ข่าว

แรงงานเสี่ยงเพิ่มนายจ้างหันพึ่งเทคโนโลยี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แมนพาวเวอร์มองไทยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการ ดันราคาสินค้า-ค่าครองชีพขยับ แนวโน้มนายจ้างพึ่งเทคโนโลยีมากขึ้น จ้างพนง.ประจำน้อยลง เสี่ยงตกงานเพิ่ม


               นางสุธิดา กาญจนกันคิกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากวันละ 300 บาทเป็น 305-310 บาท จะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งด้านค่าจ้างและประกันสังคม  และสุดท้ายต้นทุนเหล่านี้ก็จะถูกผลักมาสู่ผู้บริโภค ทำให้ราคาสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น ค่าครองชีพจึงสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มค่าแรงดังกล่าว ถือเป็นอัตราที่ผู้ประกอบการรับได้ซึ่งเป้าหมายของภาครัฐในการดำเนินนโยบายครั้งนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะที่แรงงานจะมีขวัญและกำลังใจมากขึ้น ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษพัฒนาฝีมือ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการขนส่ง

               “ทิศทางตลาดแรงงานในอนาคตจะมีการจ้างพนักงานประจำน้อยลง ผู้ประกอบจะหันไปใช้พนักงานสัญญาจ้างแทน ในส่วนของพนักงานก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น ต้องรับสภาพการทำงานที่หนักขึ้น ภาคอุตสาหกรรมอาจมีการย้ายฐานการผลิตเพื่อหาแหล่งที่มีต้นต่ำกว่า ” นางสุธิดากล่าว

               สำหรับทิศทางตลาดแรงงานในปีหน้านั้น จะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น  มีการเชื่อมอินเทอร์เน็ตในภาคการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีการปฏิรูปทุนมนุษย์ภาคแรงงานและการศึกษาไปสู่การเรียนรู้มากขึ้น  ทำให้แรงงานต้องมีการพัฒนาฝีมือตลอดเวลา ขณะที่อำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานจะลดลง และอัตราการว่างงานจะสูงขึ้น โดยล่าสุดเดือนตุลาคม 2559 ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.87% หรือประมาณ 3.34 ล้านคน จากปกติหากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ต่ำกว่า 4% จะทำให้มีการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.1%

               นอกจากนี้ แมนพาวเวอร์กรุ๊ปได้ทำการวิจัยคนยุคเจนเนอเรชั่นวาย ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 2525-2539 อายุ 20-34 ปี จาก 25 ประเทศทั่วโลกพบว่า ในปี 2563 คนรุ่นนี้จะมีจำนวน 1 ใน 3 ของแรงงานทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยจะมีประมาณ 30% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มุ่งทำงานหลายที่พร้อมกันเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูง มีความสนใจเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และมีทักษะด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างดี ดังนั้น แต่ละองค์กรจะต้องปรับสภาพรองรับแรงงานกลุ่มนี้โดยเน้นการอบรม สร้างโอกาส สร้างก้าวหน้าในสายอาชีพ รวมถึงสร้างความสมดุลแห่งชีวิต ให้เกิดขึ้นในองค์กร

               ส่วนกรณีของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐนั้น นางสุธิดา กล่าวว่า ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ระยะนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตที่ช้า ยังต้องเร่งพัฒนาในหลายๆ ด้าน เช่น การศึกษา แรงงาน และเทคโนโลยี เป็นต้น แต่การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตจะเป็นดาบ 2 คม เพราะจะทำให้บางอาชีพหายไป เช่น ฝ่ายที่ทำงานเอกสาร งานประจำซ้ำๆ คือ บุคคล พนักงานธุรการ แต่งานที่เกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์ยังมีอยู่ เช่น งานคิดสร้างสรรค์ พนักโรงแรม รวมถึงนักการเงิน นักวิเคราะห์ข้อมูล

               “การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศไทย เพราะประชาชนกว่า 68 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบครึ่งประเทศไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไรที่จะทำให้ประชากรเหล่านี้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีต่างๆ ได้ นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับความพร้อมของประชากรและประเทศที่สำคัญประเทศไทยมีประชากรที่เป็นเด็กและคนชรามากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ ” นางสุธิดากล่าว

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ