ข่าว

‘ไกล่เกลี่ย’ก่อนยึดทรัพย์กรมบังคับคดียุคใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘ไกล่เกลี่ย’ก่อนยึดทรัพย์ กรมบังคับคดียุคใหม่-ที่พึ่งสุดท้ายลูกหนี้ : ณัฎฐ์ชิตา เกิดแดงรายงาน

             หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า "กรมบังคับคดี" หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม นอกจากจะทำหน้าที่ในการยึดทรัพย์และขายทรัพย์สินทอดตลาดเพื่อนำเงินมาเฉลี่ยคืนโจทก์ หรือเจ้าหนี้แล้ว บทบาทสำคัญของกรมบังคับคดียุคใหม่ยังเน้นการทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้สามารถตกลงกันได้หลังจากมีคำพิพากษา ก่อนจะนำไปสู่การถูกยึดทรัพย์หรือถูกฟ้องล้มละลาย จึงถือได้ว่าเป็นที่พึ่งสุดท้ายของลูกหนี้

             นสพ.คม ชัด ลึก มีโอกาสพูดคุยกับ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดีป้ายแดง ที่เพิ่งเข้ามาทำงานประมาณ 4 เดือนเศษ ถึงเรื่องราวและวิธีการไกลเกลี่ย และการทำงานเชิงรุก รวมถึงเป้าหมายในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้อีกทางหนึ่ง

เคลียร์"บัตรเครดิต-ลีสซิ่ง"แก้หนี้ครัวเรือน

             "นโยบายที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษจากรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคือ อยากให้กรมเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาหนี้สินของผู้ประกอบการรายย่อย เราจึงทำงานเชิงรุกดึงให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ องค์กรของรัฐ รวมไปถึงบริษัทเอกชนเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยหนี้สินรายย่อยจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ รวมไปถึงด้านการศึกษา" น.ส.รื่นวดีกล่าว

             ส่วนภาคของผู้ประกอบการจะเน้นเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอี โดยกรมบังคับคดีจะเป็นตัวกลางทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด จากที่ดำเนินการไปแล้วพบว่า 98% สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้สำเร็จด้วยดี ช่วยให้เอสเอ็มอีกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ ไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกฟ้องล้มละลายหรือถูกยึดทรัพย์

             ขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่ลงนามในบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับกรมบังคับคดีเพื่อร่วมดำเนินการแล้ว เริ่มจากบริษัทเอกชนที่มีการปล่อยกู้ให้ประชาชนรายย่อยจำนวนมาก อย่างเช่น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้บริหารให้ความร่วมมืออย่างดี โดยมีการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยไป 2 ครั้ง ในวันที่ 24 มกราคม และ 31 มกราคม ที่ผ่านมา เริ่มจากกลุ่มลูกหนี้ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน มีรายชื่อส่งมาให้กรมจำนวน 7,600 คดี คิดเป็นมูลหนี้รวม 1,084 ล้านบาท

             ทั้งนี้ จากรายชื่อที่ได้รับมา กรมได้ออกหนังสือเรียกไปแล้วมีผู้เข้ามาพบประมาณ 500 คน เข้าใจว่าบางคนอาจเปลี่ยนที่อยู่ใหม่จึงติดต่อไม่ได้ จึงอยากขอให้ผู้ที่ไม่ได้รับหนังสือติดต่อเข้ามาโดยตรง ซึ่งอยากให้ลูกหนี้ลองเดินเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยดูก่อน โดยเข้าใจดีว่าคนที่ได้รับหนังสือส่วนใหญ่จะมาด้วยความกลัว แต่พอเห็นว่าเป็นหนังสือจากทางราชการเลยลองมาดู เนื่องจากเชื่อใจในความเป็นกลาง สุดท้ายส่วนใหญ่ก็กลับออกไปเหมือนถูกลอตเตอรี่ ได้ลดหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นบางส่วนด้วย

             อธิบดีกรมบังคับคดี ยกตัวอย่างให้ฟังว่า บางรายเป็นหนี้หลักแสนบาท แต่พอเจ้าหนี้ยอมให้ผ่อนจ่ายเดือนละ 2,000 บาท แทนที่จะให้เคลียร์หนี้ทั้งก้อน เลยทำให้ลูกหนี้ยอมจ่าย โดยจากการไกล่เกลี่ย 2 รอบสามารถเจรจาสำเร็จลุล่วงถึง 137 เรื่อง จากที่ส่งเข้ามา 170 เรื่อง คิดเป็นทุนทรัพย์ที่เจ้าหนี้ได้คืนกว่า 18 ล้านบาท ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จถึง 80% หลังจากนี้ จะทยอยเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ตามรายชื่อของลูกค้าที่ทางบริษัทจัดส่งมา ซึ่งจะจัดตามสำนักงานบังคับคดีในภูมิภาคด้วย โดยเร็วๆ นี้ น่าจะไปไกล่เกลี่ยที่ จ.ระยอง ซึ่งในส่วนของหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลจะขยายไปยังบริษัทอื่นๆ ที่ไม่ใช่อยู่ภายใต้แบงก์ด้วย อาจเป็นบริษัทให้บริการเงินด่วนจากญี่ปุ่นบางแห่งที่กำลังเจรจากันอยู่

             นอกจากนี้ ยังมีการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยร่วมกับบริษัท โตโยต้า ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งดำเนินการไปบางส่วนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 ณ สำนักงานบังคับคดีแพ่งที่กรุงเทพฯ โดยมีเรื่องไกล่เกลี่ยจำนวน 145 เรื่อง ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 112 เรื่อง คิดเป็นทุนทรัพย์ 37 ล้านบาท หรือคิดเป็น 77.24% ที่ประสบความสำเร็จ และในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะทำการไกล่เกลี่ยเพิ่มเติมที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ มองว่า น่าจะประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะเจ้าหนี้ก็ยินยอมที่จะประนอมหนี้มากกว่ายึดรถมาขายทอดตลาด

ลุยไกล่เกลี่ยลูกหนี้"เอสเอ็มอีแบงก์-กยศ."

             น.ส.รื่นวดี กล่าวต่อว่า นอกจากบริษัทเอกชนแล้ว กรมยังพุ่งเป้าไปที่สถาบันการเงินของรัฐที่มีสินเชื่อรายย่อยจำนวนมาก ซึ่งเห็นว่าธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ มีลูกหนี้เอ็นพีแอล หรือหนี้เสียจำนวนมาก จึงเข้าไปติดต่อขอเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยหนี้ให้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารเป็นอย่างดี โดยได้เริ่มจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ไปแล้วหลายครั้ง เริ่มจากในกรุงเทพฯ ปริมณฑล เชียงราย นครศรีธรรมราช สงขลา เสร็จสิ้นไปเมื่อสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีเรื่องไกล่เกลี่ย 924 เรื่อง มีการเจรจาสำเร็จ 884 เรื่อง คิดเป็นทุนทรัพย์ที่เอสเอ็มอีแบงก์ได้คืนถึง 559 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 95.67% ที่ประสบความสำเร็จ

             “การจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้เอสเอ็มอี ผลออกมาเป็นที่พอใจของทั้งฝ่าย เพราะลูกหนี้ไม่ต้องเสี่ยงถูกฟ้องล้มละลาย ซึ่งนอกจากจะติดในเครดิตบูโรแล้ว ยังไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ ได้ถึง 3 ปี โดยกรมฯจะชี้ให้เห็นถึงทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับลูกหนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็จะจัดมหกรรมที่ จ.ขอนแก่น และโคราช เพิ่มเติมและน่าจะมีการทยอยส่งรายชื่อลูกหนี้เข้ามาให้เรื่อยๆ”

             นอกจากเอสเอ็มอีแบงก์แล้ว กรมจะขยายความร่วมมือไปยังแบงก์รัฐอื่นๆ ด้วย โดยในเร็วๆ นี้ จะประชุมร่วมกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ เพื่อแก้ไขปัญหานี้สิน และน่าจะสามารถเซ็นเอ็มโอยูเพื่อจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดีร่วมกันได้ต่อไป โดยธนาคารออมสินก็เป็นสถาบันการเงินอีกแห่งที่กรมสนใจ เพราะมีลูกหนี้รายย่อยจำนวนมาก

             ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมได้เซ็นเอ็มโอยูร่วมกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กศย.) โดยจะเริ่มจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยครั้งแรกวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์นี้ ที่กรมบังคับคดี ซึ่งมีลูกหนี้ที่จัดส่งเข้ามาแล้วจำนวน 1,958 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 270 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดและค้างชำระหนี้มานานกว่า 5 ปีแล้ว เฉลี่ยมีหนี้ประมาณ  9 หมื่นบาทต่อราย จึงอยากขอให้กลุ่มนี้ซึ่งเข้าใจว่าส่วนใหญ่น่าจะมีงานทำแล้วให้เข้ามาติดต่อและเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง มิฉะนั้น ทางกองทุนอาจต้องยื่นเรื่องให้กรมไปยึดทรัพย์เพื่อนำมาขายทอดตลาดต่อไป

เร่งขายทรัพย์สินปั๊มเงินเข้าระบบศก.

             นอกจากจากงานไกล่เกลี่ยหนี้แล้ว ยังมีงานสำคัญที่ต้องทำเร่งด่วนและเป้าหมายในระยะยาว โดยเป้าหมายแรกคือ ต้องการผลักดันทรัพย์สินออกจากระบบบังคับคดีให้รวดเร็วด้วยความเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณทรัพย์สินที่อยู่ในกระบวนการขายทอดตลาดถึง 96,017 รายการ คิดเป็นทุนทรัพย์มูลค่า 199,876 ล้านบาท แบ่งเป็นที่ดินว่างเปล่าจำนวน 32,216 รายการ รวมเป็นทุนทรัพย์ 79,124.48 ล้านบาท หรือคิดเป็น 33.55% ของปริมาณทรัพย์ทั้งหมด อีกทั้งยังมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 52,659 รายการ รวมเป็นทุนทรัพย์ 61,259 ล้านบาท หรือคิดเป็น 54.84% ของปริมาณทรัพย์ทั้งหมด และมีห้องชุด จำนวน 11,142 รายการ รวมเป็นทุนทรัพย์ 59,139.14 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.61% ของปริมาณทรัพย์ทั้งหมด

             “ขณะนี้มีคดีเข้ามาไม่มากเหมือนในอดีต เพราะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยในขั้นตอนชั้นศาลไปบางส่วนก่อนจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ทรัพย์สินที่ยึดเข้ามาขณะนี้ยังเหลืออยู่มากเกือบ 2 แสนล้านบาท แม้ว่าจะลดลงจากเดือนสิงหาคมปีก่อนที่มีถึง 2.3 แสนล้านบาทแล้วก็ตาม โดยกรมอยากเร่งผลักดันเงินจากการขายทรัพย์สินให้กลับคืนไปสู่มือเจ้าหนี้ หรือโจทก์ ซึ่งกว่า 70-80% เป็นสถาบันการเงินจะได้นำไปใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจต่อไป”

             ทั้งนี้ จากนโยบายดังกล่าวทำให้การทำงานในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา กรมสามารถผลักดันทรัพย์สินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ถึง 2.2 หมื่นล้าน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำได้อีกประมาณ 8 ,000 ล้านบาท รวมแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2558 จึงน่าจะขายทรัพย์สินออกไปได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

พัฒนาช่องทางขายทอดตลาด

             อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า กรมจะพยายามดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันตั้งแต่มีคำพิพากษา จนถึงจ่ายเงินคืนให้เจ้าหนี้ จากในอดีตอาจจะใช้เวลาเป็นปี โดยที่เร็วขึ้นเนื่องจากกรมนำกลยุทธ์ทางการตลาดมาช่วยในหลายๆ ด้าน เช่น เปิดขายทอดตลาดทรัพย์สินในวันเสาร์ ซึ่งพบว่ามีประชาชนให้ความสนใจมากกว่าวันปกติถึง 10-20% รวมถึงยังมีการจัดมหกรรมขายทรัพย์สินทอดตลาดกระจายไปตามต่างจังหวัด โดยมั่นใจในความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ซึ่งกรมขายทรัพย์สินมานานถึง 40 ปี ขณะนี้มีบริษัทเอกชนบางแห่งมาขอศึกษาดูงานจากกรมด้วยซ้ำ และการประมูลจะต้องขายให้ได้ 100% ของราคาประเมิน หากยังไม่มีผู้สนใจราคาก็จะลดลงเรื่อยๆ เหลือ 90% และ 80% ต่ำสุดต้องขายให้ได้ 70% ของราคาประเมินจึงจะอนุมัติขายออกไป หากมีผู้เสนอราคาเข้ามาแต่ต่ำกว่านี้ก็ต้องเก็บไว้รอประมูลในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งยอมรับว่ามีทรัพย์สินบางรายการที่ขายไม่ออก เช่น ห้องชุดอาจเป็นเพราะทำเลที่ตั้งไม่จูงใจหรือสภาพห้องชุดเก่าเกินไป

             นอกจากนั้นยังเพิ่มช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลของทรัพย์ที่จะขายทั้งทางเว็บไซต์ของกรม และทำแอพพลิเคชั่นให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูได้ใช้ชื่อว่า” LED Property"  เริ่มใช้มาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

             อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าคนทั่วไปอาจไม่เข้าใจว่การประมูลซื้อทรัพย์ขายทอดตลาด ครั้งแรกส่วนใหญ่จะมาดูลาดเลาก่อนยังไม่กล้าประมูล จึงต้องเร่งชี้แจงให้คนเข้าใจมากขึ้น โดยต่อไปอาจจะจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำหรือจัดทำเป็นคู่มือเพื่อช่วยให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงมากขึ้น และในอนาคตจะเปิดให้ประชาชนยื่นเรื่องผ่านทางเว็บไซต์ได้ รวมถึงกระบวนการเฉลี่ยทรัพย์คืนให้เจ้าหนี้นั้นจากเดิมที่ต้องมารับเงินด้วยตัวเอง ต่อไปก็จะโอนเงินเข้าบัญชีได้

ปรับปรุงกฎหมายช่วยเหลือรายย่อย

             น.ส.รื่นวดีกล่าวว่า เป้าหมายสำคัญในการทำงานของกรมบังคับคดีอีกเรื่องหนึ่งคือ การพัฒนาปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัย มีมาตรฐานสากล โดยที่ผ่านมาได้เสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ภาคบังคับ) 2 ฉบับ ซึ่ง ครม.เห็นชอบแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งเสนอร่างพ.ร.บ.ล้มละลายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ...ซึ่งผ่านความเห็นขอบของ ครม.แล้ว ส่วนที่เสนอไปแล้ว คือ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ พ.ศ. ...เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้สามารถทำแผนฟื้นฟูกิจการแบบง่ายๆ ได้เองไม่ต้องจ่ายเงินจ้างเอกชนเข้ามาทำแผน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง

             ส่วนที่กำลังเร่งศึกษาคือร่างแก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลายระยะที่ 2 โดยเฉพาะประเด็นที่ให้บุคคลธรรมดาสามารถยื่นคำขอเพื่อเข้าสู่กระบวนการล้มละลายได้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาจากการประกอบการสามารถยื่นคำขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการโดยคณะทำงานจะประชุมร่วมกันครั้งแรกในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ