ข่าว

รวมมาตรการ 4 แบงก์รัฐช่วยชาวใต้ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ธนาคารรัฐ4แห่ง ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ ทั้งลดภาระดอกเบี้ยและเงินงวด พักหนี้ สินเชื่อใช้จ่ายตามจำเป็น สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อการฟื้นฟูSME

          ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เตรียมวงเงิน 500 ล้านบาท จัดทำโครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560 ประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ได้รับผลกระทบ ธนาคารจะลดภาระดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 3 เดือนแรก เดือนที่ 4-12 อัตราดอกเบี้ย  MRR-2.50% ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.00% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.75% ต่อปี) 
          มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่อาคารหรือบ้านได้รับความเสียหายสามารถขอกู้เพิ่ม หรือ กู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี หลังจากนั้น กรณีลูกค้าสวัสดิการ คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี ส่วนลูกค้ารายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี 
          สำหรับวงเงินให้กู้ต่อราย ธนาคารกำหนดไว้ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกัน โดยคุณสมบัติของผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการดังกล่าว จะต้องเป็นลูกหนี้เดิมของ ธอส. หรือลูกค้าใหม่ ซึ่งที่อยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือคู่สมรส และได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย โดยสามารถติดต่อได้ที่สาขาของธนาคารอาคารสงเคราะห์ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2560 เป็นต้นไป 

          ธนาคารออมสิน ออกมาตรการด้านสินเชื่อใช้จ่ายตามความจำเป็น ภายใต้เงื่อนไขผ่อนปรน คือ “สินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน” โดยให้สิทธิ์กู้ตามความจำเป็นในวงเงินครอบครัวละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี ไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี (ดอกเบี้ย 0% ในปีแรก) หลังจากนั้น ปีที่ 2-5 คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน โดยสามารถติดต่อได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขาที่อยู่ในพื้นที่ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยจะต้องทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560
          ทั้งนี้ ธนาคารฯ ได้กำหนดเงื่อนไขการค้ำประกัน ซึ่งสามารถใช้หลักประกันได้ 3 แบบ คือ ใช้บุคคลค้ำประกัน หรือใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น สลากออมสิน สมุดเงินฝากธนาคารออมสิน เป็นต้น หรือใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันตามเงื่อนไขที่กำหนด
          นอกจากนี้ ยังบรรเทาภาระลูกค้าสินเชื่อทุกประเภทที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ด้วย ซึ่งสามารถพักชำระหนี้เงินต้นไม่เกิน 2-3 ปี หรือชำระเงินต้นบางส่วนไม่เกิน 2 ปี โดยระหว่างพักชำระเงินต้น ให้ชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยปกติ 100% หรือชำระดอกเบี้ยปกติไม่น้อยกว่า 50% ทั้งนี้การขยายระยะเวลาเท่ากับระยะเวลาพักชำระเงินต้น หรือไม่เกิน 2 เท่า ของระยะเวลาคงเหลือตามสัญญากู้หรือสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ต้องไม่เกิน 20 ปี

          ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกมาตรการเพื่อเยียวยาเกษตรกรลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ โดยการพักชำระหนี้ต้นเงินเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 1 ปี และงดคิดดอกเบี้ยปรับ 

          ล่าสุด ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ลูกค้าธนาคาร คือ 1. มาตรการพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 6 เดือน 
          2.มาตรการการให้วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ วงเงินต่อรายสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace period) ไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน MLR ตลอดอายุสัญญา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว ลูกค้าสามารถนำวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินนี้เป็นเงินทุนเพื่อการปรับปรุง ฟื้นฟู ซ่อมแซม และเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ ให้กิจการมีศักยภาพและมีแนวโน้มที่จะดำเนินการต่อไปได้ 


    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ