ข่าว

'4พืชเศรษฐกิจไทย'แข่งขันยาก!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เช็กชีพจร 4 พืชเศรษฐกิจไทย แข่งขันยาก - จี้เร่งปรับตัวก่อนสายเกินแก้

 

                    ภาคการเกษตรของไทยเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่ต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง หลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี แต่ดูเหมือนว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยังนิ่งนอนใจ ทั้งๆ ที่หลายสินค้าเกษตรของไทยที่ถูกแซงหน้าไปแล้ว ทั้งการสูญเสียตลาดส่งออกข้าว การมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน ขณะที่ผลผลิตต่อไร่กลับลดลง ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.จึงได้ทำการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อม

                    นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.ได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพื่อเตรียมความพร้อมการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. และภาคการเกษตรของไทย ซึ่งแน่นอนว่าภาคเกษตรของไทยมีทั้งส่วนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ที่เห็นชัดๆ คือจากการเคลื่อนย้ายแรงงาน อาจทำให้ภาคเกษตรของไทยขาดแคลนแรงงาน และมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จึงต้องเร่งปรับตัวในการพัฒนาด้านประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของผลผลิตแทน โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจหลัก 4 ชนิดของไทย อย่าง ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และอ้อย

                    จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยลดลง เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ลดลง แต่ต้นทุนการผลิตกลับสูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยต่ำกว่าเวียดนาม ในด้านประสิทธิภาพการผลิตพบว่า ปี 2553 ผลผลิตต่อไร่ของไทยน้อยกว่าเวียดนาม 48.1% และต้นทุนการผลิตของเวียดนามน้อยกว่าไทยเกือบเท่าตัว

                    ส่วนปาล์มน้ำมัน ขณะนี้ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดส่งออกน้ำมันปาล์มเพียง 2.2% โดยผู้ครองตลาดโลกคือ อินโดนีเซีย มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 50% รองลงมาคือมาเลเซียมีส่วนแบ่งการตลาด 30% การเข้าสู่เออีซีทำให้มีการลดภาษีนำเข้าปาล์มน้ำมัน จึงส่งผลกระทบต่อการผลิตปาล์มและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ อาจทำให้น้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซียและมาเลเซียเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย

                    ขณะที่ยางพารานั้น พบว่าไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย พื้นที่ปลูกของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5.35% ผลผลิตรวมเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.53% ต่อปี โดยในปี 2554 อินเดียเป็นประเทศที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกจำนวน 303 กิโลกรัมต่อไร่ รองลงมาคือเวียดนาม 275 กก.ต่อไร่ และไทย 262 กก.ต่อไร่

                    ขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตสำคัญกลับมีผลผลิตเฉลี่ยที่น้อยกว่าอยู่ที่ 146 กก.ต่อไร่และ 107 กก.ต่อไร่ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ไทยจำเป็นต้องปรับกระบวนการผลิตที่เป็นจุดแข็งในการเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฮับยางพารา สร้างอำนาจการต่อรองและเป็นผู้กำหนดราคายางได้เองในอนาคต รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมปลายน้ำของยางพาราและอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม

                    สุดท้ายสินค้าเกษตรประเภทอ้อย และน้ำตาลทราย ถือว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกผลผลิตจากอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มีการส่งออกไปประเทศในอาเซียนประมาณ 2.73 ล้านตันในปี 2554 ขณะที่ตลาดดังกล่าวมีความต้องการนำเข้าประมาณปีละ 2.9 ล้านตัน ยิ่งเมื่อเปิดเออีซีจะเป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาดในภูมิภาคนี้มากขึ้น แต่ไทยจำเป็นต้องมุ่งพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุน ที่จะเข้าสู่การแข่งขันและความร่วมมือในการลงทุนในประเทศอาเซียนด้วยกัน

                    ทั้งนี้ ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.มองว่าผลกระทบต่อภาคเกษตร อาจทำให้มีการแข่งขันด้านราคาจากฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งต่อให้แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร โดยอาจมีแรงกดดันทั้งเรื่องของอัตราภาษีศุลกากร ถิ่นกำเนิดหรือแหล่งผลิตสินค้า มาตรฐานสินค้า และระเบียบหรือขั้นตอนการนำข้า-ส่งออก อาจจะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายและเวลาที่สูงขึ้นจากความหลากหลายของระบบด้วย ธ.ก.ส.ในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ให้บริการทางการเงินแก่เกษตรกร จึงให้ความสำคัญกับการนำเสนอข้อมูลเพื่อปรับตัวและเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกรก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

 

นักวิชาการแนะจัดระเบียบผลผลิต

 

                    นายมรกต ตันเจริญ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์และแนวโน้มการเกษตรและอาหารของโลกและของประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลมีการคาดการณ์กันว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 7 พันล้านคนในปี 2555 เป็น 9 พันล้านคนในปี 2593 ( ค.ศ.2050) ทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า จากข้อจำกัดด้านพ้นที่เพาะปลูก การเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่จึงเป็นแนวทางที่ช่วยเพิ่มผลผลิตอาหารอย่างยั่งยืน

                    ขณะที่วิกฤตพลังงาน ทำให้กระทรวงพลังงานมีแผนส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 20% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด ภายในปี 2565 เช่น การใช้เอทานอลและไบโอดีเซล ที่ผลิตจากพืชผลการเกษตร แต่อ้อย (กากน้ำตาล) และมันสำปะหลังที่ใช้ผลิตเอทานอลเป็นพืชที่ใช้ผลิตน้ำตาล และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทั้งมันเส้น แป้งมัน ผงชูรส ส่วนไบโอดีเซลผลิตจากปาล์มน้ำมันที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตน้ำมันปาล์มที่ใช้เป็นอาหาร จึงทำให้เกิดการแย่งชิงระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพื้นที่เพาะปลูกเท่านั้น แต่ทำให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นด้วย

                    “ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก หรือทำหน้าที่เป็นครัวของโลก ขณะเดียวกันเรานำเข้าน้ำมันเป็นสินค้าอันดับหนึ่งของประเทศ จึงจำเป็นต้องหาจุดยืนหรือสร้างสมดุลในการใช้พืชผลทางการเกษตรเพื่อเป็นอาหารและพลังงาน”

                    ในภาพรวมของโลกพบว่ามีพื้นที่ที่ใช้ในการผลิตพืชอาหารประมาณ 60% อาหารสัตว์ 35% พืชพลังงานประมาณ 5% ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรประมาณ 170 ล้านไร่ จึงควรมีการวางแผนเพื่อกำหนดว่าจะใช้พื้นที่ใดผลิตพืชชนิดใดให้ชัดเจน รวมถึงควรมีแนวทางเพิ่มผลผลิตอย่างไรด้วย

                    นายมรกตกล่าวอีกว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลกระทบโดยตรงต่อพืชเกษตร โดยองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 การผลิตอาหารของโลกจะสูญเสียประมาณหนึ่งในสี่ ทั้งจากอากาศ ดินเสื่อม และขาดแคลนน้ำ ซึ่งข้อมูลจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติที่ฟิลิปปินส์พบว่า ผลผลิตข้าวจะลดลง 10% เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1% ตามภาวะโลกร้อน ซึ่งในปี 2463 อุณหภูมิของโลกอาจสูขึ้นไปอีก 1.8-4 องศาเซลเซียส ขณะที่แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ สวก ของไทย ระบุว่าผลผลิตข้าวในเขตชลประทานของไทยจะลดลง 11% ระหว่างปี 2573-2582 และลดลง 22% ระหว่างปี 2633-2642

 

ชำแหละปัญหาภาคเกษตรไทย

 

                    จากข้อมูลพื้นที่การเกษตรของไทยมีประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ 5.14 แสนตารางกิโลเมตร มีผู้อยู่ในวัยทำงาน 38.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีแรงงานภาคเกษตร 35% หรืออาจต่ำกว่า เพราะบางคนทำงานบางช่วงเวลาเท่านั้น ขณะที่จีดีพีภาคเกษตรอยู่ที่ 13% ของจีดีพีทั้งหมด สินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีการส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของตาดโลกหลายรายการ ทั้ง ข้าว กุ้ง มันสำปะหลัง แม้การส่งออกที่ผ่านมาจะมีการเติบโตแต่ถ้าเปรียบเทียบการเติบโตของประเทศอื่น เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย พบว่าไทยเติบโตน้อยกว่า และจากการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการเกษตรของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศ 60 ประเทศ ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประสิทธิภาพต่ำเป็นลำดับที่ประมาณ 50

                    “เรื่องของเวลาการผลิตสินค้าตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบจนถึงมือผู้บริโภคควรใช้เวลาสั้นที่สุด หรือให้มีประสิทธิภาพที่สุด มีกระบวนการจัดการการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และมีค่าขนส่งสินค้าถูกที่สุด แต่ค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ภาคเกษตรไทยอยู่ที่ประมาณ 21-25% ของจีดีพี สูงกว่าจีน มาเลเซีย และอินเดีย ซึ่งของไทยค่าขนส่งนับวันจะแพงขึ้นจากราคาพลังงาน”

                    นายมรกตกล่าวว่า นอกจากปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรแล้ว อายุเฉลี่ยของเกษตรกรไทยก็นับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2523 อายุเฉลี่ยเกษตรกรไทยอยู่ที่ 33 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 40 ปีในปี 2545 และเพิ่มเป็น 51 ปีในปี 2550 ทำให้ความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อทุ่นแรงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ

                    ส่วนการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรนั้น สามารถทำได้หลายแนวทางทั้งการปรับปรุงพันธุ์พืช การจัดการฟาร์มที่ดี การเพิ่มประสิทธิภาพการปุ๋ยและน้ำ และสิ่งสำคัญในการทำให้เกษตรกรไทยก้าวสู่การเป็นเกษตรกรอัจฉริยะ คือการสื่อสารข้อมูลทั้งการให้ข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจ ซึ่งในยุคไอทีการใช้โทรศัพท์มือถือในการส่งเอสเอ็มเอส เพื่อแจ้งเหตุด่วน ก็จะให้เกษตรกรเตรียมตัวหาทางป้องกันได้ เพราะคนที่อยู่รอดได้ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด หรือฉลาดที่สุด แต่เป็นผู้ที่สามารถปรับตัวได้ต่อการเปลี่ยนแปลง

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ