ข่าว

ย้ายเสือวัดป่าหลวงตาบัวใครได้ใครเสีย..!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้ายเสือวัดป่าหลวงตาบัว ใครได้ใครเสีย..!! : ธนภัท กิจจาโกศล / สายชล ศรีนวลจันทร์รายงาน

            เบื้องหน้าเบื้องหลังปฏิบัติการย้ายเสือของกลาง 137 ตัว จาก วัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หรือวัดเสือ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี นำไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ถูกขยายประเด็นออกไปหลายทิศทาง โดยเฉพาะการพบซากลูกเสือ 40 ซาก ถูกดองและแช่แข็งพร้อมกับสัตว์ป่าสงวนหลายชนิดในวันแรก และตามด้วยการพบลูกเสือโคร่งดองเพิ่มอีก 30 ซาก พร้อมหนังเสือโคร่ง 2 ผืน เขากระทิง เขากวาง เขี้ยวเสือโคร่ง ตะกรุดหางเสือและเครื่องรางของขลังกว่า 1,000 ชิ้น นำไปสู่การตรวจสอบสแกนว่า วัดแห่งนี้เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าเสือข้ามชาติหรือไม่

ย้ายเสือวัดป่าหลวงตาบัวใครได้ใครเสีย..!!

            ปี 2544 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์ุพืช นำเสือของกลางไปฝากวัดเลี้ยงไว้ครั้งแรกจำนวน 7 ตัว หลังจากนั้นข้อมูลปี 2550 พบว่าตัวเลขเสือเพิ่มเป็น 18 ตัว และล่าสุดปี 2559 จำนวนเสือของกลางมีตัวเลขที่ 147 ตัว พร้อมกับมีการเจรจาและขนย้ายเสือของกลางเป็นระยะๆ จนสามารถย้ายไปได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากทางวัดอยู่ระหว่างทำเรื่องขอเปิดเป็นสวนสัตว์ และมีรายได้จากการเก็บค่าเข้าชมจากคนไทยที่เข้าชมหลังเที่ยง 300 บาท และชาวต่างชาติ 600 บาทต่อคน รวมทั้งกิจกรรมจากเสือ เช่น ป้อนนมหรือถ่ายรูป จึงพยายามประวิงเวลาให้เสือที่เหลืออยู่อีก 137 ตัว ยังคงอยู่ในความดูแลของวัดต่อไป

            หลังกรมอุทยานฯ พยายามดำเนินการหลายครั้ง ตั้งแต่การเจรจาระดับต่างๆ จนมาสู่กระบวนการศาลและประสบความสำเร็จ พร้อมๆ กับทางวัดมีความขัดแย้งกันจากผู้บริหารหลายฝ่าย ทำให้การขนย้ายเสือดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็วจนเสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา

            สำหรับเสือของกลางทั้งหมดจะอยู่ในความดูแลของหน่วยงานรัฐ ซึ่งปฏิบัติการครั้่งนี้ได้รับการชื่นชมจากหน่วยงานด้านสัตว์ป่าโลกและเอ็นจีโอหลายแขนง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปฏิบัติต่อเสืออย่างถูกต้อง และไม่ถูกนำไปเข้าสู่วงจรการละเมิดกฎหมายว่าด้วยสัตว์ภายในประเทศและระหว่างประเทศอีก

            “เยาวลักษณ์ เธียรเชาว์” ผู้อำนวยการกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ ประเทศไทย กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายเสือจากวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของกรมอุทยานฯ ที่ จ.ราชบุรี และคำสั่งห้ามวัดขังเสือไว้ในกรงอย่างถาวร ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ดี เพราะที่ผ่านมามีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่าวัดอาจเข้าข่ายลักลอบค้าเสือ ซึ่งเป็นสัตว์ป่า อย่างผิดกฎหมาย ซึ่งอาจกระทำมานานแล้ว ด้วยวิธีการเปลี่ยนชื่อเพื่อสวมรอยเสือตัวเก่าแล้วนำตัวใหม่มาแทน

            “วิธีการนี้จึงไม่เคยพบเสือหายไปจากวัด กระทั่งช่วงระยะเวลาหนึ่งที่เกิดความขัดแย้งขึ้น เนื่องจากตรวจสอบว่ามีเสือหายไป 3 ตัว หน่วยงานต่างๆ จึงเข้าไปจับตากระบวนการมากยิ่งขึ้น โดยหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าวัดมีการเพาะเลี้ยงเสือหรือไม่ เนื่องจากเกือบ 15 ปี ที่เสือของกลางถูกนำมาไว้ที่วัดนี้ เสือจะผสมพันธ์ุได้เมื่ออายุ 3 ปี และแต่ละปีจะสามารถมีลูกได้ถึง 2 ครั้ง ดังนั้นเสือตัวเมียแต่ละตัวจะสามารถมีลูกได้ถึงปีละ 7-8 ตัว หรืออย่างต่ำ 3-4 ตัว ตลอดเวลา 3 ปี ซึ่งถ้าเป็นไปตามธรรมชาติ จำนวนเสือที่วัดแห่งนี้จะต้องเพิ่มขึ้นกว่านี้จำนวนมาก จึงถูกตั้งคำถามว่า มีเสือหายไปหรือเข้าสู่กระบวนการค้าเสือหรือไม่”

            ทั้งนี้ จากรายงานผลการศึกษาของกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าชาวออสเตรเลีย หรือ กลุ่มซีโฟร์ไลฟ์ (Cee4life) ระบุว่า เส้นทางค้าเสือข้ามชาติจากประเทศไทยมี 2 เส้นทาง คือ เส้นทางแรก มีต้นทางมาจากประเทศพม่า ถูกลักลอบนำเข้ามาในไทยผ่านทาง อ.แม่สอด จ.ตาก ก่อนจะลำเลียงไปพิษณุโลก เพื่อมุ่งหน้าผ่านทางภาคอีสาน ขอนแก่น มุกดาหาร ออกไปทางประเทศลาว เข้าเวียดนาม ปลายทางที่ประเทศจีน ขณะที่อีกเส้นทาง ถูกระบุว่า ต้นทางมาจากประเทศพม่า หรือพื้นที่ชายแดน ลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทยผ่านทางด่านสิงขร ประจวบคีรีขันธ์ เข้าเพชรบุรี ก่อนจะมาพักของในพื้นที่นนทบุรี เพื่อมุ่งหน้าผ่านไปทางภาคอีสาน ขอนแก่น มุกดาหาร ออกไปประเทศลาว เข้าเวียดนาม และมีปลายทางที่ประเทศจีนเช่นกัน

            “เรารู้สึกผิดหวัง เมื่อวัดเสือได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์ุพืชให้มีสถานะเป็นสวนสัตว์อย่างเป็นทางการ แม้จะมีข้อกล่าวหาอันยาวนานและมีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่าวัดทำการค้าเสือ ซึ่งเป็นการลักลอบค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย ปฏิบัติการเคลื่อนย้ายเสือออกจากวัดเสือในครั้งนี้เป็นสิ่งที่รั้งรอให้ล่วงเลยมานาน และเราสนับสนุนอย่างหนักแน่นให้เคลื่อนย้ายเสือออกไปอย่างถาวร และควรตรวจสอบหาสถานที่อื่นที่กักขังเสือ ให้แน่ใจว่าเสือจะไม่ตกเป็นเหยื่อการลักลอบค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายและการทารุณกรรม หากพบสถานที่ที่ละเมิดกฎหมายว่าด้วยสัตว์ป่าภายในประเทศและระหว่างประเทศ จะต้องถูกห้ามมิให้มีการครอบครอง เป็นเจ้าของและเพาะพันธุ์เสืออีก เพราะปัญหาเสือขณะนี้อยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยงมาก” ผู้อำนวยการดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ ประเทศไทย ระบุ

            ประเทศไทยมีเสือที่ถูกขังกรงอยู่ประมาณ 1,200-1,300 ตัว ในที่ต่างๆ อย่างน้อย 33 แห่ง ขณะที่มีเสือที่อยู่ตามธรรมชาติอยู่เพียง 180 ตัวเท่านั้น การจับเสือขังไว้ในกรงขังสร้างความเสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงของประเทศในฐานะผู้นำการอนุรักษ์เสือมานาน ทั้งยังเป็นการบั่นทอนความพยายามปกป้องและอนุรักษ์เสือในป่าของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาด้วยการยกระดับพันธกรณีนี้ โดยใช้ “แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง 2553-2565” และยังแสดงให้เห็นว่า ได้ดำเนินการและปฏิบัติตามภาระผูกพันภายใต้มติที่ประชุมไซเตส ซึ่งที่ประชุมยังขอให้ประเทศต่างๆทบทวนวิธีบริหารจัดการของประเทศและควบคุมเสือที่ถูกจับขังในกรง และป้องกันมิให้เสือถูกค้าอย่างผิดกฎหมาย

            จากการตรวจสอบข้อมูลแวดวงการค้าเสือในประเทศไทยพบว่ามีช่องว่างให้มีการหลีกเลี่ยงหลายอย่าง เพราะหากมีการขยายพันธ์ุเสือตามปกติ โดยไม่มีการซื้อขายตามที่กฎหมายห้ามไว้ จำนวนเสือจะต้องเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่ปริมาณเสือปัจจุบันกลับไม่ล้นฟาร์ม ตัวเลขเสือยังคงใกล้เคียงยอดเดิม แต่มีชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ออกมาวางจำหน่าย เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบการตาย ป่วยตาย ซึ่งปกติจำนวนเกิดกับตายมักไม่สมดุลกันขนาดนี้ ขณะที่เรามักเห็นข่าวเจ้าหน้าที่สามารถดักจับการขนซากเสือแช่แข็งได้หลายพื้นที่บ่อยๆ ถูกชำแหละครึ่งตัว ไม่มีเครื่องใน ซึ่งอ้างว่านำไปฝังบ้าง แต่กลับมีการแช่แข็งมาอย่างดี เป็นข้อมูลให้ชวนสงสัยว่า เตรียมการนำไปไหน

            หลายคนถามว่า ที่ผ่านมาพระวัดที่กำลังเป็นข่าวค้าเสือหรือไม่...? ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่า เสือตายแล้วลูกศิษย์เอาไปไหน เสือเป็นสัตว์เศรษฐกิจของจีน มีรายงานว่า เสือ 1 ตัวราคาตายจากต้นทางในประเทศไทยอยู่ที่ 6-8 แสนบาท เมื่อผ่านประเทศลาว เวียดนาม ไปถึงประเทศจีน ราคาจะอยู่ที่ 1.5 ล้านบาท ส่วนหนังเสือราคาตกผืนละ 2 แสนบาท เขี้ยวถูกทำเป็นยาหรือเครื่องประดับ ราคาหลายหมื่นบาท กระดูกเสือก็นำไปทำยาอัดเม็ดหรือยาดองเหล้า ที่สำคัญคือ ตัวเดียวอันเดียวของเสือตัวผู้มีราคาสูงถึงเส้นละ 2-3 แสนบาท ที่กินแล้วบำรุงกำลัง

            ฉะนั้น มูลเหตุของการพบซากและลูกเสือกว่า 70 ซาก ถูกดองและแช่แข็งไว้ในวัด ซึ่งเป็นสถานที่เลี้ยงเสือของกลาง อาจจะเป็นผลพลอยได้จากการผสมพันธุ์ของเสือ แล้วลูกบางตัวเกิดตกออกมาตาย จึงไม่ต้องแจ้งเกิด เมื่อไม่แจ้งเกิดเสือที่ตายจึงไม่ต้องแจ้งตาย ทำให้ได้ซากเสือนำไปเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ แบบไม่ต้องเลี้ยง

            “สายหยุด เพ็งบุญชู” ทนายความมูลนิธิวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ชี้แจงว่า การเก็บซากเสือไว้เป็นการดำเนินการโดยสัตวแพทย์คนเก่า อาจจะเอาไว้เพื่อศึกษาทางวิชาการ เราให้ความร่วมมือในการตรวจดีเอ็นเอทุกอย่าง หากจะผิดอาจจะผิดตรงที่เราต้องแจ้ง แต่เราไม่ได้แจ้งถ้าเสือมีลูก ตนเข้ามาทำงานกับวัดได้เพียง 1 ปีเศษ ซึ่งระยะที่เข้ามาทำงานยืนยันได้ว่าไม่ได้มีการซื้อขายในช่วงที่ตนอยู่แน่นอน แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น มีการดำเนินการอย่างไรนั้น ไม่ทราบ

            “การให้ข้อมูลของกรมอุทยานฯ เป็นการชี้นำ โดยเฉพาะพูดถึงการนำซากเสือไปตุ๋นยาจีน ขณะที่อีกมุมอาจจะเอาไว้เป็นอาจารย์ใหญ่ศึกษา เรายังไม่รู้เลยว่าเขาแช่มากี่ปี หากเป็นซากเมื่อ 10 ปี ถ้าจะเอาไว้ขายป่านนี้ทำไมไม่ขาย ไม่อยากให้พูดเพื่อปรักปรำกัน ตอนนี้เราได้ใบอนุญาตสร้างสวนสัตว์แล้วเมื่อ 19 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา เราต้องการทำให้ถูกต้อง เกิดจากผู้บริหารวัดมีความขัดแย้งกันก็เลยออกมาแบบนี้ ตอนแรกเขาขอขนไปครั้งละ 5-10 ตัว ก็ไม่ยอม จนมีการร้องศาลและออกมาสภาพนี้” ทนายความวัดให้ข้อมูลอีกด้าน

            ทนายความผู้นี้กล่าวอีกว่า คดีต่างๆ ก็คงให้เป็นไปตามพยานและหลักฐาน ทางวัดไม่ได้มีรายได้มากมาย เพราะต้องดูแลสัตว์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก การเก็บค่าเข้าชมสำหรับคนไทยที่เข้าหลังเที่ยง 300 บาทต่อคน และชาวต่างประเทศ 600 บาทต่อคน ก็ไม่มากนัก พอเป็นเงินที่สามารถเป็นค่าใช้จ่ายค่าจ้างคนงาน 80-100 คน และค่าอาหารสำหรับสัตว์ได้ แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวเข้าชมประมาณ 100-200 คนต่อวัน บางวันที่ไม่ใช่วันหยุดก็มีประมาณ 50 คนบ้าง ซึ่งยังไม่ทราบชะตากรรมของคนงานและสัตว์ที่เหลือในวัดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

            ส่วน “เตือนใจ นุชดำรงค์” ผอ.สำนักป้องกันสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์ุพืช กล่าวว่า เรื่องของคดีทางนิติกรได้รวบรวมหลักฐานซากลูกเสือ 70 ตัว และซากสัตว์อื่นที่ตรวจพบ เพื่อแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรไทรโยคแล้ว รวมทั้งดำเนินการตัดชิ้นเนื้อของซากลูกเสือทั้งหมด เพื่อตรวจสอบว่า ซากลูกเสือทั้งหมดพ่อแม่อยู่ในวัดแห่งนี้หรือไม่และเป็นลูกของพ่อแม่ตัวไหน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

            สำหรับการดำเนินการกับเสือทั้งหมด หลังมีการขนย้ายเสร็จสิ้น “บรรพต มาลีหวล” หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี กล่าวว่า การรับเสือของกลางจากวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี มาไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 2 แห่ง คือ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน ตั้งอยู่ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง ซึ่งตั้งอยู่ ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นสถานที่เพาะเลี้ยง รวมทั้งเก็บรักษาสัตว์ป่าของกลางที่ตรวจยึดมาได้ และเสือโคร่งจากวัดป่าหลวงตาบัวก็ถือเป็นสัตว์ป่าของกลางที่นำมาเก็บรักษาไว้ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่มีความคุ้นเคยและเคยเลี้ยงดูเสือ ซึ่งสามารถรู้พฤติกรรมของเสือดูแลอย่างใกล้ชิด

            ในส่วนสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน สามารถรองรับเสือโคร่งได้จำนวน 58 ตัว ส่วนที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง สามารถรับเสือได้ถึง 80 ตัว ซึ่งทางเรามีการจัดเตรียมพื้นที่ความพร้อมและความแข็งแรงของกรง สำหรับเสือ 1 ตัว กว้าง 20x20 เมตร หรือ 40 ตารางเมตร เพื่อให้เสือได้อยู่แบบสบาย ไม่อึดอัด มีพื้นที่กว้างพอที่จะสามารถวิ่งเล่นได้ มีบรรยากาศคล้ายกับป่า ซึ่งมีความร่มรื่น ไม่ร้อน ทำให้เสือไม่เครียด และสามารถแสดงสัญชาตญาณและพฤติกรรมตามธรรมชาติได้มากที่สุด

            ขณะที่ สพญ.มัชฌนณ แก้วพฤหัสชัย สัตวแพทย์ที่มาดูแลเสือที่ถูกขนย้ายครั้งนี้ กล่าวว่า ต้องมีการตรวจร่างกายเสือ เพื่อดูค่าของเลือดว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ โดยเสือบางตัวมีประวัติอยู่แล้ว หลังจากนี้จะเริ่มให้อาหารเหมือนที่วัดเคยให้คือ ไก่ต้มไปก่อน แต่ก็ต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปเป็นผสมอาหารสด ให้น้ำ ควบคุมน้ำหนักของเสือ โดยเฉลี่ยให้อาหาร 3-5 กิโลกรัมต่อเสือหนึ่งตัวต่อวัน ส่วนความเครียดของเสือเกิดจากความระแวงจากการวางยาสลบ ปรับให้เสืออยู่โดยลำพัง ไม่ให้มีใครไปรบกวน เพื่อให้คลายเครียด หลังจากนั้นก็จะปรับพฤติกรรมต่อไป

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ