ข่าว

สอน (ลูก) แบบไหน...ได้ (ลูก) แบบนั้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สอน (ลูก) แบบไหน... ได้ (ลูก) แบบนั้น : คอลัมน์วันอาทิตย์คิดเรื่องเงิน : โดย....ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected]

               วันก่อนโพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กว่า บางครั้งประสบการณ์ที่ดีของพ่อแม่ อาจจะไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดีของลูก และบางครั้งประสบการณ์ที่ไม่ดีของพ่อแม่ ก็อาจจะไม่ใช่ประสบการณ์ที่ไม่ดีของลูก ดังนั้น ถ้าหากเราอยากแชร์ประสบการณ์ของเราให้เขาฟัง ก็ควรเปิดโอกาสให้เขาแชร์ประสบการณ์ของเขาให้เราฟังบ้าง

                เรื่องของเรื่อง มาจากการที่เพื่อนคนหนึ่งเปรยให้ฟังว่า ระยะหลังๆ ภรรยามักจะเครียดกับลูกวัยกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย

                ความเครียดของผู้เป็นแม่ มาจาก “ความคาดหวัง” อยากเห็นลูกเข้าเรียนในคณะดีๆ และมหาวิทยาลัยดีๆ ซึ่งก็คงเป็นปกติของพ่อแม่ทั่วไป แต่ที่มากกว่านั้น คือ คุณแม่ท่านนี้อาจจะมี “ประสบการณ์” บางอย่างของตัวเองที่ไม่น่าประทับใจนัก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องของการเรียน และ “คาดหวัง” ให้ลูกมีโอกาสที่ดีกว่าตัวเอง

                เมื่อคุณลูกใช้ชีวิตตามสบาย ไม่อินังขังขอบกับความคาดหวังของแม่ แม่ก็ต้องเครียดตามสูตร

                เป็นปัญหาโลกแตกสำหรับหลายครอบครัว ที่ความหวังดีของพ่อแม่กลายเป็นแรงกดดันของลูก และความต้องการของลูก กลายเป็นสิ่งที่พ่อแม่รับไม่ได้ เรื่องแบบนี้ไม่มีสูตรตายตัวว่า แบบไหนเรียกว่า ดีหรือไม่ดี แบบไหนเรียกว่า ถูกหรือผิด เพราะเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ขึ้นอยู่กับนิสัยใจคอ ขึ้นอยู่กับความนิยมชมชอบ เป็นปัญหาเฉพาะตัวที่ไม่มีใครคนไหนแก้ปัญหาให้ได้ อาจจะให้คำปรึกษาได้บ้าง อาจจะแนะนำหรือชี้แนะได้บ้าง แต่สุดท้ายแล้ว คนในครอบครัวนั่นแหละต้องหาจุด “ร่วม” ที่เป็น “ความลงตัว” ร่วมกัน

                แต่ความจริงประการสำคัญที่ทุกครอบครัวไม่อาจปฏิเสธ นั่นคือ ทุกอย่างเริ่มต้นที่ครอบครัว ลองย้อนกลับไปดูอย่างยอมรับความจริงว่า ที่ลูกเราเป็นแบบนั้น เพราะเราปลูกฝังเขามาแบบไหน หรือเมื่อเขาเติบโตขึ้น เขารับอิทธิพลจากสิ่งไหนจนหล่อหลอมให้เขาเป็นแบบนั้น เป็นทั้งในแบบที่เราอยากให้เป็นและที่เราไม่อยากให้เป็น

                ไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่เรื่องเงินๆ ทองๆ

                เคยรับโทรศัพท์จากเพื่อนที่เรียนหนังสือมาด้วยกัน บ่นถึงความยากลำบากในการทำธุรกิจส่วนตัว สุดท้ายต้องเลิกกิจการ และอยากหางานประจำทำ

               ปัญหาไม่ได้อยู่แค่ความเป็นผู้หญิงที่พออายุขึ้นหลักสี่ การหางานประจำทำ หรือการหางานใหม่กลายเป็นเรื่องยากเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ผลตอบแทน ซึ่งเพื่อนบอกเงื่อนไขว่า ต้องมีรายได้เดือนละแสน จึงจะรองรับการค่าใช้จ่ายในบ้านได้

                ค่าใช้จ่ายที่ว่า หมายรวมถึงค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงค่าโทรศัพท์ไอโฟนและไอแพดให้ลูกทั้งสองคน ค่ากระเป๋า ค่านาฬิกาแบรนด์เนม ค่าเดินทางไปท่องเที่ยวทั้งในต่างจังหวัดและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ เพราะลูกเคยได้รับอย่างเสมอมา ตั้งแต่พ่อแม่เป็นเจ้าของกิจการ และลูกควรจะได้รับแบบนั้นตลอดไป

                ดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่เพื่อนคนนี้ก็สามารถจนต้องยกนิ้วให้ เพราะเธอยังรักษาระดับมาตรฐานชีวิตไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ภายใต้คำพูดติดปากว่า “ไม่มีเงิน”

                นับเป็นความยากลำบากของผู้เป็นแม่ที่เต็มใจรับและตั้งใจปฏิบัติ

                ส่วนคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นที่ยังพอมีเวลาปลูกฝังลูกเรื่องเงินๆ ทองๆ อาจจะลองทำตามวิธีในหนังสือ “ปั้นเศรษฐีน้อยจากร้อยสู่ล้าน” เป็นเทคนิค 4 ข้อที่ไม่มีอะไรยากเย็นเกินไป

                ข้อแรก ยิ่งสอนลูกเกี่ยวกับเรี่องเงินทองเร็วเท่าไหร่ ยิ่งดีเท่านั้น

                เพราะเป็นเรื่องจริงว่า เราควรจะต้องรับมือกับการเรียนรู้เรื่องเงิน ทอง ของเด็กๆ ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะยิ่งเมื่อเด็กๆ เติบโตเป็นวัยรุ่น ก็จะยิ่งใส่ใจกับคำแนะนำของพ่อแม่น้อยลง ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ พวกเขาจะยุ่งอยู่กับเรื่องอื่น เช่น การใช้เงิน

                จะทำอย่างไรให้ลูกเป็นเด็กที่ “ใช้เงินเป็น” ไม่ใช่ “ใช้เงินเก่ง” คำตอบก็คือ ต้องเริ่มต้นสอนตั้งแต่ลูกยังเล็ก ด้วยการทำให้ง่ายต่อการเข้าใจมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการให้เด็กๆ เริ่มนับจำนวนเงิน หรือเริ่มมีกระปุกออมสิน และอนุญาตให้เขาใช้เงินจากกระปุกออมสินสำหรับซื้อของเล่นได้เป็นครั้งคราว เพื่อที่เขาจะเรียนรู้ว่า เมื่อซื้อของที่อยากได้ ก็ต้องแลกกับเงินในกระปุกที่ลดลง เพื่อให้เขาเรียนรู้คุณค่าของเงิน

                ข้อสอง บอกให้ลูกรู้ว่า เงินได้มาอย่างไรและจ่ายไปอย่างไร

                นอกจากจะต้องเริ่มต้นสอนลูกตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองควรอธิบายถึงที่มาและที่ไปของเงิน เพื่อเป็นบทเรียนพื้นฐานให้ลูกได้รู้ว่า “เงินมีจำนวนจำกัด แต่ความต้องการของคนเรานั้นมีไม่สิ้นสุด” และ “เงิน” ไม่ได้มีไว้สำหรับซื้อขนมหรือของเล่นเท่านั้น แต่มีไว้เพื่อซื้อ “ของจำเป็น” มากมายในบ้าน

                เราควรสอนให้เด็กๆ เห็นความแตกต่างระหว่าง “ความจำเป็น” และ “ความต้องการ” เพราะเด็กๆ ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากการซื้อของพ่อแม่ ตั้งแต่เสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา หรือแม้กระทั่งการซื้อคอมพิวเตอร์ ซึ่งพ่อแม่ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยว่า ของบางอย่างก็แพงเกินไป และกว่าจะมีโอกาสซื้อหามาได้ ก็ต้องใช้เวลาเก็บออมเงิน

                วิธีนี้จะช่วยให้เด็กๆ รู้ว่า “เงิน” ควรถูกใช้เพื่อสิ่งจำเป็นมากกว่าสิ่งที่อยากได้

                ข้อสาม ปล่อยให้เขามีประสบการณ์ตรง

                “เงินค่าขนม” จะช่วยให้เกิดการสร้างประสบการณ์ตรงให้กับลูก การจ่ายค่าขนมอย่างสม่ำเสมอจะเปิดโอกาสให้เขารู้จักจัดสรรเงินในมือตามความต้องการ ซึ่งจะทำให้เด็กๆ เรียนรู้ในการควบคุมตัวเอง แต่อย่าติดตามหรือควบคุมการใช้เงินของลูกมากจนเกินไป ลูกไม่ควรที่จะต้องขออนุญาตคุณทุกครั้งเพื่อใช้เงินซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาอยากได้ ลองปล่อยให้เขาใช้จ่ายตามพอใจ แต่ต้องย้ำว่า “เมื่อเงินหมดก็คือหมด”

                มากกว่านั้น ก็คือ ควรสอนนิสัยการใช้เงินให้กับลูกโดยปล่อยให้เขา “ทำผิด” บ้าง และทำให้รู้ว่า เขาต้องตกอยู่ในสถานการณ์อย่างไร ถ้าใช้เงินไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องมากเกินไป

                ข้อสุดท้าย เปิดทางให้สัมผัสโลกการเงินเมื่อเขาพร้อม

                สำหรับวัยรุ่นและเด็กมหาวิทยาลัยนั้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น มีกิจกรรมมากขึ้น และมักจะมีเรื่องให้ใช้จ่ายมากขึ้น การให้ความรู้แก่พวกเขาเรื่องบัญชีเงินฝาก อัตราดอกเบี้ย บัตรเครดิต รวมไปถึงการลงทุน จะทำให้พวกเขาเข้าใจ และมี “ความพร้อม” เรื่องการเงินมากขึ้น เมื่อต้องออกนอกบ้าน

                เป็นสี่ข้อที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงของพ่อแม่ และถือว่า คุ้มกับการเรียนรู้ของลูก ส่วนวิธีง่ายๆ ที่ตัวเองเคยทำมาแล้ว ก็คือ ให้ลูกลองไปทำงานด้วย ให้เขาเห็นว่า กว่าพ่อแม่จะหาเงินได้แต่ละบาทต้องทำงานหนักแค่ไหน รวมทั้งสอนให้เขาทำธุรกรรมในธนาคารพาณิชย์เองตั้งแต่ 7-8 ขวบ ให้เขาเห็นพลังของการออม ด้วยการเปิดบัญชีและเฝ้าดูการงอกเงยของเงินในบัญชี

                สัปดาห์หน้า มีเทคนิคสำหรับลูกที่อย่าถึงกับเรียกว่า คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิดเลย เอาเป็นว่า ลองมาติดตามกันว่า เมื่อพ่อแม่เตรียมพร้อมทุกอย่างไว้ให้กับลูกแล้ว เรายังจะต้องสอนเรื่องเงินทองอะไรให้ลูกอีกบ้าง

 

...........................................

(สอน (ลูก) แบบไหน... ได้ (ลูก) แบบนั้น : คอลัมน์วันอาทิตย์คิดเรื่องเงิน : โดย....ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected])

 

 

               
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ