คอลัมนิสต์

'ทหารเสือ'หัวใจสีม่วง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ทหารเสือ'หัวใจสีม่วง : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

                 ฤดูกาลโยกย้ายนายทหาร พ.ศ.นี้ น่าจะเป็นฤดูกาลที่ปลอดการเมืองเข้ามาแทรกแซง เพราะบ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ "รักษาความสงบ" ชั่วคราว

                 ชัดเจนแล้วว่า ในการจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจเลือก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) ขึ้นเป็น ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่

                 ที่ต้องบันทึกไว้คือ "พล.อ.อุดมเดช" จะเป็น "ทหารเสือ" คนที่ 4 ที่ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก โดยก่อนหน้านั้นมีแม่ทัพบก "ทหารเสือ" มาแล้ว 3 คน คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

                 คำว่า "ทหารเสือราชินี" หมายถึงหน่วยทหารที่ชื่อ "กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ค่ายนวมินทราชินี ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี

                 กล่าวสำหรับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เรียนจบโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 14 (ตท.14) และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 25 (จปร.25) จากนั้นก็เติบโตบนเส้นทางเหล่าทหารราบ

                 เริ่มจากผู้บังคับหมวดกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จนขยับขึ้นเป็นรองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ และผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 รอ.)

                 000

                 ชื่อของ "ทหารเสือราชินี" ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในหน้าวิเคราะห์ข่าวการเมือง-การทหาร

                 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2493 ตามคำขอขององค์การสหประชาชาติ ในการจัดตั้งกำลังเข้าทำการช่วยเหลือรัฐบาลของสาธารณรัฐเกาหลีใต้ เพื่อยับยั้งการรุกรานของฝ่ายคอมมิวนิสต์ โดยใช้นามหน่วยในครั้งนั้นว่า "กรมผสมที่ 21" มีที่ตั้งกองบังคับการชั่วคราวอยู่ในศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม

                 วันที่ 1 ธันวาคม 2502 กรมผสมที่ 21 ได้แปรสภาพเป็น "กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทหารให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ดำรงตำแหน่งองค์ผู้บังคับการพิเศษ นับตั้งแต่บัดนั้น

                 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2504 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ องค์ผู้บังคับการพิเศษ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ ณ ที่ตั้งกรุงเทพมหานคร

                 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ จึงยึดถือวันที่ 21 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันที่ระลึกของกรมมาโดยตลอด

                 ต่อมาเมื่อปี 2511 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ ได้ย้ายจากที่ตั้งเดิมไปอยู่ที่ชลบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งหน่วยในปัจจุบัน และในปี 2519 องค์ผู้บังคับการพิเศษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อค่าย อันเป็นที่ตั้งของ ร.21 รอ. ว่า "ค่ายนวมินทราชินี"

                 พร้อมทั้งพระราชทานสมญานามของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ ว่า "กรมทหารเสือนวมินทราชินี" และเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520 กองทัพบกได้โอนการบังคับบัญชากรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์มาจนถึงปัจจุบัน

                 และเพื่อเป็นการสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่มีพระราชประสงค์จะเพิ่มพูนขีดความสามารถของกำลังพลในหน่วยให้มีจิตใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยว และพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบทุกรูปแบบ กองทัพบกจึงอนุมัติให้ฝึกหลักสูตร "ทหารเสือ" ขึ้นเมื่อปี 2524

                 เมื่อจบการฝึก กำลังพลที่สำเร็จการฝึกหลักสูตรทหารเสือทุกนายจะได้รับพระราชทานเครื่องหมายแสดงขีดความสามารถทหารเสือจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ องค์ผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ

                 "เครื่องหมายเชิดชูเกียรติทหารเสือ" เป็นเครื่องหมายทำด้วยโลหะ ประดับหน้าอกเสื้อชุดปกติ และเป็นเครื่องหมายปักด้วยไหมสีดำ ประดับที่หน้าอกเสื้อชุดฝึกเบื้องขวาของทหารเสือทุกนาย คือเครื่องหมายที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ องค์ผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ฯ พระราชทานพระราชดำริให้มีการฝึกในหลักสูตรทหารเสือนี้

                 เมื่อทราบประวัติความเป็นมาของเครื่องหมายเชิดชูเกียรตินี้แล้ว ก็คงไม่แปลกใจที่จะมีคนพูดถึง "ทหารเสือราชินี" ในยามบ้านเมืองมีวิกฤติการณ์ทางการเมือง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ