ข่าว

รายการคม-ชัด-ลึกตอนตามล่าจระเข้เขาใหญ่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากกระแสข่าวที่สร้างความฮือฮาในเว็บไซต์ www.pantip.com ว่าพบจระเข้กำลังนอนผึ่งแดดในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นำมาสู่ข่าวครึกโครมระดับประเทศ เมื่อกรมอุทยานฯ ยอมรับว่า มีจระเข้ที่ว่าจริง และกำลังเตรียมจับมาพิสูจน์สายพันธุ์ให้รู้ชัดเสียด้วย

รายการ คม ชัด ลึก  วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ.2552 ตอน : ตามล่าจระเข้เขาใหญ่ นำเสนอมุมมองรอบด้านของข่าวจระเข้เขาใหญ่ว่า จระเข้มาจากไหน รวมทั้งการค้นพบจระเข้กลางผืนป่าธรรมชาติจะให้คุณประโยชน์ต่อระบบนิเวศวิทยาอย่างไรบ้าง
มีคนนำมาปล่อย-ไม่ใช่จระเข้ธรรมชาติ

 ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้ได้ปิดลำห้วยลำตะคองเพื่อความปลอดภัย และกลัวว่าคนมามากๆ จะมีเสียงอึกทึกทำให้ตามหาได้ยาก เพราะจระเข้จะไปซ่อนตัว

 ส่วนบริเวณจุดกางเต็นท์ผากล้วยไม้ หรือบริเวณจุดเล่นน้ำเหวสุวัตไม่ได้ปิด เพราะจุดที่พบจระเข้อยู่ไกลออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร โดยการค้นหาจะใช้เรือท้องแบนออกตามหาจาก 2 ทางแล้วมาบรรจบกันตรงกลางเพื่อจับจระเข้มาตรวจดูว่าเป็นสายพันธุ์ไหน

 ความคืบหน้าการติดตามตัวล่าสุด พบเพียงตัวเดียว ห่างจากจุดที่พบครั้งแรกราว 2 กิโลเมตร แต่จระเข้ดำน้ำหนีไปได้ เบื้องต้น คาดว่าน่าจะเป็นจระเข้ที่มีคนนำมาปล่อย เพราะไม่มีรายงานการพบตามธรรมชาติในป่าเขาใหญ่มาก่อน

 ทั้งนี้ จระเข้พันธุ์ไทยที่พบตามธรรมชาติมีอยู่ 2 แห่ง คือ แก่งกระจาน มี 5 ตัว ซึ่งเป็นเพศเมียทั้งหมด และปางสีดา ประมาณ 10 ตัว ซึ่งคาดว่าน่าจะมีทั้งเพศผู้เพศเมียปนกัน ดังนั้น หากพบที่เขาใหญ่ว่าเป็นพันธุ์ไทย และเพศผู้คงจะเอาไปปล่อยที่แก่งกระจานเพื่อแพร่พันธุ์
อย่ามองน่ากลัว ช่วยอนุรักษ์-แพร่พันธุ์

 ร.อ.นพ.ปัญญา ยังประภากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท จระเข้ทองการเกษตร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากภาพที่ปรากฏยังเห็นไม่ชัดนัก จึงบอกได้ยากว่าเป็นสายพันธุ์ไหน

 อย่างไรก็ตาม ปกติจระเข้ โดยเฉพาะจระเข้น้ำจืดที่เป็นสายพันธุ์ที่มีความดุร้ายน้อยที่สุดจะไม่มีนิสัยดุร้าย และเมื่อได้ยินเสียงอึกทึก หรือกลิ่นคนก็จะวิ่งหนีแล้ว ยกเว้นถ้าเป็นจระเข้เลี้ยงอาจจะอยู่นิ่ง ถ้าได้กลิ่นคน เพราะเคยชิน จึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวว่าจะทำร้ายนักท่องเที่ยว

 ส่วนการบอกเพศก็บอกได้ยากว่าเป็นเพศไหน เพราะเห็นแต่ด้านข้าง ไม่เห็นหัวชัดเจน โดยเพศเมียหัวจะเล็กกว่า แต่ถ้าให้ชัวร์จริงๆ ต้องล้วงไปดูในทวารเพื่อดูอวัยวะเพศ ขณะที่ลายก็บอกสายพันธุ์ได้ แต่เสียดายที่ในรูปก็เห็นลายไม่ชัดเช่นกัน

 ขณะที่การตรวจที่ได้ผลยืนยัน 100% คือ การนับจำนวนโครโมโซม ถ้าเป็นสายพันธุ์น้ำจืดจะมีโครโมโซม 30 สายพันธุ์น้ำเค็ม 34 และสายพันธุ์ลูกผสม 32

 ร.อ.นพ.ปัญญามองว่า การเจอจระเข้ในธรรมชาติแบบนี้อย่ามองว่าเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ควรเปลี่ยนมุมมองว่าเป็นเรื่องที่น่าดีใจ และน่าจะอนุรักษ์ให้เขาแพร่ขยายพันธุ์ในธรรมชาติให้มากขึ้นด้วย

โชคดีที่ได้เห็นความสมบูรณ์ของป่า

 ประพนธ์ น้อยวัน นักท่องเที่ยวผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Thailand Wilderness Study ระบุว่า เคยถ่ายภาพในมุมนี้ได้ที่เขาใหญ่ และนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ไทยเทรกกิ้งเมื่อราวๆ ปลายปี 2550 ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นจุดเดียวกัน สังเกตจากขอนไม้ที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ

 ประพนธ์บอกว่า ก่อนหน้านั้นเคยไปเที่ยวเขาใหญ่มา 6-7 ครั้ง แต่เพิ่งพบครั้งนั้นเป็นครั้งแรก โดยไปกับคณะอีก 10 กว่าคน และเจ้าหน้าที่อุทยานอีก 1 คน จึงรู้สึกแปลกใจ และตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยได้ยินว่ามีจระเข้ที่เขาใหญ่มาก่อน

 ทั้งนี้ หากพบจระเข้ตามธรรมชาติอีกครั้ง เขาก็ยืนยันว่า จะเข้าไปถ่ายรูปอย่างใกล้ชิดอีก เพราะมองว่า ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่การได้เห็นสัตว์ป่าหายากนับเป็นโชคดีมากกว่าที่ได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่า แต่นักท่องเที่ยวก็ควรรักษาระยะห่างระหว่างคนกับธรรมชาติไว้บ้าง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ