ข่าว

เทคนิคปลอมบัตรประชาชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปลี่ยนฐานข้อมูลบัตรหนึ่งล้าน...แลกชีวิตใหม่ อำนาจเงินตราซื้อได้ทุกสิ่ง แม้แต่ชีวิตใหม่กระนั้นหรือ ?

คำตอบที่ได้คือ ใช่ โดยอนุมานเอาจากคดีดังนับแต่ครั้งอดีต "เหว่ย เซียะ กัง" ราชายาเสพติดที่ทางการไทยต้องการตัวมากที่สุด แถมยังมีชื่ออยู่ในลิสต์ของหน่วยปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐ (ดีอีเอ) สวมบัตรประจำตัวประชาชนใช้ชื่อ "ประสิทธิ์ ชีวินนิติปัญญา" และ "ชาญชัย ชีวินนิติปัญญา" หรือแม้กระทั่ง "สุชาติ พันธุ์เลิศกุล"

 คดีถัดมาที่แม้ไม่ครึกโครมเท่าก็โด่งดังพอให้โจษขาน เมื่อ "พ.ต.ท.ศักดา ช่างเรือ" อดีต รอง ผกก.สน.ลุมพินี ใช้วิธีสวมสิทธิ์เหยื่อสึนามิแจ้งตายหนีคดีกระทำชำเราเด็กหญิง แต่ท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นถูกจับกุมในเวลาต่อมา ปัจจุบันยังถูกคุมขังอยู่

 มาถึงคดีล่าสุดที่สุดแสนจะครึกโครม เพราะความจริงที่ซ่อนเร้นอยู่ถูกเปิดเผยออกมาหมดเปลือก ข้อเท็จจริงที่ว่าก็คือ "กันต์กนิษฐ์ อังกินันทน์" หรือ "กันต์กนิษฐ์ ชิ้นศิริ" และ "ปานจิต อังกินันทน์" และหรือ "ปานจิต ชิ้นศิริ" บุตรสาวของผู้กว้างขวางเมืองเพชรอย่าง "ปิยะ อังกินันทน์" ถูกเปิดเผยออกมาว่ายังมีชีวิต ทั้งที่เมื่อ 4 ปีก่อนสามีเธอแจ้งว่า ตายจากเหตุพิบัติภัยสึนามิที่ จ.ระนอง

 ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นสิ่งการันตีได้ว่า อำนาจเงินมีผลต่อการตัดสินใจทำสิ่งผิดให้กลายเป็นถูกได้เพียงชั่วพริบตา ด้วยเหตุที่ว่า การจะทำให้คนตายกลับฟื้นคืนชีพ หรือคนที่ยังมีชีวิตด่าวดิ้นดับสูญได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐร่วมรู้เห็นเป็นใจ !?!

 "คม ชัด ลึก" ได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ผู้ดูแลและจัดการระบบฐานข้อมูลบุคคลทั่วประเทศ เกี่ยวกับขั้นตอนการทุจริตสวมบัตรประชาชนอย่างที่คนดังหนีคดีนิยมทำกัน

 เจ้าหน้าที่เขาบอกว่า ขั้นตอนทำนั้นค่อนข้างง่าย อาศัยเพียงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะกล้าเสี่ยงหรือไม่เท่านั้น ขณะเดียวกันก็ต้องทำกันเป็นขบวนการ นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่จัดทำข้อมูลระดับล่างบางคน ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เข้าถึงข้อมูลในชั้นความลับพิเศษได้บางคน

 ความเสี่ยงที่ว่าขึ้นอยู่กับค่าตอบแทนที่จะได้รับ แม้จะไม่มีอัตราค่าบริการที่ตายตัวเหมือนข้าวของเครื่องใช้ตามห้างสรรพสินค้า แต่เท่าที่นิยมทำกันมักจะเริ่มต้นที่ 3 แสนบาท ไปจนถึง 1 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋าใครคนนั้นจะหนักเบาแตกต่างกันไป 

 มีมากดังมากจ่ายมาก มีน้อยดังน้อยจ่ายน้อย ไม่มีเลยไม่ทำให้ !!!

 ตัวอย่าง นาย ก.มีคดีฉกรรจ์ติดตัวอยากเปลี่ยนเลข 13 หลัก ชื่อ-นามสกุล ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทุจริตในสำนักทะเบียนราษฎร แจ้งความจำนงและจ่ายเงินค่าจ้าง กระบวนการสรรหาชื่อเสียงเรียงนามใหม่จะเริ่มต้น โดยเจ้าหน้าที่จะค้นหาบุคคลในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร เลือกเอาคนที่มีรูปร่างหน้าตา ส่วนสูง และอายุใกล้เคียงกันมากที่สุด

 เมื่อเลือกได้แล้วก็จะตรวจสอบต่อไปว่า บุคคลผู้นั้นได้ทำบัตรประชาชนหรือไม่ ถ้าเคยทำ แต่ไม่มีการติดต่อทำธุรกรรมใดๆ กับสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอนานมากแล้ว ให้ถือเสียว่าคนผู้นั้นอาจเสียชีวิตและไม่ได้แจ้งตายไว้ หรือให้เข้าใจไปว่าเป็นบุคคลสาบสูญ จากนั้นก็ติดต่อ นาย ก.ให้มาทำบัตรประชาชนกับเจ้าหน้าที่ผู้ทุจริต

 ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ระบบเก็บข้อมูลของสำนักทะเบียนราษฎรได้พัฒนาขึ้น มีการจัดเก็บลายนิ้วมือบริเวณหัวแม่มือทั้งสองข้าง จากเดิมที่เพียงแค่สแกนลายนิ้วมือไว้แค่ 4 นิ้วเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ยามที่ นาย ก.ทำบัตรประชาชนใหม่เป็นชื่อของบุคคลอื่นที่นำมาสวม ระบบคอมพิวเตอร์จะยืนยันข้อมูลที่พบผิดพลาดเกี่ยวกับลายนิ้วมือนั้นๆ

 "เมื่อตรวจพบว่าลายนิ้วมือไม่ใช่ของคนคนนั้น คอมพ์ก็จะเด้งขึ้นมาทุกครั้งว่า ข้อมูลผิดพลาดๆ แต่เครื่องไม่ได้ฉลาดถึงกับบอกได้ว่า ลายนิ้วมือที่พบนั้นเป็นของใคร เหตุใดถึงไม่ใช่ของเจ้าของชื่อ วิธีแก้ก็คือ เจ้าหน้าที่คนที่ทุจริตจะแจ้งกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งสามารถเข้าไปแก้ไขข้อมูลในชั้นนี้ได้ ด้วยการยืนยันว่าเป็นคนคนเดียวกัน หักล้างกับความผิดพลาดที่คอมพิวเตอร์ตรวจพบ แค่นี้เรื่องก็ผ่าน"

 เมื่อขั้นตอนทุกอย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว นาย ก.จะเป็นเพียงอดีต ชีวิตใหม่ของเขาผูกติดอยู่กับคนที่เขาสวมบัตร หมายเลข 13 หลักก็จะเปลี่ยนไป ชื่อ-นามสกุลเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญคือ เมื่อได้บัตรประชาชนใบใหม่แล้ว สามารถนำไปทำธุรกรรมทางการเงินได้ทั้งหมด รวมถึงทำหนังสือเดินทางในชื่อใหม่ได้ทันที เนื่องจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง จะเชื่อมโยงไปยังฐานข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศโดยอัตโนมัติ

 ยังมีอีกวิธี คือ การสวมชื่อบุคคลที่ในชีวิตนี้ไม่เคยทำบัตรประจำตัวประชาชนมาก่อนเลย วิธีการนี้ทำได้ง่าย แต่การค้นหาคนที่ว่าให้ได้นั้นค่อนข้างยาก เพราะจะมีสักกี่คนในประเทศที่พอครบกำหนดทำบัตรประชาชนแล้วไม่ได้ไปทำ ?

 "มันค่อนข้างเสี่ยงนะ ถ้ามีปัญหาภายหลัง เช่น เจ้าของบัตรที่โดนสวม วันดีคืนดีไปติดต่อกับทางราชการ แล้วตรวจพบว่าอยู่ดีๆ ลายมือก็ไม่ใช่ของเขา รูปร่างหน้าตากลายเป็นคนอื่นไป เจ้าหน้าที่ที่ทำก็ต้องเดือดร้อน เพราะในฐานข้อมูลสามารถตรวจสอบได้ว่า เจ้าหน้าที่คนไหนเป็นคนทำบัตรที่มีปัญหา"

 ล่าสุดมีขบวนการสวมบัตรไปติดต่อชาวเขาที่ไม่ได้ทำบัตร ขอซื้อสิทธิ์ แล้วให้ผู้ใหญ่บ้าน หรือข้าราชการในพื้นที่รับรอง พาไปให้ปลัดอำเภอสอบสวนทวนความ แล้วก็ทำบัตรใหม่ แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องทำเป็นขบวนการเช่นกัน 
 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ