ข่าว

มาร่วมสร้างค่านิยมใหม่ ให้ลูกหลานไทยรักการออม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เล่าสู่กันฟัง : มาร่วมสร้างค่านิยมใหม่ ให้ลูกหลานไทยรักการออม : โดย...บัญญัติ คำนูณวัฒน์

 
                          “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อย ค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน” ...วันที่ 26 มิถุนายนนี้ เป็นวันสุนทรภู่ ผมจึงขอนำบทกลอนอมตะที่กวีเอกของไทยท่านนี้ได้ประพันธ์ไว้เมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน แต่ยังคงคุณค่าและทันสมัย มาเปิดหัวบทความเล่าสู่กันฟังฉบับนี้นะครับ
 
                          เพราะสังเกตว่าพฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทยกำลังมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณเม็ดเงิน และความหลากหลายของรายการสินค้า เด็กไทยจึงเป็นขาช็อปประจำตามห้างสรรพสินค้า ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร แห่งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับทุนวิจัยจากปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะเเห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการการส่งเสริมการศึกษา โดย บมจ.ซีพี ออลล์ ได้ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคนิยม (Consumerism) ของวัยรุ่นไทย ในประเด็นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินวัย และการซื้อโดยขาดการไตร่ตรอง ในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมปลาย และอาชีวศึกษา จำนวนกว่า 1,200 ตัวอย่างทั่วประเทศ เมื่อไม่นานมานี้ 
 
                          พบว่า เด็กส่วนใหญ่ได้รับเงินจากพ่อแม่ เฉลี่ยวันละ 200 บาท จนถึงเดือนละ 10,000-15,000 บาท ซึ่งเมื่อถามเด็กเหล่านี้ว่าเพียงพอต่อการใช้จ่ายหรือไม่ ก็พบว่า 65.5 % เห็นว่าเงินที่พ่อแม่ให้มาจำนวนนี้มีความพอดี ที่น่าสนใจคือเกือบ 20% เห็นว่ามากเกินพอดี, 13.2 % บอกว่าไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ส่วนที่เหลือไม่มีคำตอบ
 
                          ทางด้านมุมของการออมเพื่อใช้ในอนาคต จากผลสำรวจพบว่าเด็กไทยกว่า 48% หรือเกือบครึ่ง ไม่ออมเงิน และมีบางส่วนที่ออมเงินเป็นสัปดาห์เฉลี่ยสัปดาห์ละ 100 บาท คิดเป็น 37% ที่เหลือไม่แน่ใจในพฤติการณ์การออมเงิน ซึ่งในจุดนี้ผมมองว่าออมเงิน เป็นเรื่องแรกที่ต้องเริ่มวางแผน ให้เกิดความมั่นคงในชีวิต ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและความสุขในระยะยาว เพราะวงจรชีวิตเราตั้งแต่เด็กยันแก่ ล้วนแต่อยู่บนเส้นทางการเงินและเศรษฐกิจด้วยกันทั้งนั้น
 
                          เมื่อเจาะลึกลงไปอีกพบว่าเด็กไทยส่วนใหญ่กังวลว่าหลังเรียนจบแล้ว เงินเดือนที่ได้รับเมื่อแรกทำงานจะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน ทำให้ช่วงแรกของการทำงานคิดจะยังขอเงินจากพ่อแม่ใช้ไปก่อน จากจุดนี้ก็เลยลองไปค้นหาแนวโน้มพฤติกรรมใช้จ่ายของเด็กไทยในสำนักงานสถิติแห่งชาติ ย้อนหลังทุก 3 ปี พบว่า ปี2551 เด็กไทยทั่วประเทศใช้จ่ายฟุ่มเฟือย 28.2% ต่อมาในปี 2554 คิดเป็น 53% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี 
 
                          อย่างไรก็ตาม หากย้อนมาดูกันที่ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทย จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าครัวเรือนทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการออมกว่า 96.5% ส่วนที่เหลือ 3.5% เป็นเงินออม เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีเงินเก็บในครอบครัวเลย 
 
                          จากเรื่องราวผลวิจัยที่ผมได้นำมาเล่าสู่กันฟัง ก็เพื่อจะเชิญชวนให้ท่านผู้ปกครองทั้งหลายที่ได้มีโอกาสอ่านบทความนี้ มาร่วมกันปลูกฝังค่านิยมใหม่ให้เด็กไทย รู้จักออมเงิน ใช้จ่ายแต่พอตัว และให้คำชี้แนะเรื่องการวางแผนบริหารเงินในชีวิตให้กับลูกๆ หลานๆ ให้มีการบริโภคใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด เสียตั้งแต่วันนี้เพื่อความอยู่ดีกินดีของพวกเขาตลอดไป 
 
 
 
 
-------------------------
 
(เล่าสู่กันฟัง : มาร่วมสร้างค่านิยมใหม่ ให้ลูกหลานไทยรักการออม : โดย...บัญญัติ คำนูณวัฒน์)
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ