ข่าว

‘โรลลิ่งแบร์ริเออร์’ลูกกลิ้ง...สยบโค้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘โรลลิ่งแบร์ริเออร์’ลูกกลิ้ง...สยบโค้ง : จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรังรายงาน

              “โค้งชลลดา” ซึ่งเป็นทางโค้งอันตราย อยู่ใกล้กับทางเข้าหมู่บ้านชลลดา ในซอยวัดลาดปลาดุก อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เป็นจุดที่พบเห็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ที่ส่วนมากเกิดจากการแหกโค้ง หลุดโค้ง จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต ให้เห็นแทบจะรายวัน

              ซ้ำร้ายบางครั้งเกิดอุบัติเหตุที บ้านเรือนและร้านค้าแถวนั้นก็ต้องหวาดผวา เพราะเคยได้รับความเสียหายจากการถูกรถพุ่งเข้าชน บางร้านเคยถูกรถสิบล้อเสียหลักหลุดโค้งพุ่งเข้าชนบ้านจนเกือบพังทั้งหลังมาแล้ว

              ยังไม่นับรวมอุบัติเหตุแต่ละครั้งทำให้ทรัพย์สินทางราชการประเภทการ์ดเรล หรือ “แบร์ริเออร์” ที่ติดตั้งอยู่สองข้างทางในช่วงทางโค้งได้รับความเสียหายซ้ำแล้วซ้ำเล่า พังแล้วก็ต้องของบประมาณมาติดตั้งใหม่แทนของเก่า

              จึงเป็นที่มาที่แขวงทางหลวงชนบทนนทบุรีทุ่มทุนสร้างในการทดลองนำเข้าเทคโนโลยีความปลอดภัยจากประเทศเกาหลี ที่เรียกว่า “โรลลิ่งแบร์ริเออร์” หรือ “ราวลูกกลิ้งป้องกันอุบัติเหตุสาธารณะ” เข้ามาติดตั้งที่โค้งชลลดา ถือว่าเป็นแห่งแรกใน จ.นนทบุรี และเป็นแห่งที่สองในประเทศไทย ภายใต้ชื่อโครงการปรับปรุงทางเพื่อความปลอดภัย ช่วงถนนสายแยกทางหลวงหมายเลข 9 ถึงบ้านหนองเพรางาย อ.บางบัวทอง และ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ที่มีระยะทางของโครงการทั้งหมด 200 เมตร ภายใต้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างทั้งสิ้น 5.68 ล้านบาท

              โครงการนี้ประกอบด้วย การติดตั้งราวลูกกลิ้งโรลลิ่งแบร์ริเออร์นวัตกรรมจากเกาหลีความยาว 92 เมตร ถังกันชนหัวเกาะขนาด 60x90 เซนติเมตร พื้นผิวจราจรเคลือบผิวจราจรด้วยวัสดุพิเศษเพื่อลดการลื่นไถล ติดตั้งป้ายเตือน ไฟกะพริบ และทาสีสัญลักษณ์บนพื้นผิวถนน

              ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทนนทบุรี “มนัส สิงห์สง่า” ระบุว่า ใน จ.นนทบุรี ถือว่าโค้งชลลดาจุดเดียวเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยสถิติเฉพาะปี พ.ศ.2558 พบว่ามีอุบัติเหตุใหญ่ที่ได้รับรายงาน 11 ครั้ง เฉลี่ยเกิดขึ้นเกือบเดือนละ 1 ครั้ง จากเดิมใช้แบร์ริเออร์แบบราวเหล็กก็ช่วยป้องกันได้แค่ส่วนหนึ่ง แต่พบว่าเมื่อรถหลุดโค้งมาก็จะพุ่งชนแบร์ริเออร์ราวเหล็กได้รับความเสียหาย หรืออาจจะหมุนไปชนกับรถคันอื่นที่สวนหรือแล่นตามมา แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้โรลลิ่งแบร์ริเออร์อาจจะลดความสูญเสียจากการแหกโค้งของรถได้ เพราะมีการทดสอบโรลลิ่งแบร์ริเออร์โดยบริษัทเกาหลีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ขนาดเล็กหรือรถบรรทุกขนาดใหญ่ก็สามารถป้องกันได้เกิดความเสียหาย

              สำหรับโรลลิ่งแบร์ริเออร์รุ่นที่นำมาติดตั้ง เป็นรุ่นสำหรับความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยหลักการทำงาน เมื่อรถหลุดโค้งมาในความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ชนเข้ากับลูกกลิ้งของโรลลิ่งแบร์ริเออร์ ที่ถูกยึดไว้กับคานเหล็กและแกนกลางของลูกกลิ้งมีเสาเหล็กที่ยึดกับพื้นถนนในความลึก 1.30 เมตร รถจะไถลลื่นไปตามแนวของลูกกลิ้งสีเหลือง แล้วก็จะกระเด้งกลับมาสู่เส้นทางเดิมได้โดยที่รถไม่หลุดโค้ง ไม่เสียหลักตกข้างทาง และวัสดุพิเศษที่เคลือบบนผิวถนนก็ช่วยลดแรงไม่ให้รถหมุนควง

              ขณะที่ประธานคณะอนุกรรมการ สาขาวิศวกรรมจราจรและขนส่ง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ “อรวิทย์ เหมะจุฑา” เปิดเผยว่า เทคโนโลยีความปลอดภัยบนท้องถนนมีมากขึ้น อย่างเช่น เส้นจราจรเมื่อก่อนจะเห็นแค่สีขาว แต่ตอนนี้มีหลากหลายสีสัน รวมถึงการ์ดเรล ที่มีทั้งแบบเป็นราวเหล็กที่เป็นลอนเหมือนกับกระเบื้องมุงหลังคา แบบลวดสลิงที่จะใช้ในจุดที่มีต้นไม้สวยๆ แต่สำหรับโรลลิ่งแบร์ริเออร์ในประเทศไทยมีการนำมาใช้ยังไม่แพร่หลาย มีติดตั้งที่ จ.นนทบุรี และอีกจุดที่ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 หรือมอเตอร์เวย์ชลบุรี ช่วงทางแยกต่างระดับหนองขาม อ.ศรีราชา ในต่างประเทศหลายประเทศมีการนำมาใช้แล้วแพร่หลาย

              ทั้งนี้โรลลิ่งแบร์ริเออร์ดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทเดียวกับการ์ดเรลที่เป็นราวเหล็กแต่เพิ่มตัวที่เป็นลูกกลิ้งที่หมุนได้ที่ทำจากพลาสติกพิเศษที่มีความยืดหยุ่นสูงเข้าไปเมื่อมีรถมากระแทกในมุม 15-20 องศา ก็จะเกิดการยุบตัวโดยที่รถจะไม่พุ่งทะลุออกไป แต่ถ้ารถแล่นมาด้วยความเร็วและชนทำมุม 90 องศากับโรลลิ่งแบร์ริเออร์ก็อาจจะป้องกันไม่ได้ และแม้ว่าเห็นโรลลิ่งแบร์ริเออร์ราคาสูงไม่หยอก แต่ถ้าคิดคำนวณถึงความคุ้มค่าในการติดตั้งแล้ว

              “หากพูดถึงอุบัติเหตุอย่าประเมินค่ามาเป็นตัวเงิน แต่บางครั้งประเมินลำบาก เพราะบางครั้งมันสูง เราเสียหาย รถเสียหายคนบาดเจ็บ แต่ถ้าเรานึกถึงเรื่องอื่นด้วยคือเรื่องจิตใจด้วย สังคมด้วย มันประเมินค่าลำบาก ดังนั้นอะไรที่ทำให้มีประโยชน์ขึ้นมาและอยู่ในวิสัยที่จัดหาได้ก็จะเป็นประโยชน์ เพราะชีวิตคนเราประเมินค่าลำบาก เมื่อเราสูญเสียใครไปแล้วเราก็จะบอกได้ว่ามันไม่คุ้ม ซึ่งอุปกรณ์นี้คิดว่ามันคุ้มค่า เพราะถ้าประเมินราคาประมาณ 10 ล้านบาท ถ้าตีว่าชนครั้งหนึ่งความเสียหาย 1 ล้านบาท 10 ครั้งก็คุ้มแล้วกับอุบัติเหตุจุดนั้นที่เคยเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง จึงคิดว่าคุ้มค่าถ้าจะก่อสร้าง”

              อย่างไรก็ตาม ต้องบอกก่อนว่า การชนแต่ละครั้งเมื่อเกิดความเสียหายไม่ว่าจะเป็นการ์ดเรลแบบราวเหล็กธรรมดาหรือโรลลิ่งแบร์ริเออร์รุ่นใหม่ หรืออุปกรณ์ชนิดใดก็ตาม ที่ติดตั้งบนท้องถนนมีหลักการชดใช้ความเสียหายที่เรียกว่า “คนไหนชนทำให้เสียหายคนนั้นก็ต้องจ่าย” ในการซ่อมแซมและจัดซื้อใหม่แต่ชดใช้เฉพาะส่วนที่ชำรุดเสียหาย ถ้าเป็นแบร์ริเออร์ราวเหล็กธรรมดาราคาเมตรละ 1,000 กว่าบาท ถือว่าไม่สูงมาก แต่ถ้าเป็นโรลลิ่งแบร์ริเออร์รุ่นใหม่นี้ แต่ละท่อนจะมีความยาว 1.80 เมตร ราคาท่อนละ 3.7 หมื่นบาทโดยประมาณ

              แต่กระนั้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีรุ่นใหม่หรือเก่าที่รัฐต้องทุ่มงบประมาณแสวงหานวัตกรรมใหม่ๆ ราคาสูงๆ มาช่วยเซฟชีวิตประชาชน ดีที่สุดคือตัวเราเองขับรถด้วยความมีวินัย มีน้ำใจ เคารพกฎจราจร ไม่ประมาทและเมาไม่ขับ นั่นต่างหากคือนวัตกรรมในตัวเราที่เป็นต้นทุนความปลอดภัยที่ดีที่สุด


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ