พระเครื่อง

พระหลวงพ่อทวดวัดช้างให้เนื้อโลหะผสมหลังเตารีด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระหลวงพ่อทวดวัดช้างให้เนื้อโลหะผสม หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ บี ปี ๒๕๐๕ : พระหลักยอดนิยม โดยตาล ตันหยง

              พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ เนื้อโลหะผสม หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ ปี ๒๕๐๕ ที่พบเห็นบ่อยๆ ในวงการพระเครื่อง ส่วนใหญ่มักจะเป็น พิมพ์ใหญ่ เอ อันเป็นพิมพ์ยอดนิยมที่มีการเช่าหาในราคาสูง บางองค์ถึงหลักล้านก็มี

              ด้วยเหตุนี้ นักสะสมพระสายนี้บางคนจึงมองไปที่ พิมพ์ใหญ่ บี และ พิมพ์ใหญ่ ซี เพื่อนำมาใช้ทดแทนกัน เพราะมีราคาที่ถูกกว่ากัน แต่ก็ต้องเกินหลักสามแสนขึ้นไป โดยเฉพาะ พิมพ์ใหญ่ บี

              พระ ๒ พิมพ์หลังนี้ บางครั้งจะเรียกว่า พิมพ์เตารีดหัวมน คือ ช่างได้แต่งปลายยอดองค์พระให้มนโค้ง รับกับเศียรขององค์พระ แต่บางองค์มีลักษณะปลายยอดองค์พระแหลม เหมือนเตารีด เอ ก็มี แต่มีน้อยมาก

              พระพิมพ์เตารีดบี และ ซี นี้ แม้ว่าปลายยอดองค์พระจะโค้งมนเหมือนกัน แต่รายละเอียดทางเค้าหน้า รูปทรง ฟอร์มพระ จะแตกต่างกันอย่างชัดเจน จำแนกได้ไม่ยากนัก

              วันนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ พระหลวงพ่อทวด พิมพ์ใหญ่ บี ปี ๒๕๐๕ (องค์ที่ ๑ และ ๒) จุดสังเกตที่เห็นได้ชัดเจนในพระพิมพ์นี้ คือ ริ้วจีวรบริเวณหน้าอกขวาขององค์พระจะวาดเฉียงไปจรดซอกแขน ซึ่งต่างกับพิมพ์เตารีด เอ (องค์ที่ ๓) ที่ริ้วจีวรไม่จรดซอกแขน

              ขณะเดียวกัน พิมพ์ใหญ่ บี เกือบทุกองค์จะมีร่องรอยการตกแต่งก้านเดือยที่ตรงใต้ฐานองค์พระ คล้ายกับพิมพ์เตารีด ซี (เห็นชัดกว่าพิมพ์เอ) โดยปกติ พิมพ์เตารีด บี นี้มีโครงหน้าที่ต่างกับพิมพ์ซี อย่างชัดเจน แต่ก็พอละม้ายคล้ายคลึงกับพิมพ์ เอ พอสมควร โดยสามารถแบ่งออกได้หลายลักษณะโครงหน้าย่อย เช่นกันกับลักษณะแถวกลีบบัว จะสามารถแบ่งเป็นสัณฐานย่อยๆ ได้อีก ๒ แบบหลัก เท่าที่พบเจอกันบ่อยๆ คือ แบบแถวกลีบบัวติดเต็มธรรมดา มักจะปรากฏ เม็ดกลมเล็กๆ ๒ เม็ด เหนือกลีบบัวที่ ๔ แถวบนนับจากซ้ายมือเรา (องค์ที่ ๑) กรณีนี้ลักษณะโครงหน้าหลวงพ่อทวดจะดูหนุ่ม

              และแบบแถวกลีบบัวติดไม่เต็มทุกกลีบ กล่าวคือ กลีบบัวที่ ๔ แถวบนนับจากซ้ายมือเรา มักจะติดแค่ครึ่งเดียว (องค์ที่ ๒) กรณีนี้ลักษณะโครงหน้าหลวงพ่อทวดจะดูแก่กว่าแบบแรก

              โดยทั่วไป พระพิมพ์ใหญ่ บี จะมีธรรมชาติของเนื้อพระโดยรวมเป็นลักษณะเดียวกับพิมพ์ใหญ่ เอ กล่าวคือ เป็นเนื้อโลหะผสมที่มีทั้งเนื้อออกโซนแดงและโซนเหลือง และธรรมชาติของคราบเบ้าและดินเบ้า เช่นเดียวกันกับร่องรอยการตกแต่งด้วยตะไบ ทั้งผิวด้านหลัง และขอบข้างองค์พระ

              อย่างไรก็ตาม หากสังเกตให้ดีที่ธรรมชาติผิวองค์พระ จะมีลักษณะเฉพาะ ต่างจากพิมพ์ใหญ่ เอ (องค์ที่ ๓) ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการตึงตัว และร่องรอยการเหี่ยวย่นของผิวพระดังกล่าวจึงกล่าวได้ว่า พระพิมพ์นี้มีผิวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ค่อนข้างยากต่อการทำปลอมแปลง เมื่อเทียบกับการปลอมพระพิมพ์ใหญ่ เอ

              สำหรับ พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด พิมพ์ใหญ่ บี ผู้ที่ชำนาญการแล้วจะสามารถพิจารณาเฉพาะด้านหลังองค์พระ (ซึ่งมีทั้งแบบหลังเรียบ และหลังเป็นระนาบคลื่น)...ก็บอกได้เลยว่า เป็นพระแท้หรือเก๊ โดยไม่จำเป็นต้องดูด้านหน้าขององค์พระก็ได้ เช่นเดียวกับ พิมพ์ใหญ่ ซี


              พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด ปี ๒๕๐๕ พิมพ์ใหญ่ บี ทั้ง ๒ องค์ที่โชว์ในวันนี้ เป็นพระเก่าเก็บที่
ไม่ผ่านการใช้บูชามาก่อน องค์พระหล่อออกมาได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ฟอร์มพระดูสง่า และมีความคมชัดสวยงามเป็นพิเศษ ประกอบกับองค์พระล่ำและหนา มีสันจมูกที่คมสันกว่าองค์อื่นๆ ในพิมพ์เดียวกัน รวมทั้งยังมีคราบตะกรันเบ้าสีดำ เนื่องจากกระบวนการหล่อ ปกคลุมแทบทั่วทั้งองค์ และมีดินเบ้าสีเหลืองนวลกระจุกตามซอกองค์พระ และฐานตรงก้านเดือยตัดช่อ เป็นการเสริมเสน่ห์องค์พระให้งดงามและดูง่ายยิ่งขึ้น

              พระหลวงพ่อทวด หลังเตารีด ปี ๒๕๐๕ พิมพ์ใหญ่ บี ทั้ง ๒ องค์นี้การันตีความสวยสมบูรณ์ด้วยการได้แชมป์งานประกวดใหญ่ ที่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องฯ รับรองมาแล้วหลายครั้ง ทั้ง ๒ องค์นี้เป็นพระของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ผู้ชำนาญการพระชุดหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ โดยเฉพาะ และเป็นผู้ที่เก็บสะสมพระหลวงพ่อทวด องค์แชมป์ ทุกรุ่นทุกพิมพ์ มากกว่า ๒๕๐ องค์ และเป็นผู้ให้ข้อมูลเชิงเทคนิค ประกอบเนื้อหาบทความนี้ ซึ่งผู้เรียบเรียงต้องขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยความเคารพยิ่ง
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ