ข่าว

จะเลือกปลา หรือ เบ็ด?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ ขมน้ำตาลหวานบอระเพ็ด โดย...พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ

 

          ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ท่านทรงมีพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนชาวไทยอย่างมากมาย โดยมิได้ทรงรู้สึกเหน็ดเหนื่อยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทุรกันดารที่ต้องเดินทางด้วยความยากลำบากเพียงใด พระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปสร้างโครงการในพระราชดำริเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่นั้นได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการประกอบอาชีพสุจริต

          โครงการในพระราชดำริเหล่านั้นมิได้เป็นโครงการที่เพียงแต่บอกหรือส่งเสริมให้ประชาชนทำขึ้นมาเท่านั้น แต่เป็นโครงการที่พระองค์ทรงส่งเสริมทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มจนจบ นั่นจึงเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “พระราชาให้เบ็ด” อันมีความหมายว่าพระองค์ได้พระราชทานเครื่องมือสำหรับทำมาหากิน เพื่อประชาชนจะได้มีไว้ใช้ไปหาอาหารมากินไปตลอดชีวิต โดยมิทรงหวังผลตอบแทนใดๆกลับมาจากประชาชนของพระองค์แม้แต่น้อย

          ในขณะเดียวกันก็มีประโยคที่ใช้กล่าวร่วมกันกับประโยคดังกล่าวคือ “นักการเมืองให้ปลา” ซึ่งมีความหมายว่า นักการเมืองเมื่อเห็นว่าประชาชนมีลำบากเรื่องใดๆ ก็ตาม ตัวอย่างเช่นเมื่อเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงจนเกิดความหิวโหย นักการเมืองก็จะก้าวเข้ามาช่วยเหลือด้วยการเอาอาหารการกินเข้ามายื่นให้ เพื่อให้ประชาชนมีกินประทังความหิวเฉพาะหน้าไปมื้อๆ หนึ่ง และหวังว่าประชาชนจะได้เกิดความรู้สึกสำนึกในบุญคุณ ส่งผลให้นักการเมืองที่เลวร้ายจำนวนหนึ่ง คาดหวังว่าจะให้เกิดสถานการณ์ที่ทำให้ประชาชนมีความเดือดร้อนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตนเองจะได้เข้ามายื่นความช่วยเหลือเช่นกรณีดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกเช่นกัน โดยไม่เคยคิดที่จะหาหนทางแก้ไขอย่างยั่งยืน

          เชื่อว่าคนไทยคงคุ้นหูกับประโยคที่ว่า “นักการเมืองให้ปลา พระราชาให้เบ็ด” กันมานาน แต่จะมีสักกี่คนที่ปรับตัวเองให้ใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับคำพูดดังกล่าว เพราะการที่จะเอาเบ็ดแล้วออกไปตากแดดตากลมหาปลากินเองนั้น เหนื่อยยากและลำบาก แต่ศักดิ์ศรีของความเป็นคนและความภูมิใจและมีความยั่งยืนต่อการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันอย่างมาก การรับเบ็ดจากพระราชาแล้วนำไปหาปลานั้น เราสามารถหากินได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นไปอีกตลอดชีวิต อีกทั้งยังนำปลาที่หาได้มากจนกินไม่หมด ไปขายเพื่อเอาเงินมาใช้สอยอย่างอื่นได้อีก

          แต่หากเราชมชอบการหาปลามากินอย่างง่ายๆ ด้วยการเอ่ยปากร้องขอให้นักการเมืองช่วย เราก็จะอิ่มท้องเพียงแค่มื้อเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อถึงมื้อต่อไปแล้วเกิดความรู้สึกหิวขึ้นมาอีก เราก็ต้องไปร้องขอความช่วยเหลือวนเวียนอย่างนี้ไปไม่มีที่สิ้นสุด จนท้ายที่สุดเราก็จะตกเป็นทาสบุญคุณจอมปลอมของนักการเมืองนั้นอย่างเลี่ยงไม่พ้น

          ในฐานะประชาชนคนไทยที่เราพูดกันติดปากตลอดมาว่าพวกเราเป็น “ข้ารองบาท” หรือเป็นคนของพระราชา เราสามารถจดจำพระราชกรณียกิจของพระองค์ได้มากมาย เราสามารถท่องจำพระราชดำรัสของพระองค์ได้ทุกตัวอักษร ดังนั้นเมื่อถึงวันนี้เราก็ต้องประพฤติปฏิบัติตนให้สมกับเป็นประชาชนของพระองค์ ต้องรู้จักอดทนต่อการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงและยั่งยืนถาวร ไม่หวังเพียงแค่ให้มีกินมีใช้มีชีวิตรอดผ่านไปวัน ๆ เท่านั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเลือกว่าเราจะเป็นประชาชนของนักการเมืองหรือจะเป็นประชาชนของพระราชา

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ