พระเครื่อง

เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อสร้อยเหรียญ'สังข์ทอง'วัดเลียบราษฎร์บำรุง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อสร้อยเหรียญ'สังข์ทอง'วัดเลียบราษฎร์บำรุง กทม. : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

            หลวงพ่อสร้อย ธมฺมรโส วัดเลียบราษฎร์บำรุง ซอยกรุงเทพ-นนท์ ๔๓ ถนนกรุงเทพ-นนท์ แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีลูกศิษย์มากมายมากราบไหว้ท่านตั้งแต่เช้ายันค่ำ เชี่ยญชาญในเรื่องวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถอนคุณไสย อยู่ยงคงกระพัน เมตตารวมไปถึงการทำนายทายทัก

            อีกทั้งท่านยังเป็นพระนักพัฒนาอีกด้วย เดิมทีท่านมีภูมิลำเนาอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงอย่างประเทศกัมพูชา แต่ในอดีตเคยเป็นส่วนปกครองของประเทศไทย ซึ่งอาจจะกล่าวได้อีกอย่างว่า ภูมิลำเนาเดิมของท่านนั้นเป็นคนไทย แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนการปกครองไปเป็นของประเทศกัมพูชาไปแล้ว เมื่อย้อนถึงอดีตความเป็นมานั้นบ้านเดิมของท่านเกิดที่กัมพูชา

            การสร้างเหรียญรุ่นแรก สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ เริ่มแรกคณะผู้จัดสร้างได้ไปว่าจ้างร้านธรรมประทีป เลขที่ ๕๗ แถวสะพานหันให้ออกแบบและแกะบล็อกเหรียญรุ่นแรก โดยนายหงษ์ จันยั่งยืน เจ้าของร้านธรรมประทีป หรือเฮียหงษ์ เป็นผู้รับผิดชอบ โดยคณะผู้จัดสร้างบางท่านใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัววางเงินมัดจำล่วงหน้าไว้ก่อนจำนวน ๒,๐๐๐ บาท คณะผู้จัดสร้างบอกว่าท่านเป็นเจ้าอาวาสอีกทั้งในปีนั้นหลวงพ่อจะไปงานที่วัดดอกบัวด้วย

            ในครั้งนั้นคณะผู้จัดสร้างปรึกษากันแล้วได้ข้อสรุปว่าแกะบล็อกวัดดอกบัวขึ้นมา มีลักษณะด้านหน้าเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ ด้านล่างระบุชื่อ “พระอาจารย์สร้อย ธมฺมรโส” ด้านหลังตรงกลางมีอักขระและ พ.ศ.๒๕๑๗ รอบล้อมด้วยอักษรไทยระบุว่า “ศิษย์สร้างถวายงานผ้าป่า วัดดอกบัว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี”

            หลังจากนั้นโรงงานปั๊มเหรียญลองพิมพ์ออกมาไม่เกิน ๕ เหรียญ คณะผู้จัดสร้างจึงเอาไปให้หลวงพ่อดู พอท่านได้เห็นแล้วท่านยังไม่ทันจับเลยแล้วพูดออกมาว่า “หน้าฉันมันดูหนุ่มเกินไป และตอนนี้ตัวท่านอยู่ที่วัดเลียบ” จากนั้นท่านจึงบอกให้คณะผู้จัดสร้างท่านหนึ่งให้ไปแกะบล็อกขึ้นมาใหม่ ด้วยเหตุนี้เองคณะผู้จัดสร้างท่านนั้นจึงได้ปรึกษากับพระมหาสนิท วัดพระเชตุพน พระมหาสนิทท่านจึงแนะนำโรงงานปั๊มเหรียญที่อยู่หลังโรงแรมรอยัล (รัตนโกสินทร์) จึงได้พบกับช่างแกะบล็อกของโรงงานอายุประมาณ ๖๐ ปี ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเพาะช่างรุ่นที่ ๑ เป็นผู้ที่ออกแบบและแกะบล็อกด้านหน้าให้

            ด้านหน้ามีลักษณะเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ ระบุชื่อว่า “พระอาจารย์สร้อย ธมฺมรโส” หลังจากที่ช่างได้แกะบล็อกใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โรงงานจึงปั๊มเหรียญลองพิมพ์ออกมา 1 เหรียญเท่านั้น คือเหรียญรุ่นแรก (สังข์ทอง) หลังเรียบ เสร็จแล้วนำมาให้หลวงพ่อท่านลองดูรูปแบบอีกครั้ง พอหลวงพ่อสร้อยได้เห็นรูปแบบเหรียญด้านหน้าที่แกะบล็อกขึ้นมาใหม่แล้ว ท่านก็หัวเราะชอบใจบอกว่า “ข้าชอบแบบนี้ หน้าตาเหมือนเจ้าเงาะ” ด้วยเหตุนี้จึงนิยมเรียกเหรียญรุ่นแรกว่า “สังข์ทอง” หรือ “เจ้าเงาะ”

            ส่วนด้านหลังคณะผู้สร้างได้นำเอารูปแบบมาจากเหรียญอาจารย์ฝั้น รุ่น ๗ แต่ให้หลวงพ่อเป็นผู้เขียนอักขระใหม่ ได้ดังนี้ คือ "สะ เส นะ อุ อะ คะ สะ อะ นิ ทะ สะ นะ อะ ปะ ติ ยา อิ สวา สุ

            แล้วจึงแกะเป็นตัวอักษรไทยไว้ล้อมรอบ “ศิษย์สร้างถวายอาจารย์ วัดเลียบราษฎร์บำรุง เขตดุสิต กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๕๑๗” หลังจากนั้นคณะผู้จัดสร้างจึงสั่งให้โรงงานปั๊มเหรียญออกมาดังนี้

            ๑.เนื้อเงิน จำนวน ๒๐๑ เหรียญ

            ๒.เนื้อสำริด จำนวน ๕๐๐ เหรียญ

            ๓.เนื้อทองแดงรมดำ จำนวน ๒๐,๐๐๐ เหรียญ ซึ่งทุกเนื้อจะใช้เพียงแค่บล็อกเดียวเท่านั้น เมื่อสร้างเสร็จแล้วบล็อกเหรียญรุ่นแรกนั้นได้มีการทำลายและถูกฝังไว้ใต้พระอุโบสถที่วัดเลียบราษฎร์บำรุง

            จุดสังเกตเหรียญรุ่นแรก

            เหรียญเนื้อเงินที่มีลักษณะด้านหลังเป็นรอยเขยื้อนยันต์กลับหัวจะมีประมาณ ๒๐ เหรียญ เหรียญเนื้อสำริดจะมีสีของโลหะที่แตกต่างกันบางเหรียญแก่ทองแดงก็จะมีลักษณะสีคล้ายเนื้อทองแดงแต่ไม่มีรมดำ บางเหรียญสีออกทองเหลืองก็มี เพราะแต่ละเหรียญที่ปั๊มนั้นโลหะที่ผสมออกมาไม่เท่ากันบ้างก็แก่ทองแดงบ้างก็แก่เงิน หรือแก่ทองเหลืองขึ้นอยู่กับช่างที่ทำเหรียญ เนื่องจากเนื้อสำริดเป็นโลหะที่มีความแข็งตัวสูง เวลาปั๊มออกมาผิวจึงไม่เรียบสวย บ้างมีรอยราน, เป็นกาบ หรือแตกบ้างในบางเหรียญ

            ส่วนเนื้อทองแดงผิวจะรมดำทั้งหมด เมื่อตอนถึงวันงานเหรียญเนื้อทองแดงจำนวนหนึ่งได้ถูกใส่ไว้ในหลุมลูกนิมิตทุกหลุมโดยมีหลวงพ่อสร้อยเป็นผู้นำเหรียญใส่ไว้ในหลุมลูกนิมิต ส่วนเหรียญทั้งหมดนำมาแจกจ่ายผู้ที่มาทำบุญที่วัด โดยทำบุญ ๒๐๐ บาท จะได้เหรียญเงิน ๑ เหรียญ เนื้อสำริด ๒ เหรียญ และ เนื้อทองแดง ๖ เหรียญ

            นอกจากนี้เหรียญที่เหลือจากการแจกที่วัดทั้งหมดนั้นภายหลังได้นำไปชุบกะไหล่ทอง ตอกโค้ด ส. ไว้ด้านหน้าบริเวณสังฆาฏิ ซึ่งเหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อสร้อยได้ปลุกเสกเดี่ยวทั้งหมด เหรียญรุ่นแรกมีพุทธคุณเด่นในด้านคงกระพัน แคล้วคลาด ซึ่งมีผู้คนเจอประสบการณ์ต่างๆ อย่างมากมายจนเป็นที่เลื่องลือของคนในย่านกรุงเทพฯ-นนทบุรี ซึ่งปัจจุบันนั้นค่านิยมก็ถือว่ายังไม่แพงจึงทำให้น่าเก็บหรือบูชาไว้ใช้ติดตัว

            ส่วนค่านิยมปัจจุบันเนื้อเงินประมาณหลักหมื่นกลาง, เนื้อสำริดประมาณหลักหมื่นต้น, เนื้อทองแดงรมดำประมาณหลักพันกลาง (ทั้งนี้ราคาขึ้นอยู่กับสภาพความสวยของเหรียญ)

            ขอบคุณผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด คุณสมบัติ สุโรจนานนท์ คุณป๋อง สุพรรณ-คุณพจน์ เมืองนนท์ คุณเลิศ สุพรรณ คุณโทน บางแค-คุณเอ๋ สรรพยา-คุณอ้วน พระรามห้า และคุณเอ็ม เมืองนนท์

            หลวงพ่อสร้อย เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๖ ที่บ้านโคกระวา ต.ละเวีย อ.ปวก จ.เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา แต่ว่าในสมัยนั้นยังคงเป็นดินแดนปกครองของประเทศไทย เข้าสู่เส้นทางธรรมะภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ที่พัธสีมาวัดละเวีย ต.หลักชัย อ.ไพรีฯ จ.พิบูลย์สงคราม (สมัยนั้นประเทศไทยปกครอง) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยและศึกษาวิชาต่างๆ ที่เป็นตำราโบราณสืบทอดกันมา พร้อมทั้งยังฝึกฝนวิชาต่างๆ จนเกิดความเชี่ยวชาญในการนั่งสมาธิ จนเป็นที่ยอมรับกันดีในประเทศกัมพูชา มีสรรพวิชาต่างๆ จนเป็นที่เลื่องลือและเชื่อกันว่าเสมือนหนึ่งสามารถรู้ถึงเหตุการณ์ข้างหน้า

            พ.ศ.๒๔๙๑ ท่านก็ได้เดินธุดงค์เรื่อยมาทางบ้านแดง อ.ละหานทราย ด้วยเท้าเปล่าจนเข้าเขตประเทศไทยและมาจำพรรษาอยู่ที่วัดแจ้ง อ.ประโคนชัย แต่ที่นั่นมีชาวกัมพูชาอยู่มาก การเทศนาหรือการให้พร การสวดต่างๆ ต้องใช้เป็นภาษาเขมรทั้งหมด ท่านก็ไม่ค่อยจะชอบเพราะอยู่ในประเทศไทยแล้วเทศน์แต่ภาษาเขมร จากนั้นท่านจึงเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ แต่ท่านก็หาวัดจำพรรษาอยู่ไม่ได้ จนในที่สุดท่านก็เดินธุดงค์ต่อไปที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์ศรี อ.เมือง จ.ขอนแก่น และมีโอกาสเรียนภาษาไทยตั้งแต่แรกเริ่มอย่างถูกต้อง

            หลวงพ่อสร้อยเดินธุดงค์ด้วยเท้าเปล่าเพื่อเสาะหาสัจธรรมและวิชาต่างๆ จากเกจิอาจารย์ทุกจังหวัดในประเทศไทย จากนั้นเดินเท้าเข้าสู่ประเทศพม่าและอยู่ที่นั่นถึง ๓ ปี ออกจากพม่าเข้าสู่ประเทศอินเดียและอยู่ที่นั่นอีก ๕ ปี ออกจากอินเดียต่อมายังประเทศจีนตอนล่างมายังเวียดนามตอนเหนือผ่านมายังประเทศลาวและสุดท้ายก็เข้าสู่มุกดาหาร

            พ.ศ.๒๕๐๐ ท่านมาปักกรดที่วัดร้างแห่งหนึ่ง ชื่อว่าวัดดอกบัว ท่านได้จำพรรษาอยู่ ๖ พรรษา ซึ่งบริเวณรอบๆ นั้น มีชาวบ้านอาศัยเพียงกว่าสิบหลังคาเรือนเท่านั้น ท่านได้พัฒนาวัดดอกบัวและให้การศึกษาพระธรรมวินัยให้แก่พระภิกษุและสามเณรที่วัดลานคา ในขณะนั้นมีญาติโยมมากมายมานิมนต์ท่านให้ไปจำพรรษาที่กรุงเทพฯ แต่ท่านก็อยู่ดูแลวัดจนถึง พ.ศ.๒๕๐๗ ท่านจึงมาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพฯ โดยจำพรรษาที่วัดเลียบราษฎร์บำรุง จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๒ ท่านมรณภาพ สิริอายุได้ ๗๖ ปี

 

เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อสร้อยเหรียญ\'สังข์ทอง\'วัดเลียบราษฎร์บำรุง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ