ข่าว

อุปสรรค 5 ข้อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ เงินทองต้องรู้ โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected]

 

            “เงินทองต้องรู้” ฉบับวันนี้ตรงกับ “วันครู” ซึ่งตรงกับวันที่ 16 มกราคมของทุกปี แน่นอนว่า สิ่งแรกเมื่อพูดถึง “ครู” ก็ต้องนึกถึงบุญคุณครู เพราะไม่ว่าจะยากดีมีจน ร่ำรวยเป็นเศรษฐี มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี หรือยากจนข้นแค้นเป็นยาจก เราทุกคนก็ล้วนมี “ครู” กันทั้งนั้น แต่สิ่งแรกเมื่อพูดถึงเรื่องเงินทองของครูก็ต้องนึกถึง “หนี้สินของครู” ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าใจไม่น้อย

            “หนี้ครู” นั้น เป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ที่นายกรัฐมนตรี ไล่เรียงมาถึงรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องลงมาดูแล เพราะว่ากันว่า เป็นหนี้ก้อนใหญ่ (มาก) และมีความเกี่ยวพันกับครูจำนวนเกินครึ่งล้านคน

            "ทางแก้" ก็มีเพียงกู้หนี้ใหม่ (ที่ภาระน้อยกว่า ดอกเบี้ยต่ำกว่า) ไปใช้หนี้เก่า โดยใช้กลไกของรัฐอย่างธนาคารออมสินเป็นเครื่องมือหลัก แต่ลึกลงไปกว่านั้น คือ ครูจำนวนไม่น้อยไม่ได้ก่อหนี้ผ่านธนาคารออมสิน แต่ยังกู้ผ่านสหกรณ์ หรือแม้กระทั่งกู้นอกระบบ เมื่อหนี้พันกันจนรุงรัง ความช่วยเหลือจึงทำได้เพียง “บรรเทา” แต่ปัญหารากเหง้ายังคงอยู่

            เรื่องบางเรื่อง พอปล่อยให้เลยเถิดก็เกินกำลังจะแก้ไข ถึงมีคำพังเพยว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” แต่ส่วนใหญ่มักจะ “แย่แล้วแก้ไม่ทัน” เสียมากกว่า

            เรื่องเงินทอง เรื่องหนี้ เป็นเรื่องที่ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาได้ โดยต้องมีวินัย รู้จักอดทน อดกลั้นกับความอยากได้อยากมี เพราะมนุษย์นี่แค่เริ่มต้นว่า อยากได้อยากมี ก็ทุกข์ได้แล้ว แต่จะทำแบบนั้นได้อย่างไร จะต้องถึงกับเข้าวัด นั่งสมาธิ ฟังธรรมะ แล้วปล่อยวางความอยากขนาดนั้นเลยหรือไม่ คำแนะนำจากธนาคารไทยพาณิชย์ เรื่อง “5 เรื่องที่ทำให้วินัยการออม ขาดสะบั้น!” น่าจะพอชี้แนะนำทางให้ได้

            เริ่มต้นตั้งแต่ให้ถามตัวเองก่อนเลยว่า เคยเริ่มต้นออมมาแล้วกี่ครั้ง บางครั้งอาจจะไม่เคยออมเลย แต่บางคนนี่ขอบอกว่า “เริ่ม” ออมมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเลยสักครั้ง ตั้งใจจะออมให้ครบปี แต่ปรากฏว่า ผ่านไปไม่กี่เดือนก็เอาเงินออมมาใช้เสียแล้ว ตั้งใจซื้อกระปุกออมเงินแบบที่แงะไม่ได้ แคะไม่ได้ เปิดไม่ได้ หยอดเงินไปได้ไม่ถึงครึ่งกระปุก ก็ทุบเอาเงินออกมาใช้เสียอย่างนั้น หรือเริ่มต้นทำประกันออมทรัพย์ แต่พอผ่านไปแค่ 6 เดือนก็หยุดจ่ายเบี้ยประกัน ทำให้ไม่ได้รับผลตอบแทนตามเงื่อนไข

            คำถามคือ อะไรกันแน่ที่มีอิทธิพลกับเราจน “วินัย” ขาดสะบั้น ชนิดรักษาศีลไว้ไม่ได้เลยแม้แต่ข้อเดียว นี่แหละที่แบงก์ไทยพาณิชย์บอกไว้ว่า มีอยู่ 5 เรื่องหลักๆ

            หนึ่ง คือ มหกรรมลดราคาสินค้าแบบกระหน่ำ เป็นเหตุผลลำดับต้นๆ ที่ทำให้วินัยการออมสะบั้นลง ลองนึกภาพเวลาเราเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าช่วงที่แบรนด์ดังๆ กำลังลดราคา ตัวเลขลดลงเพียงแค่ 10-20% มีผลทำให้เกิดแรงดึงดูดแบบ 100% เต็มมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว คำแนะนำที่น่ารักมากสำหรับปัญหานี้ ก็คือ หลักเลี่ยงการเดินช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าช่วงลดราคากระหน่ำซัมเมอร์เซลส์ดู น่าจะช่วยรักษาเงินในกระเป๋าได้มากขึ้น

            ขออนุญาตเพิ่มเติมให้สำหรับบางคนที่เข้าข่าย “ช็อปปิ้งลิสซึ่ม” แบบขึ้นสมอง จะเซลส์หรือไม่เซลส์ ก็มีแรงดึงดูดอยู่เสมอ อาจจะต้องลองงดเดินห้างสรรพสินค้าสัก 3 เดือน 6 เดือน เอาแบบหักดิบกันไปเลย

            สอง คือ ซื้อของเงินผ่อน ข้อนี้บอกก่อนเลยว่า ส่วนตัวนั้นชอบมาก เพราะเรามักจะมองข้ามอันตรายของการซื้อของเงินผ่อน โดยคิดเข้าข้างตัวเองว่า เราได้ประโยชน์ เพราะเราได้ของที่ต้องการ เรามีความสามารถในการผ่อนชำระ และเผลอๆ ยังมีโปรโมชั่นดอกเบี้ย 0% อีกด้วย แต่เรามองข้ามกฎสำคัญ นั่นคือ ไม่ว่าจะใช้จ่ายอะไร ควรซื้อด้วยเงินสดเท่านั้น เพราะการซื้อเงินผ่อนนี่แหละที่จะทำให้วินัยในการออมหายไป เพราะแทนที่เราจะออมเงินในแต่ละเดือนอย่างมีวินัย เรากลับต้องเอาเงินจำนวนนี้ไปผ่อนชำระค่าสินค้าแทน คำแนะนำจากไทยพาณิชย์ คือ ให้เลือกทำบัตรเครดิตเพียงใบเดียว และใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

            ส่วนที่จะขอเพิ่มเติมให้ ก็คือ การซื้อของเงินผ่อน ทำให้เราไม่รู้ “อำนาจซื้อ” ที่แท้จริงของตัวเอง

            และนั่นอาจจะทำให้เราหลุดเข้าไปติดกับดักข้อที่สาม นั่นคือ ใช้จ่ายเกินตัว สัญญาณที่ทำให้รู้ว่า เราเดินทางมาถึงจุดนี้แล้ว คือ เงินเดือนแทบไม่พอใช้หรือใช้ได้แบบเดือนชนเดือน สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณวิกฤติทางการเงินที่ต้องกลับมาทบทวนตัวเองด่วน ซึ่งคำแนะนำก็คือ ให้เริ่มต้นจากการทำรายรับรายจ่ายประจำวัน หรือใช้แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ช่วยบันทึกค่าใช้จ่าย เช่น แอพพลิเคชั่น Spendee, Coinkeeper, Moneylove ฯลฯ เพราะการรู้รายรับรายจ่ายทุกวัน จะทำให้มีวินัยทางการเงินมากขึ้น และสามารถตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทิ้งได้ทันที ผลลัพธ์ก็คือมีเงินเก็บออมมากกว่าเดิม

            มาถึงข้อที่สี่ รายรับเท่าเดิม เพิ่มเติมคือรายจ่าย การมีทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรือรถยนต์ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การมีทรัพย์สินที่กระทบกับการออมก็เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนรับมือ ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจ “เพิ่มรายจ่าย” ของตัวเอง อาจจะต้องพิจารณาฝั่งรายรับ ถ้ารายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ไม่ส่งผลกับวินัยการออม เพราะรายรับยัง “เอาอยู่” ก็ไม่มีปัญหา แต่หากส่งผลกระทบ เราก็อาจจะต้องหาทางเพิ่มรายรับ เพื่อให้แผนการออมยังเป็นเหมือนเดิม หรือถ้าการเพิ่มรายได้ทำได้ยาก ก็อาจจะลดขนาดของเป้าหมายลง

            อุปสรรคข้อสุดท้าย คือ นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง ทำให้เริ่มต้นไม่ได้ ทางแก้ของปัญหานี้ ลองเริ่มต้นจากการทำรายรับรายจ่ายประจำวัน หรือใช้แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ช่วยบันทึกค่าใช้จ่าย เหมือนกรณีที่เรามีพฤติกรรมใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งวิธีนี้จะช่วยได้

            ลองพินิจพิเคราะห์ให้ดี จะพบว่าอุปสรรคทั้ง 5 ข้อ ล้วนแต่เป็นเรื่องภายในหรือเป็นเรื่องที่เกิดจากเราล้วนๆ จะขจัดให้หมดสิ้น ก็ต้องอาศัยแรงตัวเองทั้งนั้น

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ