ข่าว

ชงใช้ ม.44 ลัดขั้นตอน ระบายข้าว เสื่อม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทีดีอาร์ไอ เสนอใช้ ม.44 ลัดขั้นตอนเร่ง ระบายข้าว เสื่อมคุณภาพ หวังให้ปิดโครงการในรัฐบาลชุดนี้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ระบุ ความเสียหายจำนำข้าวพุ่งกว่า 5.8 แสนล้าน


               นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการสัมมนาโครงการ ระบายข้าว ในคลังของรัฐ จัดโดย ทีดีอาร์ไอ และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ว่า รัฐบาลควรเร่ง ระบายข้าว ในสต็อกของรัฐที่มีเหลือปัจจุบันราว 9.7 ล้านตัน โดยเร็ว หรือระบายให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนี้ เพื่อลดความเสียหายของรัฐไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น จากที่คำนวณพบความเสียหายจากโครงการจำนำข้าว ณ พฤษภาคม 2557 มีความเสียหายแล้วกว่า 5.49 แสนล้านบาท แต่หากคำนวณราคาข้าว ณ เดือนพฤษภาคม 2559 ความเสียหายจะเพิ่มเป็น 5.8 แสนล้านบาท โดยหาก ระบายข้าว ช้าไป 1 ปี ความเสียหายจะเพิ่มขึ้นอีกปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท

               อย่างไรก็ตาม การ ระบายข้าว รัฐควร ระบายข้าว แบบสม่ำเสมอทุกเดือน หรือเดือนละ 2 ครั้ง และปรับรูปแบบการขายข้าวให้มีทั้งแบบยกโกดัง และแยกกองในกรณีที่แยกได้ และหากไม่จำเป็นไม่ควรขายข้าวทั้งโกดังเป็นเกรดอาหารสัตว์หรือใช้เอทานอลเพราะจะขาดทุนมาก ยกเว้นข้าวเกรด C ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ข้าวเก่าอายุ 4-5 ปี และกองข้าวที่เป็นปลายข้าว

               ทั้งนี้ ในส่วนของข้าวเกรด C ที่ยังมีเหลืออยู่ในสต็อกมากกว่าครึ่ง หรือกว่า 4-5 ล้านตัน หากมีข้อมูลพอเชื่อว่าข้าวส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำมาก เช่นมีอายุเกิน 4-5 ปี หรือปลายข้าว ไม่ควรให้กลับเข้าสู่การบริโภค จึงเสนอให้ขอ คสช. ใช้อำนาจในมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อขายข้าวคุณภาพต่ำเหล่านี้โดยเร็ว เพื่อให้เป็นการลัดขั้นตอนการระบาย โดยจะนำไปเข้าสู่อุตสาหกรรมเอทานอล หรือเข้าอุตสาหกรรมชีวมวล ก็สามารถทำได้ โดยควรต้องเร่ง ระบายข้าว เสื่อมเหล่านี้ให้หมดไปภายในรัฐบาลชุดนี้ และเพื่อจะสามารถจะสามารถ ระบายข้าว ดีได้เร็วขึ้น

               “การเร่ง ระบายข้าว คุณภาพต่ำเหล่านี้ หากขายได้ราคาต่ำ ก็ควรทำ เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่การเสนอให้ใช้ ม.44 ก็เพื่อให้กระบวนการระบายทำได้เร็วขึ้น จากปัจจุบันเจ้าหน้าที่ติดปัญหาเรื่องกฎระเบียบ และถูกโจมตีเรื่องราคาต่ำ หรือการเอาไปเผาทำชีวมวลก็จะถูกโจมตีเรื่องทำลายทรัพย์สินของแผ่นดิน ดังนั้นจึงต้องอาศัยกฎหมายพิเศษเฉพาะออกมา” นายนิพนธ์ กล่าว

               อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ควรคิดแทรกแซงสินค้าเกษตรทุกชนิด แล้วนำมาเก็บไว้ในสต็อกโดยเด็ดขาด เพราะกฎระเบียบต่างๆ ของรัฐไม่เอื้อในการขายข้าว และจะส่งผลต่อการขาดทุนมหาศาล จากค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งค่าเวลาและเงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมาก อีกทั้งเจ้าหน้าที่ไม่ใช่พ่อค้า ไม่กล้าเสี่ยงตัดสินใจขาย ขณะเดียวกัน หน่วยงานรัฐไม่มีระบบบัญชีและฐานข้อมูลของทุกหน่วยงาน จึงก่อปัญหาความยุ่งยากในการ ระบายข้าว แต่หากรัฐบาลต้องการช่วยเหลือเกษตรกร ก็สามารถให้ความช่วยเหลือได้โดยตรง

               ด้านนายปราโมทย์ วาณิชชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า อยากให้คะแนนการ ระบายข้าว ในสต็อกของรัฐบาล คสช.เต็ม หรือ A+ เพราะไม่มีวาระการเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการเร่ง ระบายข้าว เก่าที่ค้างในสต็อกออกมาอย่างไรก็ดี ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องทบทวนและวางอนาคตของข้าวไทยในตลาดโลกใหม่ว่าจะยืนอยู่ตรงไหน ซึ่งเป็นโจทย์ใหม่ที่รัฐบาลต้องคิดใหม่ เพราะถ้าไม่ทำ รัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยอุดหนุนทุกปี เฉลี่ยปีละ 4,000 กว่าล้านบาท โดยไทยน่าจะใช้จุดแข็งที่มีคือมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ดี มีคุณภาพ ดังนั้นบทเรียนที่ผ่านมาเจ็บปวดพอแล้ว ต่อไปไทยไม่ควรขายข้าวเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่ควรขายตามสายพันธุ์ข้าวที่แข่งกันด้วยเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับราคาข้าวไทยในตลาดโลกให้เพิ่มขึ้น

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ