ข่าว

ปปช.วางยุทธศาสตร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปปช.วางยุทธศาสตร์ 'บูรณาการปราบทุจริตประเทศไทย' : คอลัมน์สัมภาษณ์พิศษ

            "ที่เรากลัวตอนนี้ก็คือทุจริตเชิงนโยบาย เราก็จัดสัมมนาเรื่องนี้ไป เพราะมันเป็นเรื่องของค่านิยมมาเกี่ยวข้องด้วย"

            "โกงรับได้ถ้าพัฒนาประเทศ ลงได้ชื่อว่าโกงแล้วมันจะพัฒนาได้อย่างไร อันนี้ต้องช่วยกัน"

             ป.ป.ช.เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 2 บูรณาการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ชี้ปัญหายังรุนแรงโดยเฉพาะทุจริตเชิงนโยบาย แต่หากภาครัฐจริงจัง เอกชนเข้มแข็ง ประชาชนมีค่านิยมต้านคนโกง ชาติไปรอดแน่

             นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์การทุจริตที่ผ่านมาของประเทศไทยว่ายังมีการทุจริตอีกมาก และเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ยังมีหลายเรื่องที่ถือว่าเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัส มีเรื่องมาถึง ป.ป.ช. เฉพาะกรณีเจ้าหน้าที่รัฐถึง 3,000 กว่าเรื่องต่อปี ไม่รวมตำรวจ และหน่วยงานอื่นๆ

            "ถ้าพูดถึงความเสียหาย ผมว่า เสียหายมาก กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก น่าจะประมาณแสนล้านบาทขึ้นไป ดูจากงบรัฐวิสาหกิจ 5-6 แสนล้านบาท เขาบอกว่า ประมาณ 20% แต่ที่ ป.ป.ช.กลัวขณะนี้ คือ ทุจริตเชิงนโยบาย ปปช.จัดสัมมนาเรื่องนี้ไปแล้ว เพราะมีเรื่องค่านิยมมาเกี่ยวข้องด้วย ก่อนหน้านี้ผลโพลล์ออกมาว่า รับได้ ถ้าโกงแล้วประเทศพัฒนา เมื่อ 2-3 วันนี่ ก็สำรวจออกมาอีก เป็นการเอาเรื่องส่วนตัวมาเป็นหลัก ตรงนี้คือเหตุผลที่ ป.ป.ช.จำเป็นต้องขับเคลื่อนภูเขาลูกใหญ่นี้ออกไป ป.ป.ช. ต้องทำให้สังคมไม่ยอมรับเรื่องการทำผิดคุณธรรม ไม่ยอมรับคนโกง" นายปานเทพ กล่าว

             นายปานเทพ กล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องที่ ป.ป.ช.ต้องทำคือ การปรับภาพลักษณ์ของประเทศ โดยใช้ดัชนีความโปร่งใส (CPI) เป็นตัวชี้วัด เป็นแนวคิดของเยอรมนีที่ไปศึกษามา ทั้งนี้ 17-18 ปีที่ผ่านมา คะแนนที่วัดได้ของประเทศไทย เต็ม 10 ได้ไม่เคยเกิน 3.8 มื่อเดือนธันวาคม 2554 ประเทศไทยได้ 3.4 คะแนน ตกจากปี 2553 ที่ได้ 3.5 คะแนนตอนนั้นเท่ากับประเทศจีน แต่ตอนนี้จีนขยับขึ้นไปแล้ว แต่ไทยลดลง

            "ในส่วนของ ป.ป.ช. เราพยายามออกยุทธศาสตร์ไปแล้วลายอย่าง เพื่อให้นานาชาติมองเห็น เราจัดประชุมนานาชาติ และเราได้แสดงความจำนงว่า จะเป็นภาคีอนุสัญญาต้านสินบนข้ามชาติ เราทำไปเยอะ แต่ก็ไม่ดีขึ้น ผมก็ไปถามเขาบอกว่า ตรงนี้ไม่คิด เขาคิดตรงที่เขามาทำเองมาถามเองว่า ตรงนั้นพอใจไหม ตรงนี้มีไหม นักธุรกิจต่างชาติเขาก็ตอบไปว่า มี คะแนนมันก็เลยตก เพราะฉะนั้นสถานการณ์ของเราไม่ดีขึ้นเลย" นายปานเทพ กล่าว

             ประธาน ป.ป.ช.กล่าวอีกว่า ป.ป.ช.ได้วางยุทธศาสตร์ชาติในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทำงานเป็นวิชาการ ไปขอข้อมูลจากองค์กรต่างๆ แล้วเอามาสรุปว่า ป.ป.ช.ให้ความสำคัญ 4 เรื่อง เป็นยุทธศาสตร์ปี 2551-2554 ได้แก่ 1. ค่านิยม ป.ป.ช.ส่งเสริมในด้านคุณธรรม ความซื่อสัตย์ มีโครงการส่งเสริมคนดี ปลุกจิตสำนึกเพื่อป้องกันปัญหา 2.การดึงเอาภาครัฐเข้ามาช่วยขับเคลื่อนผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐบาล 3.ดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพราะการทุจริตจะเกิดขึ้นได้จาก 3 องค์ประกอบครบ คือ รัฐ เอกชน และประชาชน และ 4.สร้างความเข้มแข็งให้แก่ฝ่ายตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. ปปง. รวมทั้ง ป.ป.ท. โดยเฉพาะ ป.ป.ช. ต้องแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีการให้สินบนแก่ผู้ที่ชี้เบาะแส เมื่อคดีสิ้นสุดมีการยึดทรัพย์ ผู้ให้เบาะแสก็จะได้รับสินบน แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท

             "เรื่องสำคัญอีกเรื่อง คือ เรื่องอายุความ ป.ป.ช.ก็แก้ใหม่ว่า เมื่อศาลออกหมายจับแล้ว ยังไม่นำตัวมาดำเนินคดี ก็ให้อายุความหยุดอยู่ตรงนั้นก่อน นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องการกำหนดราคากลาง ซึ่งความจริงแล้ว กฎหมายกำหนดไว้ว่า ให้หน่วยงานรัฐกำหนดราคากลาง โดยให้ ป.ป.ช.กำหนดเกณท์การตั้งราคาและการชี้แจงถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมด บริษัทเอกชนก็รู้ว่า ต่อไปนี้มีค่าใช้จ่ายอะไร เขาต้องชี้แจง เช่น ค่านายหน้า ค่าล็อบบี้ยิสต์ ที่เขาเรียกว่า UTM เป็นตัวย่อ undertable money ก็ต้องแจ้งด้วย" นายปานเทพ กล่าว

              ประธาน ป.ป.ช.ย้ำว่า เรื่องทุจริต เป็นเรื่องที่ซับซ้อน และผลการทำงานที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ายังไม่พอใจ เพราะยังไม่ได้ตามที่วางเป้าไว้ ที่ผ่านมาได้รับบทเรียนที่จะนำไปปรับปรุงในยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การแก้ปัญหาหลักๆ ภาครัฐต้องเป็นตัวขับเคลื่อนในทางปฏิบัติให้ชัดเจน ทั้งในด้านกฎหมาย งบประมาณ และอีกเรื่องที่สำคัญก็คือ ภูเขาค่านิยม ซึ่ง ป.ป.ช.หวังว่า การดึงศาสนามาช่วยขับเคลื่อนกล่อมเกลาจิตใจ น่าจะช่วยได้มาก

               ด้าน ศ.ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวถึงการจัดสัมมนาของ ป.ป.ช. ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า เป็นการหาบทสรุปในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แรกของ ป.ป.ช.ที่เริ่มเมื่อปี 2551 ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนประมาณ 1,000 คน และได้รับทราบนโยบายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ไปบรรยาย และ ป.ป.ช.ก็ได้แลกเปลี่ยนกันในภาคเช้า มีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ เข้าฟังการสัมมนาด้วย

               "วันนั้นมีการเชิญประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมาด้วย แต่ท่านไม่ว่าง ท่านได้ส่งประธานวุฒิสภามาแทน แต่สุดท้ายก็ส่งตัวแทนมาอีก ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของผู้จัดงาน ป.ป.ช.อยากให้ฝ่ายนิติบัญญัติมาฟังยุทธศาสตร์ของเรา เพื่อจะได้รับทราบว่า ฝ่ายนิติบัญญัติทำอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย แต่ก็น่าเสียดายที่ไม่มีผู้ใหญ่ฝ่ายนิติบัญญัติมาฟังเลย ผมขอยกตัวอย่างข้อกฎหมาย ที่แม้จะดูเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่ผลกระทบกว้างไกลและต่อเนื่อง เช่น การแก้กฎหมายอาญา ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงเจ้าหน้าที่ต่างประเทศ ยังไม่ได้แก้ พอเป็นปัญหาเรื่องข้ามชาติ จะไปเรียกทรัพย์คืนในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็ไม่ได้ ติดขัดไปหมด ก่อนหน้านี้ กระทรวงยุติธรรมเคยเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และนำเข้าสภา แต่ยังไม่ทันได้พิจารณา ก็เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ พอรัฐบาลใหม่ก็ไม่ยืนยันใน 60 วัน ร่างกฎหมายนั้นก็ตกไป มีทั้งหมด 3 ฉบับ เรื่องนี้หากจะใช้ร่างเดิมก็ได้ แต่ปัญหาคือ ต้องไปเริ่มใหม่จากกระทรวงยุติธรรมอีก ไม่รู้จะเสียเวลาไปอีกเท่าไหร่" ศ.ภักดี กล่าว

                ศ.ภักดี กล่าวว่า ในการสัมมนาครั้งนั้น ตัวแทนทุกภาคส่วนพยายามนำเสนอแนวทางยุทธศาสตร์ 5 ปีที่ผ่านมา ยังพูดไม่ได้ว่าบรรลุเป้าหมาย เพราะดัชนีความโปร่งใสยังไม่ขยับเพิ่ม แต่สรุปได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มองในภาพรวมแล้วก็มีแนวโน้นที่ดีขึ้น เพราะได้แลกเปลี่ยนกัน นายกรัฐฒนตรีที่พูดในวันนั้น เป็นสัญญาประชาคม ที่กล่าวถึงเรื่องทุจริตว่า เป็นปัญหาสำคัญของชาติ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามไปสร้างปัญหาใหม่ให้กับส่วนอื่น ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่หัวหน้ารัฐบาลมีเจตจำนงทางการเมืองอย่างชัดเจน และการพูดครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เคยพูดมาแล้วเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ซึ่งการพูดในสัมมนาครั้งนี้ เป็นการยืนยันเจตจำนงอีกครั้ง

               "เรื่องรณรงค์สร้างจิตสำนึกเป็นสิ่งสำคัญ ต้องทำให้คนไทยรู้สึกว่า การทุจริตไม่ใช่เรื่องไกลตัว สื่อก็มีบทบาททั้งในแง่ของข่าว การให้ข้อมูลให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบต่อประชาชน ที่สำคัญคือ การเชิดชูคนดี เพื่อให้เกิดการตื่นตัว อย่างล่าสุดที่โพลล์สำรวจว่า 80% ห่วงใยปัญหาทุจริต และในนี้ 75% ตั้งใจที่จะส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ไปลงข่าวบอกว่า โกงรับได้ ถ้าพัฒนาประเทศ ถ้าได้ชื่อว่า โกงแล้ว จะพัฒนาได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องช่วยกัน" ศ.ภักดี ย้ำ

                บทสรุปจากการสัมมนาในครั้งนี้ จะนำไปสู่การปรับปรุงขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ปี 2556-2550 ปรับปรุง บูรณาการในภาครัฐ และองค์กรต่างๆ เพื่อให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

.....................................
( ปปช.วางยุทธศาสตร์ 'บูรณาการปราบทุจริตประเทศไทย' : คอลัมน์สัมภาษณ์พิศษ )

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ