พระเครื่อง

หลวงพ่อเงิน พุทธโชติสุดยอด ๔ พิมพ์ ที่นิยมกันสุดๆ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลวงพ่อเงิน พุทธโชติสุดยอด ๔ พิมพ์ ที่นิยมกันสุดๆ : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

            
                วัดบางคลาน  หรือวัดหิรัญญาราม จ.พิจิตร เดิมชื่อวัดวังตะโก เกิดขึ้นเป็นพระอาราม ด้วยฝีมือของ "หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ" อดีตเจ้าอาวาสวัดบางคลาน ได้เป็นผู้สร้างไว้เมื่อประมาณปี ๒๓๗๗ จากนั้นเป็นต้นมา ก็เจริญอย่างรวดเร็ว มีผู้คนเคารพนับถือและถวายตัวเป็นศิษย์ ขอมาฟังธรรมขอเครื่องรางของขลัง และขอให้หลวงพ่อช่วยรักษาโรคให้

                หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ เกิดวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๓๕๓ ตรงกับรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก่อนมรณภาพท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับสมณศักดิ์เป็นท่านเจ้าคุณฝ่ายวิปัสสนาจารย์ ท่านมรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๖๒ รวมอายุได้ ๑๑๑ ปี พรรษา ๙๐ ณ วัดวังตะโก ต.บางคลาน อ.บางคลาน จ.พิจิตร
        
                ประวัติหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร พระเครื่องหลวงพ่อเงิน วัดบางคลานนับเป็นอีกหนึ่งในตำนานของวงการพระเครื่องไท มีเรื่องราวอันเป็นปาฏิหาริย์มากมาย นับว่าท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีอายุยืนนานมากที่สุดรูปหนึ่ง
             
                หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น มีผู้คนมาให้ท่านช่วยรดน้ำมนต์ให้ไม่ขาดสาย ลูกศิษย์ของหลวงพ่อเงินวัดบางคลานที่มีชื่อเสียงโด่งดังต่อมาก็มีหลายท่าน เช่น หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง ที่มีชื่อเสียงในด้านตะกรุดคู่ชีวิต หลวงพ่อน้อย วัดคงคาราม ผู้สร้างตะกรุดหนังปลากระเบน และตะกรุดหนังอีเก้ง ปลัดชุ่ม วัดท้ายน้ำ หลวงพ่อหอม วัดหลวง หลวงพ่อนวล วัดหาดมูลกระบือ หลวงพ่อฟุ้ง วัดปากน้ำ หลวงพ่อขำ วัดโพธิ์เตี้ย หลวงพ่อไป๋ วัดท่าหลวงพล ผู้สร้างเหรียญหล่อหลวงพ่อเพชรจำลอง หลวงปู่ภู วัดท่าฬ่อ เป็นต้น นอกจากนี้ศิษย์ฆราวาสก็คือเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

                หลังจากที่หลวงพ่อเงินมรณภาพปรากฏว่าได้มีการสร้างพระในนามของท่านขึ้นมาหลายรุ่น หลายวาระ ทางวัดบางคลาน และวัดอื่นๆ รวมทั้งหน่วยงานราชการ และผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ได้จัดสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายรุ่น แต่ที่โด่งดังสุดๆ ก็คือพระหลวงพ่อเงินที่สร้างเมื่อปี ๒๕๑๕ หรือที่เรามักจะเรียกว่าสั้นๆ ว่า "หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ปี ๑๕" ซึ่งสมัยนั้นมีพระครูพิบูลธรรมเวท หรือหลวงพ่อเปรื่อง เป็นเจ้าอาวาส

                "หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ปี ๑๕" สร้างขึ้นเพื่อสมนาคุณแก่ผู้ร่วมสมทบทุนสร้างโบสถ์หลังใหม่ และเป็นที่ระลึกงานผูกพัทธสีมาของวัดบางคลาน หรือชื่อใหม่ก็คือ วัดหิรัญญาราม ซึ่งเป็นวัดเก่าที่หลวงพ่อเงินได้สร้างและจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้
 
                โดยมี พล.ต.ต.สง่า กิตติขจร รมว.ต่างประเทศ ในขณะนั้น เป็นประธานอุปถัมภ์ นายเผด็จ จิราภรณ์ ประธานสภาจังหวัดพิจิตร เป็นประธานกรรมการอำนวยการ ส่วนประธานฝ่ายสงฆ์ คือ สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ และพระวิสุทธิวงศาจารย์ วัดสุทัศน์ โดยมีอาจารย์เทพ สาริกบุตร เป็นเจ้าพิธี


๔ พิมพ์ ที่นิยมกันสุดๆ

                พระเครื่องหลวงพ่อเงิน วัดบางคลานนับเป็นอีกหนึ่งในจำนานของวงการพระเครื่องไทย ทุกรุ่นขึ้นชื่อว่ามีประสบการณ์ดีทางด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดจากภัยทั้งปวง เมตตามหานิยม โชคลาภ และค้าขายดีมาก

                ทุกพิมพ์ถ้าอยู่ในสภาพสวยสนนราคาขึ้นหลักล้านทั้งสิ้น ที่นิยมกันสุดๆ มี ๔ พิมพ์ คือ รูปหล่อพิมพ์นิยม รูปหล่อพิมพ์ขี้ตา เหรียญหล่อพิมพ์จอบใหญ่ และเหรียญหล่อพิมพ์จอบเล็ก ซึ่งก็แยกออกเป็นพิมพ์แข็งตรง พิมพ์แข็งติด พิมพ์เท้ากระดก และพิมพ์ตาขีด

                รูปหล่อหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ วัดบางคลานพิมพ์ขี้ตา นักนิยมพระเรียกขานตามรายละเอียดที่ติดมากับองค์พระ กล่าวคือ บริเวณใต้นัยน์ตาขวาของรูปหล่อช่วงติดกับดั้งจมูกจะมีเม็ดเนื้อเกินคล้ายขี้ตา จึงเป็นที่มาของนามว่าพิมพ์ขี้ตา        

                ตามตำรากล่าวว่า พระหลวงพ่อเงิน พิมพ์ขี้ตา กับ พิมพ์จอบเล็ก สร้างขึ้นก่อน โดยฝีมือชาวบ้าน ส่วนพิมพ์นิยมกับพิมพ์จอบใหญ่สร้างขึ้นทีหลัง ในเวลาไม่ห่างกันมากนัก โดยว่าจ้างช่างมืออาชีพจากบ้านช่างหล่อ ธนบุรี ไปทำพิธีเททองหล่อที่วัด (บางกระแสก็ว่าเททองหล่อที่บ้านช่างหล่อ)

                ในส่วนของพิมพ์ขี้ตา ๓ ชาย มีจุดสำคัญที่ต้องศึกษา คือ มีก้อนเนื้อที่ขอบตาล่างด้านซ้าย มีเส้นจีวร ๓ เส้น ล่างสุดเป็นเส้นหนา เฉียงจากหน้าอกลงมาจรดแขนขวา เส้นจีวรที่แขนซ้ายเป็นเส้นคว่ำ เส้นสังฆาฏิโค้งนูน ไม่แบนราบ

                หลวงเงิน วัดบางคลาน รุ่นแรก ประมาณ ๒๔๕๐ เป็นเนื้อโลหะผสม เมื่อแรกเริ่มเข้าสู่งวงการปี ๒๕๒๐ ค่านิยมในหลักหมื่นต้นๆ ถือว่าค่อนข้างแพง แต่ปัจจุบันเคยมีการการเช่าซื้อกันในราคาสูงถึง ๘ ล้านบาททีเดียว  ล่าสุดพระหลวงพ่อเงินพิมพ์นิยม "เนื้อทองคำ" ซึ่งเป็นของนายสุขธรรม ปานศรี หรือที่คนในวงการรถยนต์รู้จักในชื่อ “เฮียกุ่ย” เจ้าของ "WWW.SOONPRARATCHADA.COM" นักสะสมพระหลวงพ่อทวดมานานกว่า ๑๐ ปี ได้ตั้งเปิดราคาไว้เพียง "๑๐ ล้าน++" เท่านั้น

                อย่างไรก็ตาม เฮียกุ่ยได้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสะสมพระกับการฝากเงินไว้ในธนาคารไว้อย่างน่าคิดว่า "ถ้ามีเงินเย็นที่ไม่ต้องทำอะไรการเก็บพระแท้ พระสวยย่อมมีผลตอบแทนที่สูงกว่า เมื่อเวลาเปลี่ยนไปค่าของพระสูงกว่าดอกเบี้ยหลายเท่า แต่ถ้าไม่มีเงินเย็นเงินนอนอยู่ในธนาคาร ต้องเลือกเก็บพระอย่างมีสติ คือเก็บตามกำลังที่ตนเองเก็บได้ และควรจะเก็บพระที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้อย่างรวดเร็วเมื่อถึงเวลาจำเป็น"


คาถาหลวงพ่อเงิน

                หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ท่านสามารถรู้วาระจิตผู้มาเยือนด้วยญาณวิเศษได้อย่างมหัศจรรย์ และยังเป็นหมอเชี่ยวชาญในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ชาวบ้านได้อย่างชะงัดอีกด้วย เคยมีผู้ไปลองดีกับท่าน ท่านก็แอ่นอกให้ยิง แต่กระสุนไม่ยอมออกจากลำกล้อง

                ความศักดิ์สิทธิ์เยี่ยงอัจฉริยะของหลวงพ่อเงิน บางคลาน นับว่าร่ำลือกันไปไกลมาก จนถึงขนาดโดยเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หรือที่มักเรียกกันว่า “เสด็จเตี่ย” ได้ถวายพระองค์เป็นศิษย์ของหลวงพ่อเงิน เพื่อศึกษาวิชาต่างๆ จากหลวงพ่อเงิน

                ส่วนหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ปี ๑๕ ที่โด่งดังสุดๆ เหตุเพราะการสร้างพระในครั้งนั้นวัตถุประสงค์ดี เจตนาบริสุทธิ์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของอานิสงส์ทำให้เกิดผลอัศจรรย์แก่ผู้ที่มีไว้ครอบครองปรากฏให้เป็นข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ

                สำหรับคาถาหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตรพระคาถาบูชาหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร ตั้งนะโม ๓ จบ "อะกะ อะธิ อะธิ อะกะ ธิอะ กะอะวันทามิ อาจาริยัญจะ หิรัญญะ นามะกัง ถิรัง สิทธิ ทันตัง มหาเตชัง อิทธิ มันตัง วะสาทะรัง"

                นอกจากวัตถุมงคลและพระเครื่องหลวงพ่อเงินแล้ว สิ่งที่น่าสนใจของวัดบางคลาน คือ พิพิธภัณฑ์นครไชยบวร เป็นพิพิธภัณฑ์รูปมณฑป ๒ ชั้น ชั้นบนประดิษฐานรูปหล่อเท่าองค์จริงของหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ เกจิอาจารย์ที่ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศรู้จักและเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่งที่เคยจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ ชั้นล่าง เป็นที่แสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่วัดได้สะสมไว้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุที่มีผู้นำมาถวาย เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ เครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ เปิดให้ประชาชนนมัสการระหว่างเวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ