ข่าว

เล่าเรื่อง "ทุนอานันทมหิดล"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ว่าธปท. เล่าเรื่อง "ทุนอานันทมหิดล" มุ่งสร้างคน ปูทางสู่การพัฒนาประเทศ

 

          “ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล” เป็นอีกหนึ่งพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยทรงมีพระราชดำริว่า การพัฒนาประเทศต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาคนก่อน และการพัฒนาคนจะต้องทำทุกระดับ ทุนมหิดลจึงเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดในการพัฒนาคนของพระองค์ท่าน ด้วยทรงเห็นความสำคัญในการสร้างนักวิชาการที่มีความรู้ชั้นสูงให้กับประเทศ

          “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับพระราชทานทุนจากมูลนิธิอานันทมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2532 หลังจบศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 โดยไปทำการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ในสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา

          ความเป็นมาของทุนมูลนิธิอานันทมหิดลนั้น ดร.วิรไท เล่าให้ฟังว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่าทรงอยากตั้งมูลนิธิขึ้นเป็นพระบรมราชานุสรณ์ถวายในหลวงรัชกาลที่ 8 และทรงเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาขั้นสูง จึงเป็นที่มาของการตั้งทุนฯขึ้น เมื่อ 60 ปีที่ผ่านมา โดยสาขาวิชาแรกที่ได้รับทุนคือ สาขาแพทย์ศาสตร์ ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า คนจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศจะต้องเริ่มต้นจากการมีสุขภาพดีก่อน หลังจากนั้นได้พระราชทุนเพิ่มเติม เพื่อขยายสาขาให้กว้างขึ้นสอดคล้องกับความสำคัญของสาขาต่างๆ ในเรื่องการพัฒนาประเทศ 

          สำหรับทุนอานันทมหิดลมีความพิเศษในหลายๆ ด้าน ซึ่งสะท้อนแนวพระราชดำริที่รอบคอบและรอบด้านมาก สะท้อนถึงความมีพระทัยกว้างคือ เป็นทุนที่ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทั้งสิ้น ในหลายช่วงเวลามีคนกราบบังคมทูลขอให้มีข้อผูกมัด แต่จะทรงรับสั่งมาตลอดว่า ไม่จำเป็นต้องมีข้อผูกมัด เพราะวัตถุประสงค์ของการพระราชทานทุนคือ การสร้างนักวิชาการ สร้างคนที่รู้ลึก รู้จริง ให้กับประเทศ จะอยู่ตรงไหนของประเทศไทย ก็สามารถทำประโยชน์ให้ประเทศได้เช่นกัน

          "จำได้ว่าตอนผมจบปริญญาเอก ก็ทำงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศช่วงหนึ่ง ยังไม่ได้กลับมาทำงานประเทศไทย ซึ่งเมื่อได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ ก็มีรับสั่งทำนองว่า คนที่จบปริญญาเอกรู้ดีที่สุดว่าอยู่ตรงไหนจะทำประโยชน์ให้ได้ในช่วงจังหวะชีวิตของเขา ไม่ได้เหมือนราชการที่จบแล้วจะต้องกลับมาทำงานทันทีและใช้ทุน สะท้อนสายพระเนตรที่ยาวไกลมาก เพราะเวลามีข้อผูกมัดมักจะคิดว่าต้องทำงานอีกกี่ปีจึงจะหมดทุน เมื่อหมดแล้วก็เหมือนหมดภาระกัน แต่นักเรียนทุนฯไม่มีข้อผูกมัด และพระทัยที่กว้างทำให้เราตระหนักกันอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นทุนที่จะต้องทำหน้าที่ให้ดีต่อเนื่องตลอดไป อีกเรื่องสำคัญที่พระองค์ท่านพระราชทานแนวคิดไว้ก็คือ แต่ละคนไม่จำเป็นต้องทำงานราชการ ก็สามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้"

          อีกเรื่องที่สะท้อนถึงสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ท่านในการพระราชทานทุนฯคือ ทรงพระราชทานทุนให้ในสาขาที่บางครั้งหาทุนค่อนข้างยากมาก เพราะไม่ใช่สาขาวิชาที่เป็นความต้องการของหน่วยงานราชการโดยตรง หรือเป็นสาขาวิชาที่ต้องใช้เวลาเรียนนานมาก เช่น สาขาวิชาคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นคณิตศาสตร์ขั้นสูง หรือสาขาวิชาฟิสิกส์ที่ใช้เวลาเรียนค่อนข้างนาน เพราะทรงเห็นความสำคัญในการสร้างนักวิชาการให้กับประเทศไทยในลักษณะที่รอบด้าน

          นอกจากนี้ ในช่วงแรกทรงเห็นว่านักเรียนทุนไปสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกกลับมาแล้ว บางครั้งไม่มีอุปกรณ์ในการทำงาน ไม่มีเครื่องมือการทำงานดีพอ ก็ทรงจัดสรรทุนไว้ก้อนหนึ่งด้วย เพื่อสนับสนุนการทำงานของนักเรียนทุน เพราะฉนั้นห้องแล็บในหลายๆ ห้องของคณะแพทย์ศาสตร์จะเป็นผลมาจากการที่ทรงเห็นว่าเมื่อนักเรียนทุนกลับมาแล้ว การจะใช้ความรู้ให้เต็มศักยภาพได้ต้องใช้เครื่องมือ จึงพระราชทานทุนเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการทำงานด้วย สะท้อนถึงการเอาพระทัยใส่อย่างยิ่งกับกิจกรรมของมูลนิธิอานันทมหิดลตลอด 60 ปี

          หลายคนอาจไม่ทราบว่า ทุนฯเริ่มต้นจากเงินส่วนพระองค์ก้อนแรกเพียง 20,000 บาท แต่วันนี้สามารถส่งนักเรียนทุนจบมาแล้วกว่า 300 คน และยังมีนักเรียนทุนที่กำลังเรียนอยู่ต่างประเทศอีก 40 กว่าคน โดยแม้แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหา และทุนฯติดขัดเรื่องกระแสเงิน ก็ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มาให้ ซึ่งกรรมการของมูลนิธิบางท่านได้กราบบังคมทูลว่า จะขอให้ส่งเรียนในประเทศไทยแทน แต่ทรงไม่เห็นด้วย เพราะทรงเห็นว่านอกจากต้องการให้คนไทยได้มีโอกาสศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ได้ความรู้แบบเจาะลึก จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกด้านคือ การสร้างเครือข่ายนักวิชาการที่จะต่อยอดเป็นประโยชน์ต่อประเทศในอนาคต

          มีอีกเรื่องที่จะเล่าให้ฟังว่าทรงเป็นห่วงนักเรียนทุนคือ ในช่วงปี 2540 มูลนิธิฯมีเงินค่อนข้างจำกัดและภาระเพิ่มจากการอ่อนค่าของเงินบาท จึงมีความคิดกันว่าจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดงานคล้ายๆ ระดมหาทุนถวาย ตอนแรกท่านผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า เมื่อความทราบถึงพระกรรณก็ไม่ทรงโปรดเท่าไหร่ เพราะทุนนี้เกิดจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และมีรับสั่งว่าหากขาดเงินก็ให้กราบบังคมทูลจะพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์มาให้ แต่ในที่สุดก็พระราชทานบรมราชานุญาให้จัดงานได้ โดยให้จัดที่ศาลาดุสิดาลัย เพื่อไม่ต้องเสียเงินค่าสถานที่ พร้อมพระราชทานทุกอย่างที่จะใช้ในสถานที่จัดงาน

          “ในการจัดงานได้กำหนดเก็บค่าบัตรไม่เกิน 6,000 บาท แต่ก็ต้องตกใจว่ารับสั่งที่ลงมาไม่ให้เกินโต๊ะละ 6,000 บาท ไม่ใช่บัตรใบละ 6,000 บาท ทรงรับสั่งว่า นักเรียนทุนฯ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะฉนั้นอย่าทำให้เขาลำบาก จะเห็นว่าทรงให้ความสำคัญกับเรื่องรายละเอียดต่างๆ มาก ก็รับมาใส่เกล้าโดยตลอด ในการจัดงานต่อเนื่องมาตลอด 60 ปี ทรงพระราชทานทุกอย่างมาให้  สมเด็จพระเทพรัตน์ ทรงพระเมตตาไปหาโต๊ะจีนราคาไม่แพงที่เคยทรงใช้มาให้ อันนี้เป็นหลักการที่สะท้อนเรื่องการประหยัด”

          สำหรับการคัดเลือกนักเรียนทุนนั้น พระองค์ทรงออกแบบไว้ว่าต้องจบปริญญาตรีมหาวิทยาลัยในประเทศ เพราะต้องการให้บัณฑิตของไทยมีโอกาสไปเรียนต่อมหาวิทยาขั้นสูง และต้องได้เกียรตินิยมอันดับ 1 หรือ 2 โดยทรงมีแนวพระราชดำริไว้ว่า การคัดเลือกนักเรียนทุนฯ ไม่จำเป็นต้องเลือกคนเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับคนเก่งที่เป็นคนดี เพราะคนดีสำคัญไม่น้อยกว่าคนเก่ง

          ดร.วิรไทบอกว่า แม้จะเป็นนักเรียนทุนรุ่นหลังที่ไม่ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก่อนไปเรียนต่างประเทศ โดยพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งเป็นองค์ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ แต่จะมีรับสั่งของพระองค์ที่นักเรียนรุ่นพี่ได้ถ่ายทอดกันมาเช่น “ทรงมีรับสั่งว่าเวลาไปเรียน อย่าเรียนหนังสืออย่างเดียว ต้องไปรู้จักบ้านเมืองเขา รู้จักคนของเขา ทำหูตาให้กว้าง”

 

          ใช้ปรัชญา“พอเพียง”นำทาง

          “หลักสำคัญๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าหัวพระราชทานไว้มีหลายด้าน ตั้งแต่หลักในการใช้ชีวิตของเรา เวลาที่พูดถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เราอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ผมคิดว่าเป็นคิดที่กลั่นมาจากประสบการณ์ที่ทรงมองเห็น การที่เราจะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข เรื่องของความพอประมาณสำคัญมาก ความมีเหตุผลสำคัญมาก เรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันก็สำคัญมาก ในสภาวะที่ใช้ชีวิตของเราต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ความผันผวน ความซับซ้อนต่างๆ มากขึ้น หลักสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันเป็นเรื่องสำคัญ” ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกเล่าถึงการน้อมนำเอาแนวพระราชดำริมาใช้ในการดำเนินชีวิต

          รวมทั้งในการทำหน้าที่ของธนาคารกลางของชาติ ก็จะใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ จะต้องตั้งอยู่บนฐานการรู้ลึก รู้จริง ความรู้ที่มีต้องตั้งอยู่ในเรื่องพอประมาณ เพราะหลายครั้งการที่เราสะดุดขาตัวเอง บางช่วงเศรษฐกิจอาจจะโตเร็วแล้วล้มลง มีปัญหาเสถียรภาพ การขาดเสถียรภาพทางการเงินที่เราเผชิญ มีต้นตอมาจากการทำบางอย่างที่ไม่มีเหตุผล 

          ในบางช่วงข้างหน้าการบริหารเศรษฐกิจของประเทศจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ความผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศจะเพิ่มขึ้น ความผันผวนจากสิ่งที่ไม่เคยเป็นปัญหาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติต่างๆ จะมากขึ้น ก็จะกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย อันนี้เป็นหลักที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรับมาใส่เกล้า เพราะแบงก์ชาติมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพการสร้างภูมิคุ้มกันให้ระบบเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นเรื่องที่สำคัญ

          ส่วนในเรื่องของงานพัฒนานั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาประชาชนทุกระดับให้ทั่วถึง เพราะการสร้างความเจริญให้กับประเทศในพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน ไม่ใช่ความเจริญในระดับมหภาค แต่เป็นความเจริญที่ยังประโยชน์ให้กับชีวิตคนไทยแต่ละคนด้วย

          นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงย้ำหลายครั้งว่าจะต้องอยู่บนฐานความรู้ และฐานของคุณธรรม โดยเฉพาะความเพียร ความอดทน เชื่อว่าคนไทยทุกคน เมื่อใดก็ตามที่อาจจะอยู่ในช่วงที่ท้อ หากเห็นข่าวพระราชสำนักมองเห็นการทรงงานของพระองค์ท่านก็จะเห็นตัวอย่างที่หาไม่ได้ที่ไหน ในเรื่องการทรงหนัก การอดทน และความเพียร

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ