ข่าว

ไตรมาส2สัญญาณจับจ่ายฟื้นชัด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กันตาร์"โชว์ผลวิจัยตลาด FMCG ไทย ไตรมาส 2 เห็นสัญญาณจับจ่ายฟื้น ทั้งกทม.-ตจว. รับอานิสงส์ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจดีขึ้น ปัญหาภัยแล้ง หนี้ครัวเรือนคลี่คลาย

               นายแกเร็ต อิลิส ผู้อำนวยการสายงานธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) บริษัทวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคเชิงลึกในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคอัตราการหมุนเวียนสูง (FMCG) กล่าวว่า จากการสำรวจผู้บริโภคตัวอย่าง 4,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ด้านการจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคปีนี้ พบว่า มีแนวโน้มฟื้นตัว ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะต่างจังหวัดที่เห็นสัญญาณบวกในช่วงไตรมาส 2 หลังจากกำลังซื้ออยู่ในภาวะ “ติดลบ” ต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จากปัจจัยความเชื่อมั่นเศรษฐกิจดีขึ้น ปัญหาภัยแล้งและหนี้ครัวเรือนลดลง ทำให้กำลังซื้อสินค้ามากขึ้น

               “เป็นที่น่าสังเกตว่าในไตรมาส 2 ปีนี้ การจับจ่ายมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งครัวเรือนที่อยู่ในเมืองและต่างจังหวัด ในขณะที่อัตราการเติบโตของตลาด FMCG ในเดือนกรกฎาคมเพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ของปี 2559 สวนทางดัชนีเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังลดลง" นายอิลิส กล่าว

               ทั้งนี้ จากการวิจัยพฤติกรรมการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาใน 92 กลุ่มสินค้าที่สำคัญ พบว่า มีอัตราการเติบโตลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 และมีการฟื้นตัวในไตรมาสแรกปีนี้ โดยไตรมาส 2 อัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.5% และคาดว่าปีนี้จะฟื้นตัวกลับมาเติบโตที่ 2.7-3% อย่างไรก็ตาม พบว่า กลยุทธ์การทำตลาดสินค้าอุปโภคที่สามารถกระตุ้นยอดขายได้ดี เป็นรูปแบบการทำตลาดเฉพาะพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งการใช้กลยุทธ์ระดับประเทศ ไม่อาจตอบรับความต้องการผู้บริโภคทั้งหมดได้อีกต่อไป

               จากผลการวิจัยของกันตาร์ ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมการบริโภคในปัจจุบัน ที่มีการจับจ่ายอย่างระมัดระวังและมุ่งความคุ้มค่ามากขึ้น โดยพฤติกรรมการจับจ่ายในแต่ละครั้ง ลักษณะของผู้บริโภค และรายได้ในครัวเรือน ตลอดจนช่องทางการค้าปลีกที่เป็นแหล่งซื้อสินค้า เป้าหมายของคนในพื้นที่มีความแตกต่างกัน ส่งผลให้นักการตลาดต้องปรับตัวและวางแผนเชิงลึก และวางกลยุทธ์การตลาดพิเศษเฉพาะแต่ละพื้นที่

               นอกจากนี้ ผลการวิจัยพบว่าผู้บริโภคสัดส่วน 68% มีพฤติกรรมการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเพิ่มขนาดและปริมาณให้มากยิ่งขึ้น ทั้งด้านน้ำหนักที่เป็น กิโลกรัมและลิตร ซึ่งเป็นผลโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เห็นได้ชัดจากจำนวนชิ้นที่ซื้อมากขึ้นในแต่ละครั้ง การเลือกซื้อสินค้าที่มีความคุ้มค่าด้านปริมาณต่อชิ้น และเปลี่ยนทางเลือกในการจับจ่าย จากร้านโชห่วย มาใช้บริการในไฮเปอร์มาร์เก็ต มากขึ้น

               นายอิลิสกล่าวด้วยว่า จากการวิจัยการซื้อสินค้ากลุ่มเครื่องดื่ม พบว่าสินค้าหลายประเภทยังอยู่ในภาวะถดถอย โดยเฉพาะกลุ่ม “ชาเขียว” ช่วงครึ่งแรกปีนี้ยังอยู่ในภาวะติดลบ 15% แม้จะมีการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นกำลังซื้อต่อเนื่อง แต่พบว่ากำลังซื้อกลับไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่ม จะพบว่ามีการใช้จ่ายเงินในอัตราที่ลดลงทั้งประเทศ สำหรับกลุ่มเป้าหมายทุกระดับรายได้ ส่งผลให้ผู้ค้าปลีกต้องรุกอย่างหนักเพื่อรักษาฐานลูกค้า

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ