ข่าว

เศรษฐกิจไทยปีไก่ทั้งสดใสและท้าทาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เศรษฐกิจไทยปี 2559 ที่ผ่านมามา แม้ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและปัจจัยเสี่ยงในหลายๆ ด้าน แต่โค้งสุดท้ายก็ดูเหมือนจะเห็นสัญญาณดีขึ้น

 

            เศรษฐกิจไทยในปี 2559 ที่ผ่านมาพ้นมา แม้ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและปัจจัยเสี่ยงในหลายๆ ด้าน แต่โค้งสุดท้ายก็ดูเหมือนจะเห็นสัญญาณดีขึ้น ทำให้หลายสำนักทางด้านเศรษฐกิจขยับปรับเพิ่มอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขึ้นมากันเป็นทิวแถว โดยเฉลี่ยแล้วคาดการณ์กันว่าน่าจะเติบโตอยู่ในระดับ 3.2-3.3% ถือว่าเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งปัจจัยหนุนสำคัญมาจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกในไตรมาสสุดท้ายก็ตีตื้นขึ้นมา โดยเฉพาะตัวเลขเดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนปรับตัวเลขกันใหม่อีกรอบที่คาดว่าจะติดลบก็มาลุ้นให้เป็นบวก และหวังจะเป็นแรงส่งจนถึงปี 2560

            อย่างไรก็ตาม หากมองถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ต้องบอกว่ายังมีอยู่ไม่น้อย โดยปัจจัยเสี่ยงหลักยังคงมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ายังมีความเปราะบาง และความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ-การเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ที่จะส่งผลให้ทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้น ส่วนในประเทศต้องจับตาการลงทุนภาคเอกชนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และโครงการลงทุนของรัฐว่าจะสะดุดมีความล่าช้าหรือไม่ รวมทั้งภาครัฐจะมีมาตรการพิเศษออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด

            ทั้งนี้ ในส่วนของภาครัฐตั้งเป้าหมายการเติบโตของจีดีพีปี 2560 ไว้ที่ 3.5-4% โดยหวังว่านโยบายการลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะทยอยออกมา ตลอดจนการส่งออกที่มีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น จะเป็นแรงผลักดันสำคัญอีกหนึ่งแรง

            "การส่งออกที่ดีขึ้นถือเป็นข่าวดี ว่าแรงกระตุ้นเศรษฐกิจไทยมาจากภาคส่งออกในบางส่วน ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อนอีกแรงหนึ่งในช่วงต่อไป ถ้าเกิดถามผม ผมคิดว่าถ้าตัวเลขมีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวคงไม่ดีใจเท่านี้ แต่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคก็ขยายตัวเช่นกัน สะท้อนว่าตลาดส่งออกโลกอยู่ในช่วงปรับตัวดีขึ้น ก็หวังว่าแนวโน้มเดินหน้าต่อไปในช่วงเดือนธันวาคมและส่งผลต่อเนื่องไปถึงปีหน้า” นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุ

            ด้านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ว่าในปี 2560 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้สูงถึง 3-4% โดยการส่งออกจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 2.4% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของการผลิตในภาคการเกษตรก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายในภาคครัวเรือน ส่วนการลงทุนภาครัฐและการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักด้วยเช่นกัน

 

จับตานโยบายการค้า-ลงทุนโลก

            นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีโอกาสขยายตัวมากกว่า 3.2% จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดการณ์ไว้ โดยได้แรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยด้วย แต่ยังต้องติดตามนโยบายการเงินและนโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ด้วยว่าจะส่งผลกระทบอย่างไร ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐหากสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าเป้าหมายก็จะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเช่นกัน ส่วนราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำในปีนี้น่าจะฟื้นตัวดีขึ้น

            “ภาพทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2560 ยังมีความผันผวนอยู่ แต่จะมาจากปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่ โดยต้องติดตามนโยบายการค้า การลงทุนของประธานาธิบดีสหรัฐอย่างใกล้ชิด แต่หากดูในประเทศจากการที่รัฐบาลต้องการเห็นไทยเติบโตเต็มศักยภาพใน 1-2 ปีข้างหน้าก็เป็นไปได้ที่จีดีพีไทยจะขยายตัวสูงถึง 4-5%” นายวิรไท กล่าว

            ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชนยังแสดงความเป็นห่วงถึงปัจจัยเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในปี 2560 อยู่ไม่น้อย โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะนโยบายของผู้นำสหรัฐคนใหม่ทั้งด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่สถานการณ์การเมืองในกลุ่มประเทศยุโรปก็ต้องจับตามอง

            “แต่ยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จากแรงขับเคลื่อนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะทำให้เอกชนมีความเชื่อมั่นและลงทุนตาม ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวต่อเนื่อง การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ก็จะสนับสนุนสินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเติบโตดีขึ้นและมีโอกาสทำให้การส่งออกโดยรวมกลับมาเป็นบวก”

            ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า ในปีนี้แม้เศรษฐกิจในประเทศจะฟื้นตัวได้บ้างจากการบริโภค แต่ก็ไม่อาจชดเชยแรงกดดันจากภายนอกประเทศไทย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงมาก จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 3.5% เหลือเติบโต 3.2%

            “หากจะเปรียบเศรษฐกิจไทยปี 2560 ที่อาจเผชิญทั้งความสดใสและความท้าทายก็อาจเปรียบเหมือนสายรุ้งที่มีสีทั้งด้านอึมครึม และด้านสดใสจากสีม่วงไปจนถึงสีแดง ซึ่งเราต้องพร้อมรับมือกับปีไก่สายรุ้งนี้ให้ดี” นายอมรเทพ กล่าว

 

หลายปัจจัยยังน่าเป็นห่วง-แนะปรับตัว

            พร้อมระบุว่า ปัจจัยท้าทายแรกของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 คือ การส่งออกของไทย ที่มีสัดส่วนถึง 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ยังมีความเสี่ยงติดลบติดต่อกันเป็นปีที่ 5 แม้ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีของสหรัฐ จะไม่ได้มีมาตรการกีดกันทางการค้าโดยตรงกับไทย ยังทำให้การส่งออกไปสหรัฐยังเติบโตต่อเนื่องตามเศรษฐกิจสหรัฐที่จะเร่งตัวได้ดี เพียงแต่ต้องจับตาสินค้าส่งออกที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน หรือเป็นสินค้าบริโภคที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ เพราะสหรัฐมีทีท่าที่จะกีดกันทางการค้ากับจีน ซึ่งอาจทำให้การส่งออกสินค้าของไทยไปยังจีนและอาเซียนโดยรวมอาจจะชะลอได้ แต่อาจได้การส่งออกไปยังกลุ่มซีแอลเอ็มวี ทั้งกัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์ และเวียดนาม มาช่วยประคับประคองให้การติดลบไม่รุนแรงมากนัก

            ปัจจัยต่อมาคือการลงทุนภาคเอกชน ที่ยังคงน่าเป็นห่วง ซึ่งการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัวมาต่อเนื่องถึง 3 ปีซ้อน (ปี 2556-58) ขณะที่ปี 2559 ยังมีความเสี่ยงที่การลงทุนเอกชนอาจติดลบในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ได้และอาจจะยังแผ่วลงต่อเนื่องถึงปีนี้ เพราะปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เอกชนไทยหยุดลงทุนมาเป็นเวลานาน กำลังการผลิตยังเหลือ ดังนั้น ภาคเอกชนยังไม่ฟื้นจากความเชื่อมั่นต่อทั้งเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ก็อาจนำไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งก็เป็นปัญหาเดิมๆ ของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงมีการปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ คือเริ่มจากการปรับโครงสร้างด้วยการใช้นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ 4.0 ที่จะส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต

            ขณะที่เศรษฐกิจภูมิภาคส่งสัญญาณขยายตัวได้ต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 เป็นต้นมา นำโดยภาคตะวันออกและภาคใต้ ตามแรงขับเคลื่อนของการบริโภคสินค้าและบริการ โดยเฉพาะสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย และรายได้จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยให้เศรษฐกิจภูมิภาคยังคงเติบโต แต่ที่ยังน่าเป็นห่วงคือครัวเรือนระดับล่างและธุรกิจเอสเอ็มอี ที่กำลังซื้อคงไม่ได้ขยับขึ้นมากนัก เพราะหนี้ครัวเรือนยังสูง กดดันการบริโภคไม่ให้เร่งตัวได้ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภาครัฐจะออกมาตรการมากระตุ้นต่อเนื่อง

            ส่วนมุมมองจากหน่วยงานเศรษฐกิจจากต่างประเทศ อย่างธนาคารโลกได้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2559 น่าจะเติบโต 3.1% และเพิ่มขึ้นเป็น 3.2% ในปี 2560 จากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟรางคู่และการยกระดับระบบรางทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยดึงดูดเงินลงทุนจากภาคเอกชนและเสริมภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การส่งออกจะขยายตัวได้ 1% สูงกว่าปี 2559 ที่ขยายตัว 0.5% ผลบวกจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐกลับมาขยายตัว

            อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการเติบโตของจีดีพีในระดับ 3% สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น ถือเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรอยู่ในระดับ 4% จึงได้เสนอให้รัฐบาลปฏิรูปภาคบริการให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ภาคบริการของไทยมีการจ้างงานสูงถึง 40% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด แต่สร้างมูลค่าได้เพียง 50% ของจีดีพี ขณะที่เมื่อเทียบกับภาคการผลิตที่มีสัดส่วนการจ้างงานเพียง 15% แต่สามารถสร้างมูลค่าได้ถึง35%ของจีดีพี

            “หากประเทศไทยเริ่มปรับปรุงภาคบริการในทันที อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวเฉลี่ยได้ 4-5% และมีโอกาสหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เพราะสุดท้ายแล้วแม้ภาครัฐจะเร่งลงทุนมูลค่ามหาศาลแค่ไหน แต่ก็ยังต้องการลงทุนจากภาคเอกชนมาสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนกระจายสู่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น”

 

รัฐอัดเม็ดเงินลงทุนหลายแสนล้าน

            นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ข้อมูลว่าในปี 2560 จะมีเงินลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 3-4 แสนล้านบาท จากวงเงินลงทุนรวม 1.7 ล้านล้านบาท และในไตรมาสแรกของปีนี้จะมีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับกลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการทำงบประมาณกลางปีของปี 2560 เพิ่มเติมอีกกว่า 1.6 แสนล้านบาท คาดว่าเม็ดเงินจะเริ่มลงไปสู่จังหวัดต่างๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม 2560 จากปัจจัยการลงทุนของภาครัฐจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระดับ 3.3% อย่างแน่นอน

            ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวได้ 3.6% ดีขึ้นจากในปี 2559 ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.2% โดยมองว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 ปี 2560 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจะอัดฉีดเม็ดเงินราว 2 แสนล้านบาท ที่มีส่วนช่วยดันจีดีพีได้ประมาณ 1% (รวมอยู่ใน 3.6% แล้ว)

            พร้อมมองว่า ในไตรมาสแรกของปี 2560 เศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์ต่อเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นต่างๆ ที่รัฐบาลได้ทยอยออกมาในไตรมาส 4 ปี 2559 เช่น โครงการช็อปช่วยชาติ การโอนเงินเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เป็นต้น ขณะที่ช่วงครึ่งหลังของปี 2560 จะมีเม็ดเงินอีกราว 4 แสนล้านบาท เริ่มลงสู่โครงการด้านต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี), โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ, การค้าตามแนวชายแดน รวมทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งในส่วนของมอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ เป็นต้น

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ