ข่าว

ปี60‘จุดเปลี่ยน’ถึงเวลาลงมือปฏิรูปประเทศไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประเทศไทยจะต้องมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ รองรับกับการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของโลก

 

            สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจจัดสัมมนาใหญ่ประจำปี 2559 ในหัวข้อ “2560 จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ปาฐกถาพิเศษ โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้ร่วมเสวนา นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง, นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) โดยต่างย้ำถึงจุดเปลี่ยนที่ประเทศไทยจะต้องมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ รองรับกับการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ของโลก

 

ดันศก.ชุมชนเพิ่มสมดุล

            นายสมคิดกล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลดลงต่อเนื่อง สาเหตุเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง โดยเศรษฐกิจยังคงพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักถึง 70% กลายเป็นปัญหาโครงสร้างที่ไม่สมดุล ซึ่งการจะผลักดันให้ประเทศมีความมั่งคั่งได้จริง ท้องถิ่นต้องมีความแข็งแรงเพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นให้ได้

            “นั่นคือที่มาของนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ไม่ได้หมายถึงภาคอุตสาหกรรม แต่คือดุลยภาพการเติบโตของประเทศที่ต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ด้วยการสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งปีที่ผ่านมารัฐบาลได้วางแนวคิด วางรากฐาน ออกกฎหมาย และเตรียมเม็ดเงินงบประมาณไว้แล้ว ดังนั้น ในปี 2560 นี้ จึงเป็นปีแห่งการลงมือทำ และถือว่าจังหวะเหมาะมาถึงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองที่มีเสถียรภาพ ราคาสินค้าเกษตรเริ่มกระเตื้อง การส่งออกดีขึ้น การท่องเที่ยวพลิกฟื้น และตัวหลักสำคัญคือการขับเคลื่อนด้วยการลงทุนจากภาครัฐ ขณะเดียวกันก็ยังมีงบกลางปีไว้สำหรับหล่อเลี้ยง ซึ่งได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว”

            นายสมคิด กล่าวย้ำอีกว่า ปีนี้จะเป็นปีแห่งการลงมือทำ แต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันที่จะสร้างจุดเปลี่ยน โดยในปี 2560 นี้ มองจุดเปลี่ยนใน 4 เรื่อง คือ 1.Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนแปลง หากทำได้เร็วก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าที่แท้จริงของประเทศทั้งเศรษฐกิจและสังคม

            2.การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยเน้นไปที่โครงการรถไฟทางคู่ ถนน และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเป็นแหล่งบ่มเพาะการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และเป็นแหล่งสร้างสตาร์ทอัพใหม่ๆ 3.การพัฒนาด้านการเกษตร ซึ่งรัฐบาลจะเน้นให้เกิดสมาร์ทฟาร์มเมอร์ โดยรัฐบาลมีแนวคิดส่งเสริมให้แต่ละหมู่บ้านมีผู้นำ เป็นหัวขบวนทางความคิดในการเข้าสู่ตลาดอี-คอมเมิร์ซ

การเปลี่ยนแปลงที่ 4.คือการจัดสรรงบประมาณ จากไปนี้จะเน้นการจัดสรรงบประมาณที่จะเน้นเป็นโครงการ และกระจายงบประมาณตามจังหวัด ซึ่งจะให้แต่ละพื้นที่คิดยุทธศาสตร์การพัฒนา แทนคำสั่งการจากส่วนกลาง
 

กระตุ้นเอกชนลงทุนเพิ่ม

            ด้านนายสมชัยกล่าวว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาว่าจะมีเครื่องมือใดมาช่วยกระตุ้นให้เอกชนลงทุนเพิ่มได้อีก ซึ่งเอกชนต้องช่วยรัฐบาล เพราะถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการทางภาษี ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่เอกชน เพื่อจูงใจในการลงทุนเพิ่มนั้น ปีที่ผ่านมาพบว่าเอกชนยังไม่มีการลงทุน หรือลงทุนน้อยมาก และในปีนี้เอกชนขอขยายมาตรการออกไปอีก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไปแล้ว และคิดว่าตอนนี้น่าจะถึงจุดเปลี่ยนที่เอกชนจะต้องเข้ามาร่วมลงทุนได้แล้ว

            ทั้งนี้ นอกจากการลงทุนของภาคเอกชนที่จะช่วยทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของประเทศไทยแล้ว ในปีนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ไทยจะมีการจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ 10 อุตสาหกรรมที่ได้ใส่งบไว้ถึง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าจะมีส่วนช่วยในการดึงดูดอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลกให้เข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น และเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เอกชนไทยลงทุนตาม

            “ยืนยันว่าการคลังของประเทศไม่ถังแตก โดยปีนี้จะเป็นปีแห่งการปฏิรูป และปีแห่งการลงมือทำ ซึ่งกระทรวงการคลังพยายามอุดช่องโหว่ที่เป็นจุดอ่อนและอาจจะก่อให้เกิดวิกฤติการคลังได้ในอนาคต ที่ทำไปเรียบร้อยแล้ว คือ การปิดช่องโหว่ของการที่ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ และที่กำลังทำต่อในปีนี้ คือ การอุดช่องโหว่ของความไม่มีประสิทธิภาพขององค์กรส่วนท้องถิ่น” นายสมชัย กล่าว

 
3 จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย

            ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเริ่มพบการเปลี่ยนแปลง โดยนายเจนกล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยน เนื่องจากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น และไม่เฉพาะเทคโนโลยีของสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสภาอุตฯ เองได้ปรับตัวไปบ้าง มีการนำ IOT เข้ามาใช้ เป็นอินดัสทรี 4.0 ที่หมายถึงการนำดิจิทัลมาตอบสนองโจทย์ในภาคอุตสาหกรรม

            ด้านนายศุภวุฒิให้ความเห็นว่า จุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจไทยมี 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.การเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นในปลายปีนี้ ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า แต่ก็เห็นการเปลี่ยนแปลง ควบคู่ไปกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะออกมาให้ได้ภายในกลางปีนี้ ซึ่งแผนดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ช่วยลดความเป็นห่วงในเรื่องความไม่แน่นอน แต่การออกกฎหมาย หากไม่มีความยืดหยุ่นก็จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจการลงทุนได้ ดังนั้นแผนยุทธศาสตร์จะต้องมีความเหมาะสมพอดี จึงน่าสนใจว่าแผนจะออกมาอย่างไร

            จุดเปลี่ยนที่ 2 คือ การเข้าสู่ยุคใหม่ของประเทศไทย ยุคสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคนวัยทำงานลดจำนวนลง ดังนั้นการลงทุนโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการใช้แรงงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นและควรทำในช่วงนี้ ส่วนจุดเปลี่ยนที่ 3 คือ การเปลี่ยนแปลงสภาวะการของโลก ที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในคือ อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยมองว่าธนาคารกลางสหรัฐน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ตามที่บอกไว้ เนื่องจากพบว่าการจ้างงานสูงขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวดี เงินเฟ้อสูงขึ้น เงินเดือนดีขึ้น ด้านยุโรป ลดการใช้มาตรการคิวอียังจะเหลือญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวที่ใช้มาตรการดังกล่าวอยู่

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ