Lifestyle

TQFมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษาการันตีคุณภาพ หรือสร้างภาระงาน?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ระบบการศึกษาไทยตอนนี้ไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องปฎิรูปการศึกษาเท่านั้น ที่ยังหาที่สิ้นสุดไม่ได้ แต่ยังมีเรื่องของ “TQF (Thai Qualifications Framework for Higher Education) หรือ กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.)” ที่ยังหาจุดเชื่อมต่อระหว่างอาจารย์ที

 “TQF” เริ่มขึ้นสมัย อดีตรมว.ศึกษาธิการ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) พิจารณาภาพรวมของกรอบTQF มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้หรือ Learning Outcomes ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำเชิงคุณภาพเพื่อประกันคุณภาพบัณฑิต รวมไปถึงเป็นการสร้างความเข้าใจและความมั่นใจในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการ ชุมชน เกี่ยวกับคุณลักษณะของบัณฑิตที่คาดว่าจะพึงมี

 ทว่า เมื่อประกาศใช้ TQF กลุ่มคณาจารย์หลายกลุ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรียกร้องให้กกอ.ทบทวนการประกาศใช้ TQF อีกครั้ง ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 1 ใน 372 คนที่ลงนามคัดค้านกรอบ TQF กล่าวว่า กรอบ TQF ขาดการมีส่วนร่วมของนักวิชาการหนุ่มสาว โดยเฉพาะพนักงานมหาวิทยาลัย นอกจากจะไม่บรรเทาปัญหายังเป็นการซ้ำเดิมให้สับสนในทิศทางที่ควรจำเป็น เพราะการนำกรอบที่มีรายละเอียดจำนวนมากเช่นนี้ทำให้จำกัดโอกาสในการเป็นไปได้ทางการสร้างสรรค์ทางวิชาการอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเป็นการลดทอนความหลากหลายและภารกิจที่ต่างกันของอุดมศึกษาไทย

 เช่นเดียวกับ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตนมีจุดยืนที่จะไม่รับ TQF เนื่องจาก สกอ.ต้องการเห็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้ จากคุณภาพบัณฑิต แต่ใช้ระบบเอกสารโดยการกรอบเอกสาร TQF จำนวนมาก เป็นการใช้เครื่องมือที่ผิดฝาผิดตัว สกอ.นำต้นแบบ TQF มาจากประเทศอังกฤษ โดยไม่ปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย และ TQF ก็ไม่ใช้ระบบประกันคุณภาพ ดังนั้น กกอ.ควรมีประกาศถอนการบังคับใช้ TQF

 ส่วนของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เห็นด้วยกับการนำ TQF อย่าง ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ มาใช้ กลับมองอีกมุมหนึ่งว่าหลักของ TQF เปรียบเสมือนเครื่องหมายรับประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยว่าดีหรือไม่ เช่นเดียวกับเครื่องหมาย อย.ของกระทรวงสาธารณสุขในการรับประกันสินค้า ซึ่งตนมองว่าเป็นกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ ที่ทำให้มหาวิทยาลัย คณาจารย์มีแนวทางในการปฏิบัติงานที่ชัดเจนขึ้น มีแผน มีผลการประเมิน ที่แน่ชัด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเรื่องของเอกสารที่สกอ.ส่งมาเยอะมาก และไม่ได้สรุปให้เห็นความชัดเจนของการทำTQF เห็นเพียงกองเอกสารที่คณาจารย์ต้องทำ ทำให้หลายฝ่ายยังเข้าใจผิด คิดว่าTQF คือการสร้างภาระงาน เอกสารเท่านั้น

 “TQF เป็นกรอบมาตรฐานคุณวุฒิที่ทำให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ รวมไปถึงเป็นการสร้างมาตรฐานของมหาวิทยาลัยร่วมด้วย ซึ่งคุณลักษณะ หรือมคอ.1-7 ที่ทางสกอ.กำหนดมานั้นเป็นเพียงตัวอย่าง มาตรฐานขั้นต่ำ มหาวิทยาลัยจะเพิ่มเติมคุณลักษณะบัณฑิตให้ตรงตามที่สกอ.กำหนด หรือมากกว่าก็ย่อมได้ เป็นสิทธิ์มหาวิทยาลัย ดังนั้น ผมเห็นด้วยที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ เพื่อเป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพของสาขา คณะ และมหาวิทยาลัย”

 รศ.ดร.มณฑล ลีลาจินดาไกรฤกษ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า TQF เป็นการกำหนดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ ที่แต่ละมหาวิทยาลัยสามารถเพิ่มเติมคุณลักษณะของบัณฑิตที่ตรงกับความต้องการมหาวิทยาลัยได้ เพราะกรอบดังกล่าวไม่ได้ยึดติดตายตัว แต่สามารถยืดหยุ่นตามความเหมาะสมของแต่ละมหาวิทยาลัย อีกทั้งมคอ.3-7 เป็นเรื่องที่คณาจารย์ทุกคนต้องกระทำอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียนการสอน การประเมินผล ซึ่งประยุกต์เชื่อมโยงให้ตรงกับมคอ.ต่างๆ ได้ ดังนั้น โดยส่วนตัวมองว่าไม่เป็นการสร้างภาระงานอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม กรอบTQF ขณะนี้มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้นสกอ.ควรจะจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกๆ ฝ่ายน่าจะเป็นการดีที่สุด

 ดูท่าแล้วข้อยุติ วิพากษ์ระหว่างอาจารย์เกี่ยวกับTQF สกอ.คงต้องจัดเวทีใหญ่รับฟังความคิดเห็นจากอาจารย์รุ่นเก่า พนักงานมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ รวมไปถึงชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับ เอกสารปึกใหญ่ ตัวอย่างกรอบTQF อย่างเร่งด่วนแล้ว!!!!

 0 ชุลีพร อร่ามเนตร 0 รายงาน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ