ข่าว

"วงศ์เทวัญ-บูรพาพยัคฆ์" ร้าวลึก!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กลายเป็นประเด็น "ทอล์กออฟเดอะทาวน์" ขึ้นมาในแวดวงสีเขียวทันที หลังจากเกิดเหตุการณ์ "ไอ้โม่งชุดดำ" ขนอาวุธสงครามทั้งเอ็ม 16 อาก้า และเอ็ม 79 ยิงถล่ม "นักรบบูรพาพยัคฆ์" ในการสลายม็อบเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เมษายน

 การสูญเสีย พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการ พล.2 รอ. และการถูกสะเก็ดระเบิดเอ็ม 79 จนได้รับบาดเจ็บสาหัสของ พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.ร.2 รอ.) จนทหารปักใจเชื่อว่างานนี้ต้องมีการ "ชี้เป้าสังหาร"

 เชื่อด้วยว่า คนที่ชี้เป้าและลงมือก็น่าจะเป็น "ทหาร" ด้วยกัน แต่เป็น "ทหารแตงโม" ทั้งใน และนอกราชการที่รับใช้ฝ่ายตรงข้าม และเฝ้ามองการเติบใหญ่ของทหารในสายบูรพาพยัคฆ์ด้วยสายตาไม่เป็นมิตร !

 ดังนั้น ศัพท์บัญญัติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เย้ยหยันกองทัพ และให้กำลังใจคนเสื้อแดงมาตลอด จึงไม่ใช่แค่มุกตลกปลอบขวัญคนเสื้อแดงอีกต่อไป หากแต่เป็นเรื่องจริงที่แสดงให้เห็นถึงรอย "ร้าวลึก" ในกองทัพได้อย่างชัดเจนยิ่ง

 โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ถูกวางไลน์ให้อยู่ในสายบูรพาพยัคฆ์กันยาวเหยียด เริ่มตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. ที่ถ้าฟ้าไม่ถล่มดินทลายเสียก่อน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็จะประเคนเก้าอี้ ผบ.ทบ. คนต่อไปให้แน่นอน

 ถัดจาก พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะเป็นคิว พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ก่อนจะตบท้ายด้วย พล.ต.วลิต ซึ่งเกือบเอาชีวิตไม่รอดในการบัญชาศึกหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา และน่าจะมีการวางคิวนายทหารระดับ เสธ.อีกยาวเหยียดในสายบูรพาพยัคฆ์ไว้สืบทอดอำนาจ

 การวางไลน์ให้ขึ้นสืบทอดอำนาจแบบ "ยกแผง" ของเหล่านักรบบูรพาพยัคฆ์ย่อมทำให้ทหารในไลน์อื่น หรือเหล่าอื่นน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะคิดว่าต่อให้โชว์ผลงานดีแทบตาย แต่ถ้าไม่อยู่ในไลน์พี่น้องบูรพาพยัคฆ์ก็ยากที่จะก้าวไปสู่ส่วนยอดสุดของกองทัพ

 ฉะนั้นรอยร้าวในกองทัพที่นำมาสู่ความไม่เป็นเอกภาพ กระทั่งนำมาสู่ทหารแตงโม จึงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลย และปรากฏรอยปริแยกเหวอะหวะในคราวที่บูรพาพยัคฆ์นำกำลังเข้าสลายม็อบเมื่อวันที่ 10 เมษายนนี่เอง

 ถ้ากวาดสายตาไปทั่วกองทัพ คนที่เสียประโยชน์จากการขึ้นแบบยกแผงของเหล่าบูรพาพยัคฆ์ย่อมมีอยู่เต็มไปหมด ทั้งเหล่าราบ-ม้า-ปืน-สื่อสาร-รบพิเศษ ตั้งแต่กองทัพภาคที่ 1-4

 แต่ที่มีคนพูดถึงมากที่สุดก็คือ ทหารในกลุ่มที่เรียกว่า "วงศ์เทวัญ" นั่นก็คือ ทหารคุมกำลังในสังกัด กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติรัฐประหารมาทุกยุคทุกสมัย และถูกวางไลน์ให้เป็น ผบ.ทบ.มาโดยตลอด

 น่าสังเกตว่า ผบ.ทบ. ก่อนหน้านี้ล้วนอยู่ในไลน์วงศ์เทวัญ และจำกัดวงอยู่ในตระกูลดังไม่กี่ตระกูล เช่น "ณ อยุธยา" "กรานเลิศ" "สุวรรณทัต" "อัตตะนันทน์" "หนุนภักดี" หรือ "คงสมพงษ์" เป็นต้น

 โดยจะมีการสลับช่องให้ "รบพิเศษ" ก้าวขึ้นมาเป็นครั้งคราว เช่น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

 จะเห็นได้ว่า แต่ละนามสกุลล้วนมีบทบาทสำคัญในกองทัพมาทุกยุคทุกสมัย เนื่องจาก พล.1 รอ. ถือเป็นกองพลที่สำคัญที่สุดของกองทัพบก จนเป็นที่รู้กันดีว่า ถ้าไม่เก่ง หรือแบ็กดีจริงๆ ก็ยากที่จะฝ่าด่านวงศ์เทวัญขึ้นไปเป็น ผบ.ทบ.ได้

 ถึงขนาดที่ว่าถ้าใครถูกจัดวางให้มาเป็น ผบ.หน่วยในไลน์ของวงศ์เทวัญ เช่น ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) หรือผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) ก็ฝันหวานถึงเก้าอี้ ผบ.ทบ.หรืออย่างน้อยๆ ก็ห้าเสือ ทบ.ได้เลย

 แต่เมื่อโอกาสก้าวหน้าในชีวิตราชการถูกเบียดแทรกขึ้นมาอย่างน่ากลัวของบูรพาพยัคฆ์จาก พล.2 รอ. นำโดย 3 ป ป้อม+ป๊อก+ประยุทธ์ (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ.)

 แม้จะพอเข้าใจได้ว่านี่คือช่วงที่ไม่ปกติ จากเหตุยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่เมื่อเห็นคิวยาวเหยียด และสถานการณ์การเมืองที่ยากจะเปลี่ยนแปลง ประกอบกับ พ.ร.บ.กลาโหม ที่กำหนดให้คณะกรรมการที่ฝ่ายการเมืองเป็นเพียง 1 เสียง ก็ทำให้เชื่อว่า ความเป็นไปจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เห็น

 แตงโมที่เริ่มผลิดอก ออกเป็นผลที่ค่อยๆ เปลี่ยนภายในให้เป็นสีแดงตามกาลเวลา

 ดูตามไลน์แล้วก็น่าเหนื่อยใจแทนเหล่าอื่นจริงๆ เพราะถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. กว่าจะเกษียณอายุราชการก็ตั้งปี 2557 และถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด พล.ท.คณิต และ พล.ต.วลิต ก็น่าจะเข้ามารับไม้ต่อ

 ส่วนอนาคตของนักรบวงศ์เทวัญในช่วงหลังกลับน่าวังเวงใจยิ่ง เพราะส่วนใหญ่จะถูกเขี่ยพ้นวงโคจรไปอยู่ที่กองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) จ.กาญจนบุรี

 ดังนั้น การผงาดขึ้นมาของบูรพาพยัคฆ์อันสวนทางกับการถดถอยของวงศ์เทวัญ จึงนำมาสู่รอย "ร้าวลึก" ในกองทัพที่เริ่มเห็นรอยปริแตกชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า พล.อ.อนุพงษ์ จะใช้ "ภาวะผู้นำ" สยบศึกในกองทัพได้อย่างไรในยามที่ข้าศึกยกทัพเข้ายึดเมือง

 ถ้ากองทัพที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันที่มี "ระเบียบวินัย" และ "ความจงรักภักดี" ยังไม่สามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งได้แล้ว..เห็นทีแม้แต่ประเทศชาติก็คงไม่อาจรักษาเอาไว้ได้

ทีมข่าวความมั่นคง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ