยทรัพยากรและบุคลากรด้านเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญ

          โดยในส่วนของผู้บริโภคชาวไทยนั้น ปัจจุบันเข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีการหลอกลวงทางโซเชียลมีเดียสูงอันดับ 11 ในภูมิภาค และอันดับ 52 ของโลก โดยพบว่าประเทศไทยถูกโจมตีด้วยมัลแวร์ หรือ Malicious Software คือซอฟต์แวร์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแอบเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยที่ผู้ใช้ไม่ได้อนุญาต ราว 5,090 ครั้งในช่วงปี 2558 โดยเฉลี่ยองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่มักจะตกเป็นเป้าหมายการโจมตี อย่างน้อย 3 ครั้งในหนึ่งปี

          เห็นข้อมูลอย่างนี้แล้วทำให้มองเห็นความรุนแรงของข่าวปลอมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตที่ยากจะคาดเดาจริงๆ ดังนั้นการที่บริษัทเฟซบุ๊ก อิงค์ ยักษ์ใหญ่สังคมออนไลน์ ประกาศก่อตั้งโครงการ “เจอร์นัลลิซึ่ม โปรเจกท์” โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความเชื่อถือของข้อมูลที่แชร์กันในเครือข่าย โดยให้ความสำคัญกับการแชร์และถกเถียงแนวคิดและข่าวสาร การสร้าง “ระบบนิเวศข่าว” ที่แข็งแรง โดยจะร่วมมือกับสำนักข่าวต่างๆ เพื่อพัฒนาเนื้อหาตามความต้องการของผู้บริโภค จึงนับเป็นเรื่องที่ดี

          ประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ใช้เฟซบุ๊ก สำนักข่าวต่างๆ ก็ได้ร่วมมือกันสอดส่องดูแลและพยายามหาวิธีจัดการ หลายคนทำ “รายการข่าวปลอม” พร้อมคำอธิบายว่าปลอมอย่างไร เชิญชวนให้คนอื่นช่วยกันอัพเดทและแชร์รายการ แต่การแชร์การส่งต่อข่าวปลอมก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

          ในปี 2560 นี้ น่าจะถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องออกมาตรการจัดการปัญหาเรื่องนี้แบบเอาจริงเอาจัง เช่นอาจจะจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยตรงและบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อย่างเข้มข้น เพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมไทยเดินหน้าต่อไปด้วยความมั่นคงและราบรื่นตามที่รัฐตั้งเป้าหมายไว้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ