ข่าว

จากอุตฯอาหารปลายน้ำ สู่ปลายทาง4.0

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

 

          ปัจจุบันการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศให้ความสนใจอย่างมาก ซึ่งธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้มีการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งในส่วนธุรกิจอาหารก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องปรับตัวรองรับการก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยเช่นกัน

          ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ธุรกิจอาหารในอุตสาหกรรมปลายน้ำมีศักยภาพในการปรับตัวเพื่อรองรับกับการก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 มากกว่าผู้เล่นในระดับต้นน้ำและกลางน้ำ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากกว่า ทำให้เข้าใจความต้องการและสามารถนำเสนอสินค้าและบริการในรูปแบบที่แตกต่างและตอบโจทย์ได้มากขึ้น ซึ่งในอนาคตโมเดลธุรกิจแบบนี้มีแนวโน้มที่จะสร้างพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีความเฉพาะเจาะจงและหลากหลายมากขึ้น ขณะที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้ผู้เล่นอื่นๆ ในอุตสาหกรรมอาหารทั้งห่วงโซ่อุปทานจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถพัฒนาศักยภาพ และก้าวข้ามขีดจำกัดของธุรกิจ

          แม้ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่จะสามารถผลิตสินค้าจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ตาม แต่เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นอยู่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการที่ยังไม่สามารถก้าวข้ามได้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจทั่วโลกต่างหันมาให้ความสนใจกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างมาก เนื่องจากจุดเปลี่ยนสำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้ คือ การนำเอาเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลมาปรับใช้ เพื่อช่วยให้การส่งผ่านข้อมูลระหว่างผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทานทำได้รวดเร็ว และสะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ดี การปรับใช้ไม่ได้หยุดอยู่เฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงขั้นตอนการจัดหาวัตถุดิบเรื่อยไปจนถึงการส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคขั้นสุดท้าย

 

จากอุตฯอาหารปลายน้ำ สู่ปลายทาง4.0

 

          การใช้ประโยชน์จาก Big Data คือหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในยุค 4.0 ตัวอย่างที่น่าสนใจคือการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เก็บจากบัตรเครดิต หรือบัตรสมาชิกของร้านค้าปลีกต่างๆ ซึ่งภาคธุรกิจสามารถนำข้อมูลดังกล่าวนี้มาประมวลผลเพื่อวิเคราะห์หารูปแบบและพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าแต่ละกลุ่มหรือช่วงอายุได้ ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลเหล่านี้ยังสามารถนำมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความแตกต่างของสินค้าและบริการ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้อีกด้วย

          อุตสาหกรรมอาหารปลายน้ำเป็นจุดที่มีความได้เปรียบสูงที่สุด เนื่องจากมีความใกล้ชิดและได้รับข้อมูลจากผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์ต่อยอดร่วมกับการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้ได้สินค้า และบริการที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้น

          ร้านค้าปลีกสมัยใหม่คือหนึ่งในธุรกิจปลายน้ำของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งปัจจุบันผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดโลก อย่าง Amazon, Tesco และ Wal-Mart หรือแม้แต่ในไทยอย่าง Big-C, Central Online และ Tops ต่างให้ความสำคัญกับการให้บริการหน้าร้านออนไลน์มากขึ้นกว่าในอดีต เนื่องจากการลงทุนนั้นต่ำกว่าการขยายสาขาค่อนข้างมาก อีกทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ของผู้บริโภคด้วย จึงเป็นที่มาของการเริ่มพัฒนาการให้บริการที่มีความแตกต่างหรือมีคุณภาพที่ดีขึ้น

 

จากอุตฯอาหารปลายน้ำ สู่ปลายทาง4.0

 

          ทั้งนี้ โมเดลธุรกิจอาหารใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมปลายน้ำรวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ธุรกิจต้นน้ำ และกลางน้ำต้องปรับตัว  ตัวอย่างเช่น การพลิกโฉมธุรกิจอาหารในอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ในครัว อย่าง Moley Robotics ที่สามารถทำอาหารได้ตามที่ผู้บริโภคต้องการผ่านทางหน้าจอประมวลผลที่แสดงให้เห็นถึงหน้าตาอาหาร และโภชนาการที่จะได้รับผ่านการอัพโหลดสูตรอาหาร วิธีการทำ หรือแม้แต่เรียนรู้การทำอาหารที่จำเพาะเจาะจงของผู้บริโภคแต่ละคนผ่านการลอกเลียนแบบพฤติกรรมการทำอาหารของผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้เล่นระดับกลางน้ำ เช่น ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ส่วนประกอบอาหารหรือเครื่องปรุงรสต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัว โดยนำชิพข้อมูลที่สามารถสื่อสารกับปัญญาประดิษฐ์นี้

          อย่างไรก็ดี การเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ของอุตสาหกรรมอาหารนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และการผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมกับอัตลักษณ์รสชาติอาหารไทยสู่สินค้าและบริการ เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารมีความสลับซับซ้อนกว่าอุตสาหกรรมอื่นในหลายๆ ด้าน ทั้งรูปแบบสินค้า การนำเสนอ หรือแม้แต่การให้บริการที่แตกต่างกัน ดังนั้น ความคิดสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรมย่อมไม่ได้หมายถึงแค่ตัวสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงรูปแบบการนำเสนอที่ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในการบริโภค เช่น การนำเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติ เข้ามาทดแทนแรงงานฝีมือที่ทำหน้าที่แกะสลักอาหาร ซึ่งต้องใช้เวลาและความประณีตบรรจงอย่างมาก เพื่อให้ใช้เวลาในการผลิตต่อชิ้นงานที่สั้นลง มีความสม่ำเสมอของคุณภาพมากขึ้น ก่อนส่งต่อให้เชฟปรุงรสชาติอาหารและตกแต่งเพิ่มเติมก่อนเสิร์ฟให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งการลงทุนเพื่อสร้างธุรกิจอัจฉริยะเหล่านี้เป็นเรื่องที่จำเป็น และไม่อาจมองข้ามได้ในยุค 4.0 เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว

 

จากอุตฯอาหารปลายน้ำ สู่ปลายทาง4.0

 

          อีไอซีมองว่า ผู้เล่นในอุตสาหกรรมอาหารทั้งห่วงโซ่อุปทานควรร่วมมือกันสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อม และสร้างความแข็งแกร่งสำหรับการแข่งขันในยุค 4.0 โดยผู้เล่นในธุรกิจอาหารปลายน้ำควรเริ่มมีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้บริโภคอย่างเป็นระบบ รวมถึงต้องเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นร่วมกันกับผู้เล่นอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทาน เช่น ข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคที่ได้รับแบบเรียลไทม์จากร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ช่วยให้บริษัทผู้ผลิตอาหารสามารถวางแผนการผลิตได้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น 

          ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการผลิตอาหารที่มีประสิทธิภาพดังกล่าวยังช่วยเอื้อให้การบริหารร้านค้าปลีก ซึ่งต้องการความต่อเนื่องของการจัดส่งสินค้าได้รับประโยชน์ตามไปด้วย ดังนั้น การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้เล่นทุกระดับในห่วงโซ่อุปทานและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ