Lifestyle

เล่าอดีตผ่าน'พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เล่าอดีต ผ่าน 'พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร' : คอลัมน์ถิ่นไทยงาม

เล่าอดีตผ่าน'พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร'

 

               เขายี่สาร เขาเตี้ยๆ ลูกเดียว ของจ.สมุทรสงคราม อยู่ในเขต อ.อัมพวา จริงๆ เขาเล่าว่าเป็นเกาะ แต่ตอนมาเกิดดินตะกอนพอกพูน และมีการเข้ามาตั้งรกรากของชุมชนเมื่อ 800-900 ปีมาแล้ว หรือราวต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยต้นกำเนิดชุมชนเล่าว่า คือพ่อปู่ศรีราชา หรือจีนขาน ที่เดินทางล่องเรือมาจากจีนด้วยกัน 3 คนพี่น้อง เกิดเรือแตก พี่น้องสามคนเลยพลัดพรากจากกัน โดยจีนเคราพี่คนโต ไปอยู่เขาตะเครา และจีนกู่น้องคนเล็กไปอยู่เขาอีโต้ ส่วนจีนขาน คนกลางก็มาอยู่ที่เขายี่สารนี่เอง ประวัติคร่าวๆ ของบ้านยี่สาร หาอ่านได้ทั่วไป 

                การเดินทางไปบ้านยี่สาร ปัจจุบันมีป้ายบอกเส้นทางชัดเจน จากกรุงเทพ ออกพระราม 2 เลยไปประมาณ กม.ที่ 77 เลี้ยวซ้ายไปตามแยกเข้าวัดคลองโคลน-หาดเจ้าสำราญ-ชะอำ ตามทางจะมีป้ายบอกทางไปวัดเขายี่สาร และพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร ก็ขับไปตามป้าย ไปสิ้นสุดที่วัดเขายี่สาร  

                ฉันจอดรถใกล้กับโรงเรียน เพราะจะได้ถือโอกาสเดินดูรอบๆ ฉันขึ้นทางด้านหลังของวัด ที่อยู่บนเขาเตี้ยๆ ผ่านถ้ำพระนอน เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ อยู่ในถ้ำเตี้ยๆ ขึ้นด้านบนเป็นวิหารหลวงพ่อปู่  เดินเลาะออกมาด้านหน้าจะผ่านต้นไม้ใหญ่ ที่เลยไปด้านหน้าเป็นโบสถ์ที่ประดิษฐาน รอยพระพุทธบาท และ หลวงพ่อปากแดง

                พระผู้ใหญ่รูปหนึ่งอยู่แถวนั้น ฉันเลยถือโอกาสถามไถ่ ได้ความว่า วัดนี้สร้างมานานแล้ว เมื่อก่อนวัดจะอยู่ในคลองลึกไปอีก แต่ว่าโบสถ์พัง จึงได้รื้อนำออกมาสร้างบนเขาแห่งนี้ ส่วนหลวงพ่อปากแดงที่เห็นองค์นี้อายุไม่ต่ำกว่า 300 ปีมาแล้ว
 จากประวัติของวัด ทำให้ทราบว่าวัดเขายี่สารสร้างในสมัยพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ.2246 ได้รับการบูรณะสมัยรัชกาลที่ 4-5 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระอุโบสถเป็นศิลปะสมัยอยุธยา ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามอยู่ภายในโบสถ์และในวิหารรวมถึงบานประตูพระวิหารแกะสลักลวดลายสวยงาม เชื่อว่าเป็นฝีมือช่างปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา

 

เล่าอดีตผ่าน'พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร'

                บริเวณรอบๆ โบสถ์ด้านบนเขา จะมีป้ายคำกลอนสอนใจติดอยู่ทั่วไป บางทีการได้อ่านอีกครั้งก็เตือนสติให้ฉุกคิดได้ไม่น้อย

                ลงจากวัด เลี้ยวเข้า พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร ซึ่งอยู่ติดกัน ใช้ศาลาการเปรียญเก่าเป็นที่จัดแสดง ซึ่งถือเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพราะรวบรวมของเก่าแก่ ที่ขุดค้นพบในพื้นที่ ถ้วยโถโอชาม จนถึงเครื่องไม้เครื่องมือในการทำมาหากิน กำลังสำคัญคนหนึ่งในหลายคนในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ คือ อาจารย์สิริอาภา รัชตะหิรัญ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นชาวบ้านเขายี่สารโดยกำเนิด 

                โดยแบ่งโซนจัดแสดงชั้นบน เป็นที่จัดแสดงเครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา สมุดใบลาน เครื่องลายครามที่ขุดพบ รวมถึงนิทรรศการบอกเล่าความเป็นมาของบ้านยี่สาร ส่วนชั้นล่าง จะมีเครื่องมือ เครื่องใช้ในการทำมาหากิน และดำรงชีพในชีวิตประจำวัน รวมถึงการจำลองเตาเผาถ่านไม้โกงกาง ที่เหมือนเป็นอาชีพเฉพาะถิ่น ที่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงมีการรื้อบ้านเก่าที่เจ้าของถวายวัดก่อนตายไป เอามาจัดแสดงให้เห็นในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

                ป้าบุญมั่น หรือ ป้าแอ๋ว ชาวบ้านยี่สาร ซึ่งมารับหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์เล่าว่า ตอนเริ่มทำพิพิธภัณฑ์ก็ขอไปตามบ้าน แล้วนำมารวมไว้ ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ก็ยังใช้ชีวิตแบบเดิม ทั้งประมงชายฝั่ง ทำถ่านไม้โกงกาง นากุ้ง

 

เล่าอดีตผ่าน'พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร'

 

                ฉันไปยืนริมท่าน้ำของวัด เป็นวังมัจฉา ปลาน้ำเค็ม ก็ได้เห็นวิถีที่เรียบง่าย ทั้งพวกพายเรือดักกุ้ง ปลา เรือขายของ ขายกาแฟไปตามบ้าน แต่ก็เริ่มได้กลิ่นของความขัดแย้งในเรื่องการทำมาหากิน กับการดำรงชีพในปัจจุบัน

                 หากแต่ ณ วันนี้ บ้านเขายี่สารยังสงบ เรียบง่าย และน่าไปเยือน
 
...............................................................

หมายเหตุ : ไปพิพิธภัณฑ์ ติดต่อล่วงหน้าที่ อ.สิริอาภา 08-1859-3195  หรือ คุณธนู 08-9696-7556

 

..............................................................

(เล่าอดีต ผ่าน 'พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร' : คอลัมน์ถิ่นไทยงาม)
 

                

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ