ข่าว

แนะใช้เงินท้องถิ่นค้าขายลดเสี่ยงผันผวน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ว่าการธปท.เตือนค่าเงินผันผวนต่อเนื่อง ผลพวงมาจากปัจจัยนอกประเทศ ผู้ประกอบการต้องบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้ดีแนะทำธุรกรรมค้าขายด้วยเงินสกุลท้องถิ่น

            นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ความผันผวนของค่าเงินจะยังคงมีต่อไป เป็นผลมาจากปัจจัยด้านต่างประเทศค่อนข้างมาก และมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในระบบเศรษฐกิจการเงินโลก แต่มองว่าการแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับทิศทางของค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง ธปท.คิดว่าสำคัญมากและได้ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินในการส่งเสริมให้ธุรกิจไทยมีศักยภาพ มีความสามารถในการรับมือความผันผวนจากค่าเงินต่างๆ ได้มากขึ้น

            “บางช่วงที่อาจรู้สึกว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่จริงๆ เป็นเพราะดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับทุกสกุล ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค แต่สิ่งที่สำคัญมากที่นักธุรกิจต้องระมัดระวังและบริหาร คือความเสี่ยงที่มาจากความผันผวนของค่าเงิน" นายวิไทกล่าวและว่า ตั้งแต่ต้นปี 2559 เงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 4% ถือว่าความผันผวนอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ แต่ภาคธุรกิจจะต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอย่างดี เพราะความผันผวนจะอยู่ต่อไป

            นายวิรไทกล่าวว่า ธปท.ยังให้ความสำคัญเรื่องเกณฑ์การนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศให้มีความสมดุลมากขึ้นทั้งเงินไหลเข้าและไหลออก ซึ่งประเทศไทยมีการเปิดเสรีในหลายมิติที่จะส่งเสริมให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ แต่หากเห็นว่ามีเงินที่ไหลเข้ามาในบางช่วงอาจส่งผลเสียต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ก็เข้าไปดูแลเหมือนที่ผ่านมา และมีเครื่องมือหลายอย่างที่ใช้ได้ เมื่อรู้สึกว่าความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้สอดคล้องกับเสถียรภาพและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

            ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนเรียกร้องให้ ธปท.ดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป เพราะกระทบต่อการส่งออกนั้น ธปท.ได้หารือกับภาคเอกชนอยู่ตลอด ซึ่งจะเห็นว่าสิ่งที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญคือ ค่าเงินบาทจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต่างไปจากประเทศคู่แข่ง หรือประเทศคู่ค้า แต่การบริหารเศรษฐกิจมหภาค ต้องดูตระกร้าเงินให้สะท้อนกับเศรษฐกิจมหภาคของไทยเป็นหลัก

            นอกจากนี้ มีเครื่องมือทางการเงินอีกตัวที่จะแนะนำให้ผู้ส่งออกให้ความสำคัญมากขึ้นคือ การใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระเงิน เพราะจะเห็นว่าสัดส่วนการค้าในภูมิภาคเริ่มเพิ่มสูงขึ้น ธปท.จึงร่วมกับสถาบันการเงินส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ทั้งเงินหยวน ริงกิต เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและจะเกิดขึ้นต่อไปคือ ปัญหาเงินสกลุหลักของโลกที่มีความผันผวนสูง

            นายวิรไทกล่าวต่อว่า กรอบการทำนโยบายของ ธปท. มีเครื่องมือหลายด้านที่ใช้ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่นโยบายอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และเครื่องมือที่เข้าไปช่วยกำกับการทำงานของสถาบันการเงิน โดยหวังให้เกิดผลทางเศรษฐกิจมหภาค เป็นต้น แต่เครื่องมือสุดท้ายที่ธนาคารกลางจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นคือ เครื่องมือที่เกี่ยวกับการบริหารเงินที่ไหลเข้าออกระหว่างประเทศ ซึ่งธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น และต้องแน่ใจว่ามีเครื่องมีนี้อยู่ในเมนูลิสต์ และพร้อมจะนำมาใช้ให้เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทันท่วงที

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ