ข่าว

ตีทะเบียน“ปลากุเลาเค็มตากใบ-เนื้อโพนยางคำ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พาณิชย์ขึ้นทะเบียน “ปลากุเลาเค็มตากใบ” และ “เนื้อโคขุนโพนยางคำ” เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพิ่มความมั่นใจผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตจริง


               นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication หรือ GI) 2 รายการ คือ เนื้อโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร และปลากุเลาเค็มตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทำให้ปัจจุบันมีสินค้าไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น GI แล้ว 71 สินค้า จาก 51 จังหวัด และกรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียน GI จาก 16 จังหวัด ยังเหลืออีก 10 จังหวัดที่ยังไม่มีการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะเร่งส่งเสริมสร้างความเข้าใจกับจังหวัดที่เหลือต่อไป

               ทั้งนี้ สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง โดยคุณภาพ หรือชื่อเสียงของสินค้าจะมีความเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ที่มีการผลิตสินค้านั้น ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ อากาศ และภูมิปัญญาของชุมชนในท้องถิ่น ส่งผลให้สินค้านั้นแตกต่างกับสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตในแหล่งอื่น ซึ่งจุดเด่นนี้ และการได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตแท้จริง เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า GI และส่งเสริมเศรษฐกิจของท้องถิ่นแหล่งกำเนิดสินค้า

               ในส่วนของปลากุเลาเค็มตากใบนั้น ได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งปลาเค็ม เนื่องจากเป็นปลาเค็มรสชาติไม่เค็มจัด เนื้อฟู มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ผลิตจากปลากุเลาสดในท้องถิ่นซึ่งเป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ท้องทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะอยู่ติดกับแม่น้ำตากใบและแม่น้ำสุไหงโกลกที่นำพาแร่ธาตุไหลลงสู่ทะเล ทำให้ชายฝั่งทะเลแถบอำเภอตากใบมีแพลงก์ตอนจำนวนมากเป็นอาหารของปลากุเลา โดยผลิตตามกรรมวิธีที่พิถีพิถันที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี ใช้กระดาษผูกมัดห่อหัวปิดปากปลาเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงเข้าไปวางไข่หรือกัดกินได้แล้วตากแดดโดยการห้อยหัวลงเพื่อให้น้ำออกจากตัวปลา ทำให้ปลากุเลาเค็มตากใบสะอาดปราศจากแมลงและอร่อยเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนปลากุเลาเค็มจากแหล่งอื่นๆ 

               “ทำให้สินค้าได้รับความนิยมทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด ตลอดจนประเทศใกล้เคียง เป็นของฝากที่มีคุณค่า จนมีคำพูดติดปากว่า “คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน” ที่บรรยายถึงความนิยมของปลากุเลาเค็มตากใบ ที่จะซื้อเป็นของฝากมากกว่านำมารับประทานเอง เพราะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,200 - 1,500 บาท”

               สำหรับเนื้อโคขุนโพนยางคำ เป็นเนื้อโคขุนคุณภาพสูง ที่บ่มในห้องเย็น มีไขมันแทรกในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้มีความนุ่ม มัน หวาน หอม อร่อย โดยจะผลิตจากโคเนื้อลูกผสมระหว่างโคสายพันธุ์ยุโรปกับโคสายพันธุ์พื้นเมือง พร้อมทั้งผ่านกระบวนการเลี้ยง ในพื้นที่ราบสูงและที่ราบลุ่มลอนคลื่นที่ตั้งระหว่างเทือกเขาภูพานกับแม่น้ำโขงหรือที่เรียกว่าอีสานเหนือหรือแอ่งสกลนคร (จังหวัดสกลนคร บางอำเภอของจังหวัดนครพนมจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดบึงกาฬ) ซึ่งมีความเหมาะสมกับการเลี้ยงและขุนโคเพื่อให้มีไขมันแทรกในกล้ามเนื้อได้ดี รวมทั้งการแปรสภาพและตัดแต่งอย่างถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานสากล และตามข้อกำหนดของสหกรณ์ฯ โพนยางคำ ส่งผลให้ได้เนื้อที่นุ่ม อร่อย ขายได้ในราคาสูง เนื้อสันในประมาณกิโลกรัมละ 1,100 - 1,200 บาท

               นางอภิรดี เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขานรับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและปัญญา ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชนและประเทศ พร้อมเร่งส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าที่มีศักยภาพเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI อย่างน้อย 1 สินค้าต่อ 1 จังหวัด ตั้งเป้าหมายให้ครบ 77 จังหวัด ภายในปี 2560 โดยในปี 2559 - 2560 มีแผนที่จะลงพื้นที่ใน 10 จังหวัดที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน GI หรือยื่นคำขอเพื่อขึ้นทะเบียน GI ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระบี่ กาญจนบุรี ระนอง สตูล สมุทรสาคร สระแก้ว สิงห์บุรี นครสวรรค์ และกำแพงเพชร สำหรับสินค้าที่มีการขึ้นทะเบียน GI แล้วก็มีแผนที่จะส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นให้ดีขึ้น ส่งเสริมการตลาดสินค้า GI ไทย และสร้างการรับรู้คุณภาพและชื่อเสียงของสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อให้สินค้า GI ไทยสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงขึ้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น และยังเป็นการบ่งชี้ให้เห็นความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ส่งผลดีกับสินค้าของไทยอีกด้วย

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ