ข่าว

ธ.ก.ส.ยอมจ่ายเงินจำนำข้าวหลังม็อบบีบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชาวนาพิจิตรยอมเปิดถนนสายเอเชีย 117 หลังจากที่ ธ.ก.ส. อนุมัติเงินกู้สำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่คิดดอกเบี้ย ของยอดเงินจำนำข้าวจากใบประทวน

               เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 ธันวาคม ชาวนาจังหวัดพิจิตร จาก 3 อำเภอ คืออำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอบึงนาราง และอำเภอโพทะเล  และพื้นที่ใกล้เคียง กว่า 1,000  คน ร่วมชุมนุมทำการปิดถนน เอเชีย สาย 117  สายพิษณุโลก-นครสวรรค์ ช่วงขาล่องเข้ากรุงเทพฯ ที่บริเวณแยกโพธิ์ไทรงาม อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร  รถไม่สามารถผ่านเส้นทางสายเอเซียได้

               นายประกาศิต แจ่มจำรัส  ตัวแทนชาวนาที่ชุมนุม กล่าวว่า จาการชุมนุมปิดถนน ในครั้งนี้ เพื่อรวมตัวกดดันให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำการอนุมัติจากโครงการรับจำนำข้าวที่ชาวนายังไม่ได้รับเงิน จากการเข้าร่วมโครงการรับจำนำกับทางรัฐบาลมาแล้วกว่า 4  เดือน  ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2556  และให้ทาง ธ.ก.ส. พักชำระหนี้เกษตร อีกทั้งเรียกร้องค่าชดเชยจากเกษตรกรที่ถูกโกงข้าว 55/56 ในจังหวัดพิจิตร 

               หลังที่ทางชาวนาปิดถนน แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเร่งระบายรถโดยการใช้เส้นทาง ขาขึ้นเหนือ ให้รถวิ่งสวนทางกัน และใช้เส้นทางสัญจรได้ โดยชาวนา ระบุว่าหากยังไม่มีความคืบหน้า ข้อเรียกร้อง หลังจากนี้ ล่าสุดทางกลุ่มชาวนา ได้เพิ่มระดับการชุมนุม  โดยการปิดเส้นทางถนนขาขึ้นเหนือ อีกเส้นทางหนึ่ง ให้เป็นอัมพาต ทั้ง 2 เส้นทาง เพื่อกดดันการเรียกร้องสิทธิโดยสงบ

               ต่อมาเมื่อเวลา 14.45  น.ชาวนายอมเปิดถนนให้สัญจรได้แล้ว และแยกย้ายการชุมนุมแล้ว หลังตัวแทนจากเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. ได้ออกมาชี้แจ้งและช่วยเหลือชาวนา โดยได้ขออนุมัติเงินกู้สำรองยอด 30 เปอร์เซ็นต์ ของใบประทวนข้าวให้กับชาวนา โดยไม่คิดดอกเบี้ยของยอดเงินจำนำข้าว ในโครงการ 56/57 ที่ล่าช้า โดยให้ชาวนานำใบประทวนไปทำเรื่องกู้เงินในธนาคารแล้ว ธ.ก.ส. และจะมีการโอนผ่านทางบัญชีเกษตร ก่อนวันที่ 27 ธันวาคมนี้  เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวนาในเบื้องต้น ชาวนาจึงพอใจ ละแยกย้ายการชุมนุมและเปิดถนนให้รถสัญจรเป็นปกติ แล้ว ซึ่งแกนนำชาวนา ระบุว่า หากทางธ.ก.ส. ไม่ทำตามสัญญาที่ให้กับชาวนา และพร้อมจะปิดถนนใหญ่อีกครั้ง

 

ตัวแทนชาวนาราชบุรียื่นหนังสือทวงเงิน

           นายวลิต เจริญสมบัติ ประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนจังหวัดราชบุรี และเป็นผู้แทนของเกษตรกรชาวนาในจ.ราชบุรี  และพวก ได้มายื่นหนังสือต่อนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ขอให้ติดตามการจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากเกษตรกรยังไม่ได้รับเงินแต่อย่างใด   สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และได้ส่งผลกระทบต่อองค์กรที่มีอยู่ในชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน และอีกหลายๆกลุ่มที่เป็นกองทุนหมุนเวียนภายในชุมชน และสร้างปัญหาให้ต่อหนี้สินของเกษตรกรที่ต้องชำระ เช่น ค่ารถเกี่ยว ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง และค่าดอกเบี้ยจากการนำปัจจัยการผลิตมาใช้ในการเพาะปลูก
    
           "ชาวนาในจังหวัด กว่า 20,000 ราย ได้รับความเดือดร้อน และหากยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าว จะส่งผลให้ฤดูกาลผลิตข้าวซึ่งจะเริ่มในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่มีเงินทุนหมุนเวียน "นายวลิต  กล่าว
    
           นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ทางจังหวัดจะประสานติดตามความคืบหน้า โดยมอบหมายให้สำนักงานการค้าภายในจังหวัดราชบุรี แจ้งให้ทราบความคืบหน้าต่อไป
    
           ด้านนางสาวโสมหิรัญ คงกำเนิด การค้าภายในจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงบประมาณได้อนุมัติวงเงินที่จำนำมาจ่ายให้เกษตรกร ทั่วประเทศกว่า 60,000 ล้านบาท เพียงพอจ่ายให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าว โดยจะจ่ายเงินตามลำดับที่เกษตรกรยื่นใบประทวน มั่นใจได้ว่าจะจ่ายได้ทันก่อนเข้าสู่เดือนมกราคม

 


สกว.เสนอทางเลือกใหม่เพิ่มรายได้เกษตรกร


               ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะ สกว.: ความรู้สู่การปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 2 “ทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร” เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2556 ณ ห้องประชุม สกว. เพื่อเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายยื่นต่อรัฐบาลชุดใหม่ในการพัฒนาประเทศที่สมดุล ลดปัญหาต่าง ๆ และให้มีความสามารถในการแข่งขัน สืบเนื่องจากปัญหารายได้เกษตรกรค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หลายรัฐบาลที่ผ่านมาต่างมีนโยบายจำนวนมาก โดยเฉพาะที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางคือ นโยบายรับจำนำข้าว นักวิจัย สกว.ได้ดำเนินการวิจัยและเสนอวิธีการทางเลือกใหม่อื่น ๆ ที่ดีบนพื้นฐานของการวิจัยเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เช่น การประกันความเสี่ยง ซึ่ง สกว.มองว่าราคามิใช่เพียงประเด็นเดียวที่สำคัญที่จะไปสู่เป้าหมายที่สูงกว่า นั่นคือชีวิตที่ดีของเกษตรกร จึงอยากให้มองในหลาย ๆ มิติ

               รศ.สมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า รู้สึกหนักใจที่พืชเศรษฐกิจถูกดึงไปเป็นเรื่องการเมืองที่เข้ามาบดบังมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว รัฐพยายามใช้เป็นข้ออ้างว่าว่าเกษตรกรมีรายได้ต่ำจึงต้องการให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีวัตถุประสงค์แฝงในการดึงอุปทานเข้ามาควบคุมเพื่อสร้างอำนาจผูกขาดอันนำมาสู่ปัญหาใหญ่ของทุกวันนี้ จึงอยากชี้ให้เห็นว่าความเป็นพลวัตของปัญหาและการขับเคลื่อนไปสู่การตอบสนองเชิงนโยบายนั้น มีแรงกัดดันทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่สร้างความเสี่ยงให้แก่ปัจจัยการผลิต การก้าวไปสู่นโยบายการค้าเสรีตามข้อตกลงภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) นำไปสู่การตอบสนองเชิงนโยบายเพื่อลดปัญหาและสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับผู้คนในสังคม

               รูปแบบของการตอบสนองเชิงนโยบายที่จะสร้างความเข้มแข็งในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ 1. การพัฒนาด้านแหล่งน้ำและการชลประทานซึ่งเป็นหัวใจสำคัญทางการเกษตร 2. การจัดหาที่ดินทำกินเพื่อการเกษตรและการป้องกันไม่ให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินทำกิน 3. การลงทุนวิจัยด้านการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งในต่างประเทศให้ความสำคัญกับการวิจัยทางการเกษตรมากเพื่อให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน 4. การจัดให้เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อการเกษตรในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยสนับสนุนให้มีแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำแทนนายทุนในชนบท 5. การแทรกแซงทางด้านราคาของรัฐโดยยกระดับราคาให้สูงกว่าราคาตลาด โดยกระทำผ่านทางการยกระดับราคาให้สูงกว่าราคาตลาดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง รวมถึงการที่รัฐเข้าไปรัฐซื้อในระดับราคาสูงแต่ขายออกในระดับราคาต่ำ หากบริหารจัดการไม่ดีจะทำให้เกิดการเก็บสต็อกจำนวนมาก พร้อมกับสูญเสียทั้งงบประมาณและคุณภาพของสินค้า

               “รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องการยกระดับรายได้เป็นพิเศษ สองปีกว่าที่ผ่านมารัฐบาลล้มเหลวเรื่องการเสริมสร้างศักยภาพแก่เกษตรกรและการสร้างกลไกตลาดล่วงหน้า แต่สิ่งที่ทุ่มทุนมหาศาลคือการรับจำนำข้าว ซึ่งขาดความสมดุลในการร้อยห่วงโซ่ให้เกษตรกรกินดีอยู่ดี มีความเข้มแข็ง ขาดมุมมองในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดต้นทุนซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อสร้างความได้เปรียบและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อให้อยู่เหนือคู่แข่งและแข่งขันในตลาดโลกได้ ไม่ใช่ทำแบบเหมาเข่งเช่นนี้”

               รศ.สมพรระบุเพิ่มเติมว่า กลไกตลาดข้าวไม่สามารถขายได้อย่างเสรีและวิ่งสวนทางกับพลวัตของตลาดจนลืมมิติอื่น ๆ ของการพัฒนาการเกษตร นับเป็นภัยที่ร้ายแรงต่อประเทศและยากที่จะกลับมาสู่ทิศทางเดิมเพราะสูญเสียตลาดไปแล้ว รัฐบาลจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไรเพื่อให้เกิดปัญหาดินพอกหางหมู พร้อมกันนี้ได้เสนอประเด็นทางเลือกเชิงนโยบายอื่น ๆ ได้แก่ การสนับสุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนหรือลดการผลิตสินค้าเกษตรที่มีอุปทานส่วนเกินมากหรือเป็นสินค้าที่แข่งขั้นไม่ได้ไปสู่การปลูกพืชชนิดอื่น โดยสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพื้นที่โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ชลประทานที่มีทางเลือกในการทำการเกษตรมากมายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน รวมถึงการให้การอุดหนุนเชิงสวัสดิการแก่กลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มยากจนเพื่อให้ได้รับสวัสดิการหรือรายได้ขั้นต่ำที่ต้องการใหความช่วยเหลือ และให้ความช่วยเหลือผ่านทางส่วนต่างของราคาดังกรณีที่ IMF ให้ข้อเสนอแนะไว้ ตลอดจนการปรับระบบการผลิตและสร้างแรงจูงใจไปสู่การผลิตแบบ Niche Product ให้กับกลุ่มเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ เช่น Green

               ด้าน รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญคือต้องทำให้รายได้ต่อหัวในภาคเกษตรเท่าเทียมกับนอกภาคเกษตร เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังเป็นฐานเสียงทางการเมืองกลุ่มใหญ่ที่นักการเมืองทั่วโลกใช้เป็นเป้าหมายในการหาเสียง ในระยะยาวจะแก้ปัญหานี้ได้ต้องทำให้รายได้ต่อหัวของเกษตรกรเพิ่มขึ้น รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรด้านการเกษตรที่ต้องกลับมาทบทวนว่าถ้าย้ายแรงงานในภาคการเกษตรจะเหลือที่ดินจำนวนมากและจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร เรื่อง “ข้าว” เป็นเรื่องสำคัญของเอเชีย มีปัญหาเรื่องการพยากรณ์น้ำ ปัญหาน้ำฝนและน้ำแล้งที่สัมพันธ์กับการเจริญเติบโต ถ้าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังมีไม่เพียงพอก็คงจะลำบาก ทั้งนี้ปัญหาใหญ่ของชาวไร่ชาวนา คือ น้ำแล้ง ซึ่งร้ายแรงยิ่งกว่าน้ำท่วม เพราะยังไม่มีวิธีการปรับตัวยกเว้นการส่งลูกหลานออกไปจากภาคการเกษตร ขณะที่น้ำท่วมยังได้รับเงินชดเชยและมีสิ่งของช่วยเหลือ ประเด็นนี้เป็นปัญหาวิจัยที่น่าสนใจนำไปศึกษา

               “หนึ่งในเป้าหมายที่ควรให้ความสำคัญ คือ ผลิตภาพทางการเกษตร เพราะยังห่างไกลจากประเทศพัฒนาแล้ว จึงต้องลดช่องว่างรายได้และแรงงานภาคเกษตรเพื่อให้งบอุดหนุนยังสามารถกระทำได้ โดยเสนอให้ถอนแรงงานจากภาคการเกษตรเพื่อทำให้ผลิตภาพต่อหัวของเกษตรกรเพิ่มขึ้น แต่ต้องมีงานวิจัยรองรับ เช่น ตลาดการให้บริการเช่าเครื่องจักรเพื่อให้เกษตรกรรายเล็กสามารถว่าจ้างได้ การรวมกลุ่มที่ดินให้มีขนาดใหญ่มากขึ้นเพื่อจะได้ประหยัดต้นทุนธุรกรรมเครื่องจักร รวมถึงเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้เอื้ออำนวยเรื่องการเช่าเครื่องจักร ตลอดจนให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมให้เป็นฐานทรัพยากรที่มีค่าของประเทศต่อไปด้วย”

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ