ข่าว

ตีแผ่ปัญหาจำนำข้าว(ทุกเม็ด)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตีแผ่ปัญหาจำนำข้าว (ทุกเม็ด) ... สร้างวิบากกรรมสู่ "คนไทย" : รายงานพิเศษ : โดย...อนัญชนา สาระคู

           เริ่มเข้าสู่โครงการจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลปี 2555/2556 กันแล้ว ซึ่งในปีนี้จะแตกต่างจากปีก่อนเล็กน้อยก็ตรงที่เปิดรับจำนำตลอดทั้งปี แต่กำหนดให้ชาวนาสามารถนำข้าวเข้าโครงการได้ครัวเรือนละ 2 ครั้งเท่านั้น ไม่ว่าจะปลูกกันกี่รอบก็ตาม ในขณะที่แนวคิดหลักๆ ของโครงการยังคงเดิม คือ การจำนำข้าวทุกเม็ด ที่ราคา 15,000 บาทต่อตัน สำหรับข้าวขาว และ 20,000 บาทต่อตันสำหรับข้าวหอมมะลิ 

           แม้รัฐบาลจะออกมาโชว์ผลงานโครงการจำนำข้าวในรอบปีที่ผ่านมา ที่ดูออกจะสวยหรู แต่ก็ยังเป็นที่กังขาของคนอีกจำนวนไม่น้อย เพราะเริ่มเห็นประเด็นปัญหาก่อเกิดเป็นรูปเป็นร่างให้เห็นชัดตาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทุจริตในกระบวนการจำนำ ถัดมาคือประสิทธิภาพการบริหารจัดการสต็อกของรัฐที่จะไปเกี่ยวข้องกับวงเงินงบประมาณ และความเสียหายที่รัฐจะต้องเข้าไปอุดหนุนในที่สุด 

           ล่าสุดเป็นความวิตกกังวลจากกลุ่มนักวิชาการที่เห็นว่า การจำนำข้าวทุกเม็ดกลายเป็นการผูกขาดการค้าข้าวโดยรัฐ จนทำลายกลไกการค้าเสรี อันเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 84(1) 

           ทั้งหมดที่ว่ามา ล้วนเป็นบ่อเกิดของหายนะในระบบตลาดข้าวไทยในอนาคต ที่ทุกฝ่ายทั้งที่เกี่ยวข้องในวงการข้าว คือ ชาวนา โรงสี ผู้ส่งออกข้าว และที่ไม่เกี่ยวข้องแต่ในฐานะประชาชนคนไทย ต่างแสดงความวิตกกังวลถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการจำนำข้าวเปลือกแบบบิดเบือนวัตถุประสงค์ดั้งเดิม ด้วยการจำนำข้าวทุกเม็ดและงบประมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งล่าสุดมีการตั้งวงเงินสูงขึ้นถึงกว่า 4 แสนล้านบาท

 

เปิดโอกาสให้ทุจริตในระบบ 

 

           แน่นอนว่าทุกฝ่ายต่างต้องการสนับสนุนแนวทางการเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนาพร้อมยกระดับราคาสินค้าข้าว ตามวัตถุประสงค์ที่ฝ่ายรัฐบาลมักจะนำขึ้นมากล่าวอ้าง แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นจุดบอดสำคัญของโครงการที่เปิดโอกาสให้มีการตักตวงผลประโยชน์ ซึ่งในเรื่องนี้ นายจำเริญ ณัฐวุฒิ เจ้าของโรงสีข้าวเจริญพาณิชย์ กำแพงแสน จำกัด กล่าวยืนยันในการเสวนาเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เมื่อต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา 

           "เดิมผมต่อต้านโครงการจำนำมาตลอด แต่ไม่สามารถอยู่รอดได้ถ้าไม่เข้าร่วมโครงการ สมัยนั้นประกาศรับจำนำที่ราคาเกวียนละ 13,800 บาท ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ 9,000 บาท ซึ่งไม่ว่ากระบวนการจะยากลำบากแค่ไหนก็เชื่อว่าทุกคนจะนำข้าวเปลือกไปเข้าโครงการแน่นอน ขณะที่ตัวผมยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ทั้งต้องเลี้ยงดูคนงาน ทำให้ธุรกิจที่อาศัยตามกลไกตลาดอยู่ไม่ได้ จึงต้องกระโดดเข้ามา" นายจำเริญ กล่าว

           นายจำเริญ กล่าวอีกว่า โครงการจำนำข้าวเป็นนโยบายที่มีโอกาสทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย พบมีการทุจริตในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการขอหนังสือรับรองที่พบมีการรับรองที่นาเกินความเป็นจริง ถือเป็นปฐมเหตุของการสวมสิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีอีกส่วนที่ทำกันเป็นกระบวนการใหญ่คือ นำบุคคลที่ไม่ใช่เกษตรกรหลายร้อยคนมาขึ้นทะเบียนเกษตรกร จนกลายเป็นกระบวนการขนข้าวมาจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อมาสวมสิทธิ์ ขณะที่การตรวจสอบพบว่าไม่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอ ไม่รู้วิธีการตรวจจับ ทั้งไม่เอาจริงเอาจังกับหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบมา 

           ในส่วนของโรงสี บางส่วนเกิดกรณีการหักความชื้นที่เกินความเป็นจริง หรือโกงการชั่งน้ำหนัก เป็นการเอาเปรียบชาวนา โดยชาวนาเองก็ต้องยินยอม เพราะไม่มีที่เก็บข้าว หรือการจะขนย้ายไปโรงสีแห่งอื่นก็มีความยากลำบาก เพราะพื้นที่อยู่ห่างไกล จะเกิดการเสียเวลาและเสียค่าต้นทุนการขนส่งเข้าไปอีก เป็นต้น ตลอดจนขั้นตอนอื่นๆ มีทั้งการไปขึ้นเงินที่ ธ.ก.ส. การตรวจรับข้าวเข้าคลังโดยเซอร์เวเยอร์ หรือแม้กระทั่งขั้นตอนในการระบายข้าวสต็อกรัฐที่ไปเกี่ยวข้องกับผู้ส่งออก

 

ข้อกังขาการบริหารสต็อกรัฐ 

 

           ด้วยนโยบายที่ออกแนวสุดโต่งคือการรับจำนำข้าวทุกเม็ดนั้น ทำให้รัฐมีข้าวอยู่ในมือจำนวนมาก ขณะเดียวกันข้าวก็เป็นสินค้าที่เก็บไว้ได้ไม่นาน ยิ่งนับวันมีแต่จะเสื่อมคุณภาพลง จึงทำให้มีการติดตามถึงแนวทางการบริหารสต็อกข้าวรัฐจะเป็นอย่างไร 

           โดย 2 แนวทางที่กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะได้รับมอบหมายให้ดำเนินการระบายข้าวนั้น คือ การเปิดประมูลข้าวเป็นการทั่วไป ซึ่งวิธีดังกล่าวปัญหาใหญ่ติดขัดในเรื่องของราคา และเงื่อนไขการระบายข้าวที่ทำให้การเปิดประมูลข้าวมาถึง 5 ครั้ง แต่สามารถขายได้เพียง 2 ครั้งหลังสุดเท่านั้น และในปริมาณที่ยังไม่นานนัก รอบแรกขายได้กว่า 2 แสนตัน ขณะที่รอบสองขายได้เพียงหลัก 5 หมื่นกว่าตันเท่านั้น 

           อีกแนวทางหนึ่งคือ การขายที่เรียกว่า จีทูจี หรือเป็นการเจรจาซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ที่ล่าสุด นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ แถลงข่าวว่า สามารถเจรจาขายข้าวและลงนามในสัญญาซื้อขายแล้วถึง 6 สัญญา รวมเป็นปริมาณข้าวสาร 7.3 ล้านตัน และอยู่ระหว่างการส่งมอบในบางส่วน โดยภายในปีนี้จะดำเนินการส่งมอบได้ 2 ล้านตัน 

           อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามจากผู้ส่งออก ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวการส่งออกข้าวนั้น ระบุว่า การส่งออกข้าวตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ยังเป็นตัวเลขการส่งออกของผู้ส่งออกที่เป็นภาคเอกชนล้วนๆ และยังไม่พบว่าเป็นการส่งออกที่เกิดจากการขายของฝ่ายรัฐบาล ยกเว้นเมื่อต้นปีที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) ไปทำสัญญาขายข้าวให้อินโดนีเซียเมื่อสมัยรัฐบาลชุดก่อน แต่มีการส่งมอบจริงเมื่อต้นปีนี่เอง 

           ผู้ส่งออกรายเดิมกล่าวด้วยว่า การที่กระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าปีนี้จะขายข้าวให้ได้อย่างน้อย 2-3 ล้านตันนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หรือแม้ว่าจะมีการทำสัญญาซื้อขายจริงก็ไม่น่าจะส่งมอบได้ทันภายในปีนี้ ก็ต้องเลื่อนออกไปเป็นปีหน้าต่อ ทั้งนี้ แม้ในช่วง 3 เดือนที่เหลือจะมีการส่งมอบข้าวผ่านระบบจีทูจีบ้าง แต่ก็เชื่อว่าจะเป็นจำนวนไม่มากนัก และไม่น่าจะถึง 1 ล้านตันด้วยซ้ำ 

           ขณะที่ นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ในกรณีการขายข้าวแบบจีทูจี ส่วนใหญ่จะเป็นการขายในราคาที่ขาดทุนหรือต่ำกว่าตลาด ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคในต่างประเทศได้ซื้อข้าวไทยในราคาถูก นับเป็นการเสียประโยชน์ของคนไทยที่เสียภาษีทุกคน อีกประเด็นหนึ่ง เงินที่รั่วไหลจากการตักตวงผลประโยชน์ใส่ตนของแต่ละฝ่าย ควรที่จะนำมาสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรดีกว่าหรือไม่ ทั้งในด้านการพัฒนาพันธุ์ การเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน เป็นต้น 

           “การที่รัฐคิดแต่การเพิ่มรายได้ แต่ไม่เข้าไปช่วยลดต้นทุนให้แก่ชาวนา ก็จะมีแต่จะทำให้กำไรของชาวนาลดลงไป และในอีก 3-4 ปีข้างหน้า หากชาวนาเรียกร้องจะเพิ่มแต่ราคาจำนำขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งเป็นผลเสียต่อราคาอาหารในประเทศให้ถูกยกระดับขึ้นมาในที่สุด”

 

ชี้ตัวการทำลายตลาดข้าว 

 

           นอกจากนี้ประเด็นผลเสียที่ทุกฝ่ายต่างมองเห็นอนาคต คือระบบตลาดข้าวที่ถูกผูกขาดโดยรัฐ กลายเป็นการทำลายกลไกตลาดข้าวที่ก่อเป็นรูปเป็นร่างมาอย่างยาวนาน โดยนายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า นโยบายการจำนำข้าวทุกเม็ดกลายเป็นการวางระเบิดเวลาในอนาคต สร้างความหายนะให้แก่อนาคตข้าวของไทย โดยส่งผลให้กลไกตลาดในการแยกแยะคุณภาพข้าวล้มเหลว เนื่องจากการจำนำเป็นการรับซื้อแบบคละเกรด ทำให้ต่อไปชาวนาจะไม่คำนึงถึงคุณภาพในการเพาะปลูกข้าวอีกต่อไป เพราะจะขาดแรงจูงใจในการผลิตข้าวคุณภาพดี โดยเน้นปลูกข้าวที่มีระยะเวลาการเก็บเกี่ยวเร็วและได้ผลผลิตสูง 

           นอกจากนี้ การเก็บข้าวในสต็อกจำนวนมากและไม่มีการระบายออกสู่ตลาดจะทำให้คุณภาพของข้าวเสื่อมลง และมีการพูดถึงการใช้สารเคมีในการรักษาคุณภาพข้าวที่อาจเป็นสารตกค้างได้ 

           นายอดิศน์ กล่าวด้วยว่า การกำหนดราคาจำนำที่สูงเกินราคาตลาด เป็นการส่งสัญญาณทางราคาที่บิดเบือน ทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวเกินศักยภาพ นำไปสู่การบิดเบือนโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตร มูลค่าการผลิตสินค้าเกษตรก็จะลดลง จนในที่สุดโครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวไทยที่พัฒนามาเป็นอย่างดีก็ถูกทำลายลง และการประกาศราคาข้าวที่สูงขึ้น ทำให้ประเทศไทยขาดความสามารถในการแข่งขันในตลาดการค้าข้าวโลก

 

 

--------------------

(ตีแผ่ปัญหาจำนำข้าว (ทุกเม็ด) ... สร้างวิบากกรรมสู่ "คนไทย" : รายงานพิเศษ : โดย...อนัญชนา สาระคู)

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ