ข่าว

ทิศทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เล่าสู่กันฟัง : โดย...บัญญัติ คำนูณวัฒน์


               บริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกมิติของการทำงาน ในทุกภาคส่วน แม้ว่าปัจจุบันภาครัฐทั่วโลกจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินภารกิจ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้บริการประชาชนได้ดีขึ้น รวมทั้งสามารถลดต้นทุนในการดำเนินงานเพื่อให้คุ้มค่ากับภาษีและเกิดความโปร่งใสในการทำงานมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า การยกระดับสู่รัฐบาลดิจิทัลเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับทุกประเทศ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย

               ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยน ใช้กรอบงบประมาณที่สูง และปัจจุบันยังไม่มีกฎระเบียบรองรับอย่างชัดเจน ที่สำคัญเป็นเรื่องที่เข้าใจยากและค่อนข้างไกลตัวจากการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน นอกจากนี้เรื่องนี้ยังมีผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) อยู่ในหลายภาคส่วนด้วยเช่นกัน

               ถ้าศึกษาจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนสู่รัฐบาลดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า ประเทศที่มีผู้นำที่มีความมุ่งมั่น มีวิสัยทัศน์ และเล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริงเท่านั้นที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ ยกตัวอย่าง ประเทศเกาหลี เริ่มวางรากฐานโครงการเชิงดิจิทัลตั้งแต่ปี 2539 และได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าที่ผ่านมาเกาหลีจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศหลายครั้ง แต่ภาครัฐก็ยังดำเนินงานได้ตามนโยบายและแผนปฏิบัติการที่วางไว้ในระยะยาว เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากผู้นำทุกคนที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่ง ส่งผลให้ดัชนี EGDI (e-Government Development Index) หรือการให้บริการของภาครัฐผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ของเกาหลีใต้ไต่ขึ้นจากอันดับ 13 ในปี พ.ศ.2546 มาเป็นอันดับ 1 ของโลก ในปี 2555 และยังคงรักษาอันดับสูงสุดมาจนถึงปีสำรวจล่าสุด

               สำหรับประเทศไทย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนเช่นกันว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า ภาครัฐไทยจะยกระดับสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน มีการดำเนินงานแบบอัจฉริยะ ให้บริการโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง โดยการยกระดับขีดความสามารถเชิงดิจิทัลของภาครัฐไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานขององค์ประกอบหลักสำคัญ 4 ประการ คือ การบูรณาการภาครัฐ การดำเนินงานแบบอัจฉริยะ การให้บริการโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลง

               ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่จุดนั้นได้ คณะทำงานได้ศึกษาและสรุปไว้ 5 ประการ ดังนี้ 1.การเตรียมความพร้อมคน ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนให้พร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต 2.ผู้นำบริหารการเปลี่ยนแปลงต้องเข้าใจและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและคอยให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง 3.แผนการดำเนินงานที่ขับเคลื่อนได้จริง โดยมีการระบุผู้รับผิดชอบหลักที่ชัดเจน มีการติดตามและมีชี้วัดความสำเร็จ 4.มีการติดตามการดำเนินโครงการอย่างจริงจัง และ 5.การสื่อสารและประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง มีและการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ โดยให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการผลักดันโครงการและมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน

 

 

-----------------------------

(เล่าสู่กันฟัง : ทิศทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล : โดย...บัญญัติ คำนูณวัฒน์)

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ