ข่าว

ของขวัญกล่องที่ 5

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ เงินทองต้องรู้ โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected]

 

          ผ่านปีใหม่มาแล้ว 1 สัปดาห์เต็มๆ สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์เริ่มต้นการทำงานและทุกสิ่งอย่างในปี 2560 อย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่ได้หยุดพักผ่อนในช่วงวันหยุดปีใหม่อย่างเต็มที่ ซึ่งหนึ่งในภารกิจที่เหมือนๆ กันของหลายคนในช่วงวันหยุดยาว โดยเฉพาะวันปีใหม่ ก็คือ จัดบ้านใหม่ ทำความสะอาดบ้านให้สดใส รวมทั้งรื้อ-โละข้าวของไม่จำเป็น

          ภารกิจจัดบ้านใหม่ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ทำให้ค้นพบ “ของขวัญ 4 กล่อง” ที่ซุกตัวอยู่ในวารสารพระสยาม ของธนาคารแห่งประเทศไทย จริงๆ ได้รับหนังสือเล่มนี้มา 1 ปีเต็มแล้ว จากปีใหม่ 2559 ถึงปีใหม่ 2560 แต่ที่ตกหล่นไป เพราะได้รับมาพร้อมๆ กับเอกสารประกอบงานสัมมนาวิชาการ พอมีเวลาจัดโน่นนี่นั่นให้เข้าที่ ถึงเปิดเจอ “ของขวัญ 4 กล่อง” รับปีใหม่ ที่นำมาฝากผู้อ่านเงินทองต้องรู้ในสัปดาห์ที่สองของปีก็ถือว่า ยังไม่สาย

          ของขวัญทั้ง 4 กล่องนั้น แบ่งเป็นกล่องใหญ่ 1 กล่อง และกล่องเล็กอีก 3 กล่อง เป็นของขวัญจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ที่ส่งต่อให้กับทุกคน เพื่อสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้แก่ตัวเองรับปีใหม่

          เริ่มจากของขวัญกล่องใหญ่ เป็นแพ็กเกจตรวจสุขภาพการเงิน ที่เขาแนะนำว่า ลำดับแรกที่ควรทำในปีใหม่นี้ ก็คือ ควรค้นหาสถานะการเงินของตัวเองให้พบว่า ณ ตอนนี้เป็นอย่างไรด้วยการสำรวจอย่างน้อย 3 เรื่อง ได้แก่ สำรวจความมั่งคั่งสุทธิ คำนวณจากการนำมูลค่าสินทรัพย์หักออกด้วยหนี้สิน ได้เท่าไหร่แล้วนำมาเปรียบเทียบกับความมั่งคั่งสุทธิที่เราควรมี ณ วันนี้ ซึ่งเท่ากับ อายุ คูณด้วย รายได้ต่อปี คูณด้วย 10% หากพบว่าความมั่งคั่งอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรก็ต้องรีบหาทางเพิ่มโดยเร็ว

          เรื่องที่สอง สำรวจภาระหนี้สินต่อเดือน โดยที่ภาระการผ่อนชำระหนี้ทั้งหมดต่อเดือนไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน หากเกินกว่านั้นจะส่งผลกระทบต่อการออมเงินและการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และสุดท้าย สำรวจเงินออมเผื่อฉุกเฉิน ลองสำรวจดูว่าเรามีเงินเผื่อฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 6 เท่าของรายจ่ายประจำแล้วหรือยัง หากยัง ควรตั้งใจออมเงินส่วนนี้อย่างจริงจัง เพื่อสามารถเอาตัวรอดในยามฉุกเฉิน ไม่ว่าจะประสบอุบัติเหตุหรือตกงาน

          หลังจากเปิดของขวัญกล่องใหญ่แล้ว ลองเปิดของขวัญกล่องเล็กดูบ้าง ของขวัญกล่องเล็กชิ้นที่ 1 นั่นคือ ทักษะด้านการเงิน สิ่งที่ควรทำก็คือ ควรศึกษาหาความรู้เรื่องการเงินเพิ่มเติมในเรื่องการวางแผนการเงิน การบริหารจัดการหนี้ สิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้บริการทางการเงิน การลงทุน รวมทั้งความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภัยทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้เราได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากเงินของเราเอง และสามารถปกป้องตัวเองจากการถูกเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งช่วยให้ผลตรวจสุขภาพทางการเงินของเราดีขึ้นในอนาคต

          เรื่องนี้ เขาบอกว่า อย่ายึดติดแค่ว่า การเรียนรู้จะต้องเป็นการเรียนการสอนในห้องเรียนเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมงานสัมมนา หรือการชมสื่อที่ให้ความรู้ทางการเงินทางอินเทอร์เน็ตที่จัดหรือผลิตโดยหน่วยงานที่มีความเป็นกลางหรือน่าเชื่อถือได้ (ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ ที่ย้ำว่า “ต้องน่าเชื่อถือ”) ก็ถือเป็นการเพิ่มพูนทักษะด้านการเงินได้ทั้งนั้น

          มาถึง ของขวัญกล่องเล็กชิ้นที่ 2 นั่นคือ เงินออม ใครยังไม่มีเงินออมเลยก็สามารถใช้โอกาสขึ้นปีใหม่นี้เริ่มเก็บออมเงินเสียที เริ่มจากการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย โดยในส่วนของรายจ่ายนั้นให้แยกเป็นรายจ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ และรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น เสื้อผ้าชุดใหม่ โดยกรณีที่เรามีเสื้อผ้าเยอะอยู่แล้ว จากนั้นให้หาทางลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง เพื่อนำมาเป็นเงินออม ในขณะเดียวกัน เราอาจหาทางเพิ่มรายได้ด้วยการทำงานเสริมตามที่ชอบและถนัด ซึ่งเงินออมที่ควรเก็บให้ได้เป็นก้อนแรก คือ เงินออมเผื่อฉุกเฉิน แล้วขยายวงเงินออมเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ต่อไป หรือถ้าไหวก็อาจจะแบ่งเงินเดือนเก็บออมหลายๆ วัตถุประสงค์พร้อมๆ กันก็ได้ เช่น ออมเพื่อเกษียณ ออมเพื่อท่องเที่ยว หรือเพื่อการศึกษา

          ส่วนการเก็บรักษาเงินออมที่ง่ายที่สุด คือ การฝากไว้กับธนาคาร เช่น บัญชีเงินฝากประจำรายเดือนปลอดภาษีหากต้องการสร้างวินัยทางการเงิน หรือบัญชีเงินฝากประจำหากมีเงินก้อนที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ต้องไม่ลืมว่า เรามีสมุดบัญชีทั้งหมดกี่เล่ม เพื่อที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึง

          ขณะที่ ของขวัญกล่องเล็กชิ้นที่ 3 คือ สินทรัพย์ทางการเงิน เพื่อที่จะสร้างความมั่นคงและมั่งคั่ง สำหรับคนที่มีเงินออมพอสมควรแล้ว อาจต่อยอดเงินออมด้วยการนำเงินไปซื้อตราสารทางการเงินประเภทต่างๆ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและเสริมสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งทางการเงิน โดยควรเลือกตราสารที่มีระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ เช่น เลือกถือพันธบัตรหากรับความเสี่ยงได้น้อย ส่วนคนที่รับความเสี่ยงได้มากมักจะถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ หรือกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น แต่เราจะต้องทำแบบประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนก่อนจึงจะสามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมได้
ทั้งหมดนี้เป็นของขวัญ 4 กล่อง ที่จะสร้างความสุขให้แก่ชีวิตในอนาคตได้เสถียรยิ่งกว่าของขวัญชิ้นไหนๆ

          ส่วน ของขวัญกล่องที่ 5 ถือว่า ส่งให้เป็นกำลังใจสำหรับคนที่รู้สึกว่า เราไม่เก่ง ไม่ฉลาด เราถึงไม่รวยเสียที ของขวัญชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่เขียนถึงงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล “เจมส์ เฮกแมน” ที่ค้นหาความสัมพันธ์ของความเก่ง-ฉลาดกับความร่ำรวย ซึ่งโดยสรุปแล้ว นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนนี้ ค้นพบว่าระดับของไอคิวหรือความฉลาดหรือความมีปัญญานั้น มีส่วนทำให้ร่ำรวยเพียงแค่ 1-2% เท่านั้น สติปัญญาที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

          ปัจจัยหลักที่ทำให้ประสบความสำเร็จแท้ที่จริง คือ บุคลิกภาพที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมา เป็นเรื่องของความสำนึกผิดชอบชั่วดี ความเอาใจใส่ ความพยายามมุมานะ รวมถึงความมีวินัย ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ถูกสร้างขึ้นภายหลัง

          นั่นหมายความว่า ใครๆ ก็มีของขวัญกล่องที่ 5 หมายถึงความร่ำรวย หรือประสบความสำเร็จทางการเงินได้ โดยไม่จำเป็นต้องฉลาด เรียนเก่งหรือมีสติปัญญาหลักแหลม แต่ต้องมีความมุ่งมั่น มีวินัยและตั้งใจจริง (จริงๆ)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ