ข่าว

แห่ถอนเงิน'ออมสิน'บทเรียนจากเกมการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิกฤติแห่ถอนเงิน 'ออมสิน' บทเรียนท้าทายจากเกมการเมือง : ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดง ... รายงาน

                          ธนาคารออมสินถือเป็นสถาบันการเงินของรัฐบาล ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติคลังออมสินขึ้น และประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2456 โดยให้เรียกว่า "คลังออมสิน" จากนั้นจึงมีการเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนแปลงผู้กำกับดูแลจนกลายมาเป็นธนาคารและเพิ่งครบรอบ 100 ปี เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา

                          ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานที่ผ่านมา ออมสินมีเป้าหมายเป็นสถาบันส่งเสริมการออมและสนับสนุนสินเชื่อให้ประชาชนระดับฐานราก รวมทั้งการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐผ่านการให้กู้ยืมเพื่อการลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม จึงดูเหมือนธนาคารออมสินเป็นกระเป๋าเงินของรัฐเพราะตามกฎหมายแล้ว ถือเป็นธนาคารเดียวที่มีรัฐบาลค้ำประกันเงินฝาก 100% ต่างจากสถาบันการเงินอื่นที่มีการค้ำประกันเงินฝาก โดยสถาบันประกันเงินฝากและไม่เต็มวงเงิน

                          แม้การบริหารงานของออมสินในอดีตจะเคยมีปัญหาบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือถูกมองว่าการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงเป็นการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง หรือความขัดแย้งระหว่างคณะกรรมการธนาคารกับผู้อำนวยการ แต่ไม่มีครั้งใดที่ไม่รุนแรงบานปลาย จนนำมาสู่วิกฤติเช่นที่ธนาคารต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ หลังจากผู้บริหารของออมสินตัดสินใจนำธนาคารเข้าสู่กับดักโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งถูกต่อต้านจากสังคมอย่างรุนแรง เพราะเป็นโครงการที่ถูกจับตามองว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่น จนสร้างความเดือดร้อนให้ชาวนาอย่างหนัก เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าข้าว

                          ความพยายามหาแหล่งเงินกู้ของรัฐบาลในสถานะของรัฐบาลรักษาการ ก็ดูเหมือนจะหมดความชอบธรรม จนทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ไม่กล้าเสนอตัวให้สินเชื่อเพื่อนำไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนักจากชาวนา ทำให้กระทรวงการคลังตัดสินใจใช้ช่องการกู้เงินระหว่างธนาคาร หรืออินเตอร์แบงก์ โดยให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นระยะเวลา 30 วัน โดย ธ.ก.ส.ออกเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋วพีเอ็นมาวางไว้งวดแรก 5,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 จากวงเงินเต็มที่บอร์ดออมสินอนุมัติไว้ 2 หมื่นล้านบาท

 

ปล่อยเงินกู้จำนำข้าวชนวนวิกฤติ

 

                          ทันทีที่มีกระแสข่าวแพร่สะพัดออกมา เสียงต่อต้านก็กระหึ่มขึ้นทันควัน โดยส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วยที่แบงก์ออมสินนำเงินของประชาชนไปปล่อยกู้ในโครงการรับจำนำข้าว แม้นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน จะออกมายืนยันว่าการปล่อยกู้ผ่านอินเตอร์แบงก์ถือเป็นธุรกรรมปกติที่แบงก์ทำกับธนาคารอื่นๆ รวมทั้งธ.ก.ส.มาอย่างต่อเนื่อง และธ.ก.ส. ก็เป็นลูกหนี้ชั้นดีไม่มีความเสี่ยง แต่การชี้แจงของผู้บริหารในครั้งนั้น ก็สร้างความเคลือบแคลงให้กับสังคม เมื่อยืนยันว่าการกู้เงินดังกล่าวเป็นการเสริมสภาพคล่องปกติของ ธ.ก.ส. ไม่เกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล ทั้งที่ก่อนนี้ ธ.ก.ส.เคยย้ำว่าสภาพคล่องของธนาคารไม่มีปัญหา

                          ดังนั้น สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเมื่อธนาคารเปิดทำการในวันจันทร์คือ ประชาชนจำนวนไม่น้อยแห่ไปถอนเงินออกจากธนาคาร โดยส่วนใหญ่เป็นการถอนแบบปิดบัญชี โดยเฉพาะสาขาในกรุงเทพฯ และภาคใต้ เนื่องจากไม่ต้องการให้รัฐบาลนำไปใช้ในโครงการจำนำข้าวผสมกับอารมณ์ไม่พอใจการกระทำของรัฐบาล ซึ่งมีผลให้สาขาจำนวนมากเงินสดไม่เพียงพอและต้องจ่ายเป็นเช็คเงินสดให้ลูกค้าแทน จนยอดการถอนเงินในวันแรกพุ่งสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่มียอดเงินฝากเข้ามาเพียง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งนายวรวิทย์ก็ออกมาแอ่นอกรับว่า ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ไม่คาดคิดว่าการปล่อยกู้ครั้งนี้จะมีผลกระทบรุนแรงมาก

                          แต่จุดที่ผิดพลาดยิ่งกว่าคือ คำพูดที่ดูเหมือนท้าทายยอดเงินที่ไหลออกนั้น ยังต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และได้เตรียมสำรองสภาพคล่องตามสาขาเพิ่มอีก 2 เท่า เพื่อรองรับการเบิกถอนเงินในวันถัดไป อีกทั้งการออกมาระดมเงินฝากของคนในฟากรัฐบาลก็ดูเหมือนจะเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับฝั่งตรงข้าม จนนำไปสู่ถอนเงินอย่างหนักหน่วงมากขึ้นในวันที่ 2 ทำให้ยอดถอนเงินสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท เรียกได้ว่าการฝากและถอนเงินถูกนำมาเป็นหนึ่งกลวิธีในการ "ประลอง" กำลังระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมืองไปอย่างช่วยไม่ได้ และมี "ออมสิน" เป็นเดิมพัน

                          ขณะที่สิ่งที่ยิ่งตอกย้ำความผิดพลาดของผู้บริหารธนาคารออมสินเพิ่มขึ้นไปอีกคือ การออกมาชี้แจงของนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ที่ระบุว่า ธ.ก.ส.ไม่มีปัญหาสภาพคล่อง และยืนยันว่าเงินกู้จากออมสิน 5,000 ล้านบาทนั้น เป็นการจัดหาเงินให้โดยกระทรวงการคลัง และนำเข้าบัญชีจ่ายเงินค่าจำนำข้าว ซึ่งแยกออกจากบัญชีปกติของธนาคารอย่างสิ้นเชิง รวมทั้ง ธ.ก.ส.ไม่ได้เป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น 

                          จากแรงกดดันที่เกิดขึ้นทั้งจากกระแสสังคมและพนักงาน ทำให้นายวรวิทย์ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการยื่นใบลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวย ในฐานะที่ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหายและความน่าเชื่อถือจากผู้ฝากเงินอย่างรุนแรง เพราะเงินฝากที่เปรียบเสมือนเลือดหล่อเลี้ยงแบงก์ยังไหลไม่หยุด 

                          “ผมยอมรับว่าประเมินเรื่องนี้พลาดไป เพราะคิดว่าเป็นเพียงการปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ ซึ่งเป็นธุรกรรมปกติของธนาคาร ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการสื่อสารที่ผิดพลาดและไม่คิดว่าผลกระทบจะรุนแรงขนาดนี้ จึงเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” นายวรวิทย์ระบุ

 

อดีตผอ.ออมสินเตือนเดินตามก.ม.

 

                          จากวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นายเลอศักดิ์ จุลเทศ อดีตผู้อำนวยการออมสิน ให้ความเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นและอารมณ์ความรู้สึกของผู้ฝากเงินล้วนๆ ที่อาจจะไม่พอใจการทำงานและการตัดสินใจของผู้บริหาร ดังนั้น เมื่อผู้บริหารรู้ว่าตนเองตัดสินใจผิดพลาดไป ต้องรีบออกมาขอโทษและชี้แจงความจริงให้ประชาชนเข้าใจ รวมทั้งต้องยอมรับตรงๆ ว่าใครทำให้แบงก์ออมสินเกิดความเสียหาย ซึ่งหากออกมายอมรับในวันแรกคงไม่มีเหตุการณ์บานปลายเช่นนี้

                          “สังคมไทยพร้อมจะให้อภัย หากรู้ตัวว่าผิดก็ต้องรีบขอโทษผู้ฝากเงินและเร่งแก้ไขทำในสิ่งที่ถูก ทุกวันนี้เราต้องการคนกล้ารับผิด ไม่ใช่รับชอบอย่างเดียว และอย่าพูดในสิ่งที่ท้าทาย เพราะประชาชนผู้ฝากเงินถือเป็นผู้มีอุปการะคุณกับแบงก์ การแห่ถอนเงินเป็นผลมาจากเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ข้างไหนไม่สำคัญควรคิดถึงองค์กรมาก่อนอันดับแรก” นายเลอศักดิ์ให้ความเห็น

                          นายเลอศักดิ์ กล่าวเตือนว่า ออมสินเป็นสถาบันการเงินของรัฐก็จริงแต่มีระเบียบกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน หากมีคำสั่งหรือนโยบายจากรัฐบาลลงมาก็ต้องดูให้ชัดเจนรอบคอบว่าไม่ให้ขัดกับระเบียบกฎเกณฑ์ ซึ่งการปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ลักษณะดังกล่าวที่ผ่านมาออมสินไม่เคยทำ สมัยที่ตนอยู่ในตำแหน่งก็ไม่มีเรื่องเช่นนี้ ถือเป็นความโชคดี แต่ขณะนี้อาจเป็นเพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปและมีเหตุผลความจำเป็นบางอย่างก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้บริหารด้วย

 

องค์กรร้าว-พนง.เร่งกู้ศรัทธา

 

                          ขณะที่บอร์ดออมสินมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกวงเงินกู้อินเตอร์แบงก์ที่ให้แก่ธ.ก.ส. ทั้งจำนวน 2 หมื่นล้านบาททันที และจะเรียกคืนเงินที่อนุมัติไปแล้วก่อนหน้า 5,000 ล้านบาท พร้อมทั้งขอให้ธ.ก.ส.ออกมาชี้แจงการขอกู้ดังกล่าว เนื่องจากให้เหตุผลในการกู้ไม่ตรงกัน โดยเชื่อว่ามติดังกล่าวจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนให้กลับมาได้ แต่เมื่อมีกระแสข่าวว่าบอร์ดของออมสินบางคนยังยืนยันจะเดินหน้าให้กู้เพื่อใช้จำนำข้าวต่อไปจึงทำให้เหตุการณ์ในออมสินเกิดเป็นความขัดแย้งกันเองระหว่างพนักงานและสหภาพด้วย

                          ทั้งนี้ พนักงานส่วนใหญ่มองว่าสหภาพแรงงานฯ ไม่ทำหน้าที่ปกป้ององค์กรเท่าที่ควร จนทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง จนทำให้กลุ่มพนักงานและสหภาพกลับลำมาเรียกร้องให้บอร์ดแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกด้วยเช่นเดียวกัน พร้อมทั้งจะเดินหน้าเอาผิดผู้บริหารที่ทำให้แบงก์เกิดความเสียหาย และที่สำคัญได้เรียกร้องให้อย่านำออมสินเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยขณะที่สถานการณ์ภายในองค์กรเองปั่นป่วน สถานการณ์ภายนอกก็ยังมีการแห่ถอนเงินไม่หยุด แม้ก้าวเข้าสู่วันที่สาม ก็ยังมีการถอนเงินอีก 2 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะออมสินยังไม่เคยประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าวมาก่อนทำให้การรับมือและแก้ไขสถานการณ์ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพนักงานเองส่วนใหญ่ก็เสียขวัญและกำลังใจในการทำงานอย่างมาก

                          นายลิขิต กลิ่นถนอม ประธาน สร.ออมสิน ยอมรับว่า วิกฤติครั้งนี้หนักที่สุดและรุนแรงสุดในรอบ 100 ปีตั้งแต่ก่อตั้งธนาคาร ทำให้พนักงานเสียขวัญอย่างมากและกำลังร่วมมือร่วมใจกันชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกค้าเงินฝากอย่างเต็มที่ เพราะหากปล่อยให้เงินฝากไหลออกอย่างต่อเนื่องก็จะส่งผลกระทบต่อฐานะหรือสภาพคล่องของธนาคารตามมา โดยจากสภาพคล่องส่วนเกินที่มีประมาณ 2 แสนล้านบาทนั้น หากลดลงไปเกือบแสนล้านบาทสถานะแบงก์ก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วงแล้ว

                          "ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหนที่จะกู้ศรัทธาความเชื่อมั่นกลับคืนมา แต่ก็ยังอุ่นใจว่าสถานการณ์ถอนเงินดีขึ้นเรื่อยๆ วันที่สี่ลดลงไปเหลือแค่หมื่นกว่าล้านบาทเมื่อหักกับเงินฝากที่เข้ามาทำให้มีเงินไหลออกเพียง 1,700 ล้านบาทเท่านั้น" นายลิขิตกล่าว

 

บอร์ดพร้อมออก-อุ่นใจเงินหยุดไหล

 

                          นายอำนวย ปรีมนวงศ์ หนึ่งในคณะกรรมการธนาคารออมสิน ระบุว่า จากการประเมินสถานการณ์วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ถือว่าสถานการณ์ธนาคารเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ โดยยังมีการถอนเงินบ้างประปรายแต่ไม่น่าจะมียอดไหลออกมากนัก เนื่องจากปัญหาและความไม่พอที่เกิดขึ้นนั้น ยังมีบางกลุ่มที่คงต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง ดังนั้น จะหวังให้เหตุการณ์สงบลงทันทีคงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในแง่ความขัดแย้งในองค์กรเอง

                          อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้บอร์ดยังคงทำงานต่อไป เพราะยังไม่มีรักษาการผู้อำนวยการ และหากลาออกตามที่ สร.และพนักงานเรียกร้องอาจทำให้งานของออมสินหยุดชะงักได้ โดยส่วนตัวนั้นหากมีรัฐบาลใหม่ก็พร้อมจะลาออกเพื่อให้มีบอร์ดใหม่เข้ามาทันที

                          “การถอนเงินเริ่มใจชื้นขึ้นบ้างเพราะเหตุการณ์ค่อนข้างสงบแล้ว แต่อาจจะยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติในทันที ซึ่งอาจต้องใช้เวลา เพราะยอมรับว่ายังมีคนบางกลุ่มไม่พอใจอยู่มาก และในองค์กรเองก็ยังมีความขัดแย้งอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าพนักงานทุกคนรักองค์กร จึงอยากให้เร่งเดินหน้าสร้างความเข้าใจเรียกศรัทธาจากประชาชนและลูกค้ากลับมาโดยเร็วมากกว่า” นายอำนวยกล่าว

 

 

------------------------

(วิกฤติแห่ถอนเงิน 'ออมสิน' บทเรียนท้าทายจากเกมการเมือง : ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดง ... รายงาน)

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ