ข่าว

รัฐไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเชื่อปีนี้โต3.2%

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สมคิด" มั่นใจเศรษฐกิจไทยปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 3.2% จี้เอกชนปฏิรูปใช้นวัตกรรมยกระดับสินค้าหนุนส่งออก ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเพิ่มจีดีพีปีนี้จากโต 3% เป็น 3.2%


               นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายให้ผู้บริหารกระทรวงการคลัง ว่า ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ไม่จำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และเชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจน่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 3.2% หากทุกอย่างเดินหน้าได้ตามแผนงาน ซึ่งสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การส่งออกที่ยังติดลบ โดยภาคเอกชนจะต้องเร่งปฏิรูป โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมในการยกระดับสินค้าและสร้างจุดขาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

               "ไม่ว่าโลกจะดีหรือร้าย หากเรามีจุดแข็ง สินค้ามีนวัตกรรม เราก็ขายได้ สินค้าเราจะไม่ขึ้นอยู่กับค่าเงิน ในช่วงที่ผ่านมาคนอื่นเขายกระดับ แต่เรายังไม่ได้ทำ หากหลังจากนี้เอกชนยังนิ่ง ไม่เร่งปฏิรูป จีดีพีที่หวังว่าจะโต 3% ก็คงยาก"

               ส่วนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยแจกเงินให้เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนรับสวัสดิการนั้น ยืนยันว่า ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือคนจนจริงๆ ถือเป็นการมอบให้ตรงจุดจริงๆ และเชื่อว่าจะไม่มีการทุจริตแน่นอน ซึ่งเป้าหมายของมาตรการคือต้องการให้เกษตรกรสามารถประคองตัวเองได้

               นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2559 เพิ่มเป็นขยายตัว 3.3% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3% เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและรายได้เกษตรกรเริ่มดีขึ้น รวมทั้งการบริโภคภาครัฐเพิ่มขึ้นจากงบกลางปี และการส่งออกเริ่มติดลบน้อยลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในไตรมาส 4 ปี 2558 และการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงด้วย ซึ่งมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายจะเติบโต 3.2% จากที่เติบโต 3.4% ในไตรมาสที่ 3

               ขณะที่ น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนหรือ KR-ECI ในเดือนกันยายน 2559 อยู่ที่ระดับ 44.2 ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และขยับขึ้นต่อเนื่องมาอยู่สูงสุดในรอบ 7 เดือน จากผลของราคาสินค้าที่ปรับลดลง , ค่าใช้จ่ายลดลง , ครัวเรือนมีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น และความกังวลในการชำระหนี้ลดลง ประกอบกับมีเงินออมเพิ่มขึ้น

               “ครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นในประเด็นเรื่องรายได้ โดยพบว่าในเดือนกันยายนองค์กรหรือหน่วยงานที่ครัวเรือนทำงานหรือเป็นเจ้าของธุรกิจอยู่นั้น มีการปรับตัวในลักษณะของการลดการทำงานนอกเวลา หรือ โอที มากขึ้น ทำให้ครัวเรือนมีรายได้ลดลง”

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ