ข่าว

รู้เท่าทัน ‘โกงออนไลน์’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ เงินทองต้องรู้ : โดย...ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected]

 

           สองข่าวใหญ่ที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางการเงินเกิดขึ้นติดๆ กันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวแรกเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับลูกค้าธนาคารกสิกรไทย ซึ่งถูกมิจฉาชีพหลอกลวงจนนำไปสู่การปลอมแปลงเอกสาร การขอออกซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือใหม่ จนมิจฉาชีพกลายเป็นเจ้าของบัญชี (ตัวปลอม) ที่สามารถโอนเงินจำนวนเกือบ 1 ล้านบาทจากเจ้าของบัญชี (ตัวจริง) อย่างหน้าตาเฉย

           ส่วนข่าวที่สองเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับธนาคารออมสิน หลังถูกโจรกรรมเงินจากเครื่องเอทีเอ็ม จำนวน 21 เครื่อง คิดเป็นมูลค่ากว่า 12 ล้านบาท โดยคนร้ายใช้วิธีติดตั้งโปรแกรมมัลแวร์ ก่อนที่จะตัดการเชื่อมโยงเครื่องเอทีเอ็มออกจากเครือข่ายใหญ่แล้วใช้บัตรกดเงินออกไปจนหมด แม้ว่ากรณีนี้ความเสียหายจะไม่ได้เกิดขึ้นต่อลูกค้า และผู้ฝากเงินก็ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้อนๆ กันในเรื่องของการโจรกรรมเงินจากแบงก์บ้าง จากอินเทอร์เน็ตบ้าง หรือแม้แต่จากเครื่องเอทีเอ็มบ้าง ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

           “ทำอย่างไรให้เงิน (ของเรา) ปลอดภัย” เป็นคำถามตัวโตๆ ที่ก้องอยู่ในใจผู้ใช้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะเมื่อ “ภัยทางการเงิน” อยู่รอบด้าน ขณะที่เงินทองก็เป็นของหายากมากขึ้นทุกที หลายคนรักษาทรัพย์ของตัวเองแบบ “มีมาก ใช้น้อย”-“มีน้อย ใช้น้อย” เก็บออมให้เยอะ เพื่อมา “เสร็จโจร” แบบง่ายๆ

           อย่าไปเทียบกับโจรวิ่งราวกระเป๋า เพราะความเสียหายกรณีนั้น เต็มที่ก็แค่เงินในกระเป๋า กับทรัพย์สินไม่กี่รายการ แต่โจรอิเล็กทรอนิกส์ร้ายยิ่งกว่า เพราะมันล้วงเข้าไปถึงบัญชีธนาคาร และกวาดเรียบจนหมดตัว เหมือนกับผู้เสียหายกรณีแรกที่เงินเกือบ 1 ล้านบาทนั้น คือ เงินที่เก็บออมมาตลอดชีวิต โชคยังดีที่ธนาคารกสิกรไทยดูแลความเสียหายให้ครบถ้วน 100% และเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้กระทำผิดไว้ได้ยกแก๊ง

           ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ให้คำแนะนำเรื่อง “ทำอย่างไรให้เงินปลอดภัย” โดยแยกเป็นกรณีใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์และการใช้บริการธนาคารออนไลน์ สำหรับการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ในลำดับแรกให้ผู้ถือบัตรเปลี่ยนรหัสผ่านที่ผู้ออกบัตรส่งมาให้ทันที โดยตั้งรหัสใหม่ให้ยากต่อการคาดเดา แต่เราจำได้ และอย่าเก็บรหัสบัตรกับตัวบัตรไว้ด้วยกัน ให้เก็บรหัสเป็นความลับ ไม่บอกใครทั้งสิ้น และควรเปลี่ยนรหัสอย่างน้อยทุก 3 เดือน

           กรณีใช้บัตรเอทีเอ็ม มีข้อควรพึงระวังว่า ไม่ควรใช้ตู้เอทีเอ็มในที่เปลี่ยว และควรสังเกตสิ่งผิดปกติบริเวณช่องเสียบบัตร แป้นกด รวมถึงกล่องใส่แผ่นพับ โดยเมื่อกดรหัสทุกครั้งให้ใช้มือปิด และควรเก็บใบบันทึกรายการเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ หากตรวจสอบแล้วไม่ถูกต้องให้รีบแจ้งผู้ออกบัตรเพื่อแก้ไข

           กรณีใช้บัตรเครดิต เมื่อช็อปปิ้ง อย่าให้บัตรอยู่นอกสายตา ควรเดินตามพนักงานขายเพื่อไปเซ็นชื่อที่จุดจ่ายเงิน และหากได้รับ เอสเอ็มเอสแจ้งยอดผิดปกติ ให้รีบแจ้งผู้ออกบัตรทันที เมื่อบัตรหาย ควรเก็บเบอร์ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของผู้ออกบัตรไว้ใกล้ตัวทันทีที่ได้รับบัตรมา แล้วโทรแจ้งผู้ออกบัตรเพื่ออายัดบัตรทันที

           ส่วนการใช้บริการธนาคารออนไลน์ หากเป็นกรณีการใช้งานธนาคารออนไลน์ทั่วไป แนะนำว่า ไม่ควรใช้รหัสผ่าน (password) ที่ง่ายต่อการคาดเดา เช่น 123456 หรือ วัน/เดือน/ปีเกิด และก่อนเข้าใช้บริการธนาคารออนไลน์ จะต้องมั่นใจหรือตรวจสอบให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ที่ใช้นั้นไม่มีมัลแวร์ (Malware) แฝงอยู่ ส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราก็ต้องติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสที่ถูกกฎหมาย พร้อมตรวจสอบและอัพเดตโปรแกรมอยู่เสมอ อย่าติดตั้งหรือดาวน์โหลดโปรแกรมแปลกๆ หรือโปรแกรมที่ไม่ถูกกฎหมาย เพราะอาจเป็นช่องทางให้มัลแวร์เข้ามาในคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตได้ ไม่ใช้ลิงก์เชื่อมโยงที่มากับอีเมลหรือในเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อเข้าสู่ระบบธนาคารออนไลน์ แต่ควรพิมพ์ URL ด้วยตัวเอง ไม่ทำธุรกรรมการเงินผ่านอินเทอร์เน็ตสาธารณะ แต่หากจำเป็น ให้เปลี่ยนรหัสผ่านหลังจากใช้งานทันที หมั่นตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวในบัญชี และการเข้าใช้ระบบธนาคารออนไลน์อยู่เสมอ ว่าเป็นรายการที่ได้ทำไว้หรือไม่ สุดท้าย ควร “ออกจากระบบ” (logout) ทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน

           นอกเหนือจากนี้ ผู้ใช้บริการอาจจะจำกัดวงเงินในการทำธุรกรรมผ่านธนาคารออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงในกรณีถูกมิจฉาชีพขโมยรหัสผ่าน และจำไว้เลยว่า ธนาคารไม่มีนโยบายส่งเอสเอ็มเอส หรืออีเมล เพื่อให้ดาวน์โหลด ติดตั้งโปรแกรม หรือเข้าสู่ระบบธนาคารออนไลน์ หากเผลอคลิกลิงค์ต้องสงสัย ให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือฝ่ายบริการลูกค้าของธนาคารทันทีและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้งานที่ปลอดภัย สุดท้ายต้องติดตามข่าวสารกลโกงธนาคารออนไลน์เป็นประจำ เพื่อรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกง

           หากเป็นการใช้งานธนาคารออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ต้องไม่เก็บเอกสารหรือข้อมูลสำคัญไว้ในสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต เช่น เลขที่บัตรประชาชน เลขที่บัญชีเงินฝาก หลีกเลี่ยงการดาวน์โหลด หรือติดตั้งโปรแกรมจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะกับอุปกรณ์ที่ใช้งานธนาคารออนไลน์ หลีกเลี่ยงการใช้งานธนาคารออนไลน์ผ่านอุปกรณ์ที่มีการดัดแปลง หรือแก้ไขระบบปฏิบัติการ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขโมยข้อมูล

           สิ่งที่ควรทำเมื่อตกเป็นเหยื่อ หากพบเว็บไซต์ปลอมของธนาคาร ให้รีบแจ้งสถาบันการเงินนั้นๆ ทันที เพื่อดำเนินการปิดเว็บไซต์ดังกล่าว หรือหากได้รับข้อความ หรือได้คลิกลิงค์เพื่อดาวน์โหลดโปรแกรมต้องสงสัยหรือให้ข้อมูลในเว็บไซต์ปลอมไปแล้ว ให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารทันที หรือหากได้รับรหัสผ่านชั่วคราว (OTP) โดยที่ไม่ได้ส่งคำสั่งโอนเงิน ให้แจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่เจ้าหน้าที่ธนาคารหรือฝ่ายบริการลูกค้าของธนาคารทันที และขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้งานที่ปลอดภัย​​​​

           เมื่อไม่อาจหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่การให้บริการทางการเงินเปลี่ยนโหมดเข้าสู่โลกออนไลน์ “ความรู้เท่าทันภัยออนไลน์” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะอยากน้อยที่สุด “ความรู้” บวกกับ “สติ” ก็ช่วยป้องกันภัยได้เกือบสมบูรณ์แล้ว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ