ข่าว

อยากรายได้สูง ต้องทำอย่างไร?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ เล่าสู่กันฟัง โดย...บัญญัติ คำนูณวัฒน์

 

          วันนี้การขาดแคลนแรงงาน เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่นักลงทุนต่างกังวล เพราะค่านิยมในการส่งลูกหลานเรียนในระดับปริญญาตรีมากกว่าที่จะให้เรียนอาชีวะในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ช่างฝีมือกลายเป็นแรงงานหายาก การจะขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพลิกบทบาทของอาชีวศึกษาไทยให้เป็นพลังหนุนที่สำคัญของภาคธุรกิจ

          การเห็นชอบหลักการในการกำหนดค่าจ้างแรงงานตามมาตรฐานฝีมือ 55 อาชีพ ตามที่กระทรวงแรงงานนำเสนอของคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ผ่านมาจึงเป็นของขวัญปีใหม่ ที่ดีต่อใจทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างในกลุ่มวิชาชีพเป็นอย่าง เพราะนอกจากจะช่วยยกระดับฝีมือให้แก่แรงงานไทยแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนไทยหันมาสนใจศึกษาต่อในสายอาชีพมากยิ่งขึ้น

          เพราะเมื่อดูในรายละเอียดที่ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจงไว้จะเห็นว่าน่าสนใจทีเดียว เนื่องจากไม่ได้ปรับเฉพาะค่าจ้างเพรียวๆ แต่เน้นการพัฒนาทักษะความสามารถควบคู่กันไปด้วย เรียกว่า ยิ่งพัฒนาตัวเอง ค่าจ้างยิ่งสูง

          การกำหนดค่าจ้างแรงงานตามมาตรฐานฝีมือในครั้งนี้เป็นไปตามมติคณะกรรมการไตรภาคี ที่วางกรอบไว้ครอบคลุม 3 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย กลุ่มจักรกลและโลหะการ กลุ่มเครื่องปรับอากาศ และกลุ่มแม่พิมพ์

          ใน 3 กลุ่มนี้จะแบ่งแรงงานออกเป็น 2 ระดับ คือ มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 นั่นหมายถึงทุกคนต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานแรงงานตามหลักสูตรที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดขึ้น และต้องเป็นผู้มีอายุมากกว่า 18 ปี มีประสบการณ์ทำงาน การประกอบอาชีพตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าประกาศนียบัตรวิชาชีพ กลุ่มนี้ในวิชาชีพช่างเครื่องกล จะได้รับค่าจ้าง 460 บาท ช่างเชื่อมเทคนิค 500 บาท ช่างเทคนิคระบบไฮโดรลิก 460 บาท ช่างขัดเงาแม่พิมพ์ 380 บาท ช่างห้องเย็น 385 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำปกติที่อยู่ที่ 310 บาทในกทม.และปริมณฑล

          และมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 2 จะเป็นกลุ่มช่างฝีมือผู้ได้รับการทดสอบเพิ่มพูนประสบการณ์เป็นเวลา 1-2 ปี ในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ได้รับใบหนังสือรับรองในระดับที่ 1 และต้องได้รับคะแนนรวมการทดสอบในระดับ 1 ไม่ต่ำกว่า 80% จะได้ปรับค่าจ้างขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เช่น กลุ่มช่างเทคนิคเครื่องกล ช่างเทคนิคไฮโดรลิก ค่าจ้างจะอยู่ที่ 550 บาท ช่างแอร์ขนาดใหญ่ 470 บาท ช่างประกอบแอร์ 455 บาท ช่างเครื่องกัดอัตโนมัติ 540 บาทต่อวัน โดยอัตราค่าจ้างใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

          การปรับค่าจ้างแรงงานในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่มุ่งเน้นให้คนทำงานได้มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีรายได้สูงขึ้นอย่างน่าติดตาม ซึ่งในอนาคตหากเยาวชนไทยมีการพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่องและจริงจัง ช่างฝีมือไทยก็เก่งไม่แพ้เพื่อนบ้านทุกประเทศได้ไม่ยากเย็นอะไรเลย ต่อไปเด็กอาชีวศึกษา ก็จะเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญของประเทศ เป็นกลไกขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจทัดเทียมระดับสากลได้อย่างมีคุณภาพ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ