Lifestyle

'เต่า'เหยื่อความเชื่อลักลอบค้า...ล่าล้างเผ่าพันธุ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'เต่า'เหยื่อความเชื่อ ลักลอบค้า...ล่าล้างเผ่าพันธุ์ : ทีมข่าวรายงานพิเศษ

              "...จับกุม "ราโจม่า รานจาไรซัน แอนเดียแอนติไนนา" หนุ่มชาวมาดากัสการ์วัย 31 ปี ลักลอบนำเข้าเต่าบกลายจักร หรือเต่าลายรัศมี หรือ เต่าเรเดียด้า 60 ตัว มูลค่า 1.2 ล้านบาท..." 10 ธันวาคม 2556

              "...จับกุม "มูตาซา อาลี" หนุ่มชาวปากีสถาน วัย 25 ปี พร้อมของกลาง "เต่าดำ แฮมมิลตัน" คละขนาด 470 ตัว มูลค่า 3.5 ล้านบาท..." 8 พฤศจิกายน 2556

              "... ตรวจยึดกระเป๋าเดินทาง ต้นทางมาจากบังกลาเทศ พบเต่าสายพันธุ์ "เต่าเรดิเอต้า" 423 ตัว และเต่าดำแฮมมิลตัน 52 ตัว..." 6 พฤศจิกายน 2556

              เพียงช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรประจำสนามบินสุวรรณภูมิ ตรวจยึดเต่าของกลางได้เกือบ 1,000 ตัว และเป็นครั้งแรกที่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ ทำให้ทราบว่า การลักลอบนำเต่าเข้ามาขายในเมืองไทย นอกจากเป็นที่นิยมของกลุ่มเลี้ยงสัตว์แปลกแล้ว บางกลุ่มนิยมเลี้ยงเต่าเพื่อเสริมสิริมงคลด้วย อย่าง "เต่าดำ แฮมมิลตัน"  ตัวใหญ่ สนนราคาอยู่ที่ 2.5 หมื่นบาท!!

              ทั้งนี้ "เต่า" สายพันธุ์ต่างๆ ที่นิยมลักลอบเข้ามาในเมืองไทย ล้วนเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ตามบัญชี 1 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITES) อาทิ "พรามแชร์" หรือว่า "ยูนิฟลอร่า" เป็นเต่าที่หายากที่สุดในโลก มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศมาดากัสการ์ เต่าตัวนี้มีมูลค่าสูงมาก จากข้อมูลพบว่า เต่ายูนิฟลอร่า เหลืออยู่ในธรรมชาติไม่ถึง 400 ตัว ส่วน "เต่าเรดิเอต้า" ปัจจุบันถูกจัดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ คาดว่าอาจสูญพันธุ์ในอีก 20 ปี

              ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดเต่าหายากเหล่านี้เกือบ 2,000 ตัว ซึ่งถูกนำมาอนุบาลดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ในความดูแลกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต่อมาพบปัญหาการเจ็บป่วยล้มตายของเต่า สืบเนื่องมาจากการขนส่งที่แออัด ยัดเหยียด ทำให้เต่าได้รับบาดเจ็บและมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง จึงประสานทีมสัตวแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้มาตรวจสุขภาพ

              "คม ชัด ลึก" ติดตามทีมสัตวแพทย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตรวจสุขภาพ "เต่า" ของกลาง ซึ่งมีทั้งเต่าบกและเต่าน้ำ โดยทีมแพทย์ช่วยกันป้อนยาถ่ายพยาธิ และวิตามิน หากพบตัวไหนมีอาการป่วยจะคัดแยกนำกลับไปรักษาต่อที่ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

              "เต่าตัวนี้ในที่สุดต้องตาย ดวงตาจมลึกเกิดจากการขาดน้ำอย่างหนัก กระดองมีส่วนที่ลอก ผิวของกระดองจะไม่เหมือนตัวอื่น เขาผอมมาก เต่าผอมดูจากซอกขา มันบุ่มลึกเข้าไปมาก กระดองก็เริ่มผุ กระดองเป็นส่วนหนึ่งของกระดูก เหมือนคนเราเวลาไม่สบาย เล็บ ผม ร่วง ตัวนี้ต้องทำการรักษา" รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอก ขณะหยิบเต่าดำแฮมมิลตันตัวหนึ่งที่อยู่ภายในบ่อขึ้นมาตรวจสุขภาพ

              รศ.สพญ.ดร.นันทริกา บอกอีกว่า จากการตรวจสุขภาพแล้ว เต่าน้ำจะมีอาการเจ็บป่วยที่ชัดเจน เนื่องจากการขนส่งใส่กระเป๋าเดินทางมานั้น เต่าน้ำจะยิ่งโทรมกว่าเต่าบก "เต่าดำแฮมมิลตัน" จาก 200 ตัวที่ได้มา ได้รับแจ้งว่าตายไปค่อนข้างเยอะ จากสภาพที่เห็นและตรวจดูพบว่า เต่าตัวเบามาก ด้านล่างของกระดองเริ่มผุแล้ว แสดงว่าเต่ามีความเครียด อาจได้รับอาหารไม่สมบูรณ์ ไม่ถูกต้องเหมือนในธรรมชาติ ซึ่งเต่าพวกนี้จะกินสัตว์น้ำ พืช แมลง โอกาสเจ็บป่วยจากการรับอาหารไม่เพียงพอ ย่อมเกิดขึ้นได้

              "การลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย จะถูกนำมาดูแลอนุบาลที่นี่ เต่าชุดแรกที่รับมาคดีกำลังจะสิ้นสุด อย่างเต่าดาวรัศมี หรือ ยูนิฟลอร่า จะถูกส่งกลับประเทศมาดากัสการ์ ซึ่งได้การประสานกับทางมาดากัสการ์เรียบร้อยแล้ว กำลังรออยู่ว่ารัฐบาลไทยจะดำเนินต่อไปอย่างไร ส่วนเต่าชุดใหม่ต้องรอจนกว่าคดีจะสิ้นสุด ประเด็นสำคัญคือ กฎหมายไทย ต้องเก็บวัตถุพยานไว้จนคดีจะสิ้นสุด ซึ่งเหมารวมถึงสิ่งมีชีวิตด้วย ทั้งที่ความจริงไม่ควรเลี้ยงไว้จนจบคดี ถ้ามีโอกาสคืนประเทศต้นทางได้ก็ควรจะรีบคืนเขาไป ที่สำคัญสัตว์พวกนี้ปล่อยธรรมชาติไม่ได้เพราะไม่ใช่สัตว์พื้นที่ถิ่นของไทย หากปล่อยในเมืองไทยจะทำลายความสมดุลทางธรรมชาติ โดยหลักการแล้ว ส่งคืนประเทศต้นทาง แต่มันจะมีปัญหาต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายตามมามากมาย ต้องมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล อย่าง ประเทศมาดากัสการ์มารับผิดชอบค่าขนส่งให้ แต่เต่าชุดนี้ ซึ่งมาจากประเทศบังกลาเทศ ยังไม่ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไร"

              นอกจากนี้ รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ฝากถึงผู้ที่ต้องการเลี้ยงเต่าหายากเหล่านี้ว่า กว่าจะมาเป็นสัตว์แปลก 1 ตัวที่เหลือรอดมาให้คนเลี้ยงนั้น พวกมันต้องทรมานมาก และมีสัตว์อีกเป็นร้อยเป็นพันที่ต้องตายลงหลังการลักลอบเพื่อมาให้ท่านเลี้ยง อย่าสนับสนุนการฆ่า ซึ่งเป็นความพึงพอใจในความสวยงามของสัตว์เท่านั้น ไม่มีประโยชน์อันใดที่มนุษย์จะมาทำลายชีวิตจำนวนมากมาย และทำให้สัตว์ที่อายุยืนที่สุดในโลกต้องมาตายเพราะมนุษย์ เพียงเพราะอยากจะมีของแปลก สัตว์สวยงามเอาไว้ดู ทั้งที่เราสามารถดูรูป ดูวิดีโอ ดูสารคดี อาจจะเพียงพอแล้ว

              ด้าน "ทรงกลด ภู่ทอง" หัวหน้าสถานีเพาะพันธุ์นกน้ำบางพระ ยอมรับว่า สัตว์ที่เรารับมาดูแลนั้น มีการลำเลียงขนย้ายอย่างผิดๆ อัดมาอยู่ในกระเป๋า บางตัวก็มาในสภาพที่อ่อนแอมาก เนื่องจากขาดน้ำ ขาดอาหาร เมื่อมาถึงศูนย์มีการสูญเสียค่อนข้างเยอะ เต่าของกลางเหล่านี้ต้องดูแลไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุด ก็จะส่งกลับประเทศต้นทาง ที่ผ่านมาเคยส่งคืนประเทศมาดากัสการ์ไปแล้วชุดหนึ่ง

              "เต่าพวกนี้เป็นสัตว์ต่างถิ่น ไม่สามารถปล่อยคืนธรรมชาติได้ สัตว์เหล่านี้ต้องมีวิธีการจัดการ เช่น เมื่อหมดคดีแล้วไปไหน บางส่วนอาจมอบให้สวนสัตว์ หรือส่งกลับ แต่ถ้าเป็นเต่ามาดากัสการ์ ยูนิฟอร่า ซึ่งอยู่ในบัญชีไซเตส ต้องส่งกลับอย่างเดียว ผมทำงานมา 30 กว่าปี ปัจจุบันก็ยังมีการรับเต่าของกลางไม่ได้หยุดเลย เพราะค่านิยมในการเลี้ยงสัตว์แบบผิดๆ" ทรงกรด กล่าว

              ขณะเดียวกัน "แนนซี่ กิ๊บสัน" ผู้อำนวยการมูลนิธิรักสัตว์ป่า เข้าอบรมเรื่องเต่าให้แก่เจ้าหน้าที่ศูนย์แห่งนี้ เกี่ยวกับการดูแลเต่าหายากเหล่านี้ ซึ่งเต่าจำนวนมากเหล่านี้ยากต่อการดูแล เพราะจะไม่รู้เลยว่ามันป่วยหรือไม่ ซึ่งคนไทยอาจไม่ชินกับการดูแลสัตว์ต่างถิ่น บวกกับสภาพอากาศของเมืองไทยอาจไม่เหมาะกับการดูแลเต่าที่มาจากต่างประเทศเขตร้อน เนื่องจากเมืองไทยอากาศชื้น ยิ่งช่วงหน้าฝนอาจทำให้สัตว์ป่วยตายได้

              "ประเทศไทยเป็นฮับ เป็นทางผ่าน ส่งออก และนำเข้าสัตว์ป่าหายากเหล่านี้ ซึ่งเต่าเหล่านี้ในธรรมชาติมันน้อยอยู่แล้ว ถ้ายิ่งจับพวกมันออกมาแล้วในธรรมชาติจะเหลืออีกกี่ตัว สัตว์ทุกชนิดมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทุกอย่างมันเชื่อมโยงกัน เราไม่อยากเห็นสัตว์ชนิดไหนหายไปจากโลก" ผู้อำนวยการมูลนิธิรักสัตว์ป่า กล่าวทิ้งท้าย

..................................

(หมายเหตุ  : 'เต่า'เหยื่อความเชื่อ ลักลอบค้า...ล่าล้างเผ่าพันธุ์  : ทีมข่าวรายงานพิเศษ)
              

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ