ข่าว

กษัตริย์เก้าชีวิตแห่งกัมพูชา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นโรดม สีหนุ : กษัตริย์เก้าชีวิตแห่งกัมพูชา

          แล้วโลกก็สิ้นอดีตพระมหากษัตริย์ผู้เต็มไปด้วยสีสันมากที่สุดในโลกอีกพระองค์หนึ่ง อดีตพระมหากษัตริย์ผู้อยู่คู่การเมืองในกัมพูชามานานเกือบ 60 ปีจนได้รับยกย่องว่าเป็นพระบิดาแห่งกัมพูชายุคใหม่ ตลอดทั้งพระชนม์ชีพทรงวนเวียนอยู่กับการเมืองที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและโศกนาฏกรรมไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้ทรงมีบทบาทหลายสถานะด้วยกัน ทั้งในสถานะกษัตริย์หนุ่มที่ฝรั่งเศสปั้นขึ้นมาหมายให้เป็นกษัตริย์หุ่น แต่กลับสละราชสมบัติสุดท้ายก็กลับมาครองราชย์ใหม่ก่อนจะสละราชย์เป็นครั้งที่ 2 ทรงเป็นนักต่อสู้เพื่อสันติภาพที่ต้องเสด็จไปลี้ภัยต่างประเทศ 2 ครั้ง เป็นผู้นำกองกำลังฝ่ายต่อต้านหลายยุคหลายสมัย และเป็นนักโทษสมัยรัฐบาลเขมรแดง   

          กระทั่งกินเนสส์บุ๊กได้บันทึกสถิติโลกไว้ว่า พระองค์ทรงเป็นนักการเมือง ที่ทรงดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลากหลายตำแหน่งมากที่สุดในโลก โดยทรงเป็นกษัตริย์ 2 สมัย ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ หรือทรงดำรงตำแหน่งกษัตริย์โดยไม่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 สมัย ประธานาธิบดี 1 สมัย นายกรัฐมนตรี 2 สมัย และประมุขแห่งรัฐของรัฐบาลพลัดถิ่นของพระองค์เองอีก 1 สมัย

          แต่สำหรับคนไทยรุ่นศึกชิงเขาพระวิหารยกแรกเมื่อทศวรรษ 2503 พระองค์คือคนเขมรคนเดียวที่คนไทยรู้จักและไม่ชอบหน้ามากที่สุด ในฐานะที่ทำให้ไทยต้องเสียเขาพระวิหารให้กัมพูชาจากการตัดสินของศาลโลก ถึงขนาดมีการเล่นปริศนาคำทายกันอย่างกว้างขวางในยุคนั้นว่า "สีอะไรเอ่ยที่คนไทยเกลียดมากที่สุด" คำตอบก็คือ "สีหนุ"

          กระนั้น ยามเมื่อพระองค์ต้องทรงหนีภัยการเมือง ไม่ว่าจะกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง โดยเฉพาะในยุคเขมรแดงเรืองอำนาจ ประเทศไทยกลับเป็นประเทศแรกที่ให้ความช่วยเหลือ ทั้งให้พระองค์เสด็จผ่านก่อนจะเดินทางไปปักกิ่ง หรือให้ประทับชั่วคราวระหว่างเยี่ยมราษฎรชาวกัมพูชาที่หนีภัยมาอออยู่บริเวณชายแดน รวมไปถึงการรับรองรัฐบาลเขมรสามฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลหุ่นเฮง สัมรินที่เวียดนามหนุนหลังอยู่ ตามด้วยการรับรองรัฐบาลเขมรสี่ฝ่ายที่พระองค์ทรงเป็นผู้นำในการเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีส จนนำมาซึ่งการเลือกตั้งภายใต้การกำกับดูแลของกองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2536

          "สีหนุก็คือกัมพูชา กัมพูชาก็คือสีหนุ" จูลิโอ เจลเดรส์ ผู้เขียนพระประวัติของอดีตกษัตริย์ผู้นี้ให้ความเห็นด้วยประโยคง่ายๆ แค่ประโยคเดียวแต่สามารถสะท้อนภาพการเมืองในกัมพูชาได้ดีที่สุด

          อย่างไรก็ดี พระองค์ทรงพูดถึงพระองค์เองไว้ครั้งหนึ่งว่า ทรงเป็น "เด็กซน" ชอบชีวิตที่สุขสำราญและชื่นชอบงานศิลป์โดยเฉพาะภาพยนตร์ ทรงเป็นผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ถึงกว่า 10 เรื่องด้วยกัน 

          พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ประสูติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2465 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต และสมเด็จพระมหากษัตริยานี ศรีสวัสดิ์ กุสุมะ นารีเรศ สิริวัฒนา เสด็จขึ้นครองราชย์ครั้งแรกเมื่อปี 2484-2498 ภายใต้การผลักดันจากฝรั่งเศส ที่คิดว่าพระองค์ทรงเป็นเจ้าชายหนุ่มหัวอ่อน ว่านอนสอนง่าย อ่อนหัดและไร้เดียงสาทางการเมือง แต่กลับผิดคาดเพราะทรงเป็นคนนำขบวนเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส จนกระทั่งสมปรารถนาเมื่อปี 2496 แต่เป็นเพราะไม่อยากเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งจำกัดพระราชอำนาจทางการเมือง พระองค์จึงทรงสละราชสมบัติเมื่อปี 2498 ให้พระบาทสมเด็จพระนโรดม สุรามฤต พระราชบิดาทรงครองราชย์แทน 

          จากนั้นทรงกระโจนชีวิตสู่การเมืองนานถึง 15 ปีเต็ม เริ่มด้วยการทรงสมัครรับเลือกตั้งจนชนะเลือกตั้งอย่างง่ายดายในปีเดียวกันนั้น ทรงเป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อพระชนกเสด็จสวรรคตเมื่อปี 2503 ได้ทรงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐของกัมพูชา โดยไม่ได้ประกอบพิธีราชาภิเษก ระหว่างนั้นทรงมีพระราชอำนาจล้นฟ้า สามารถสั่งปิดสื่อที่อยู่คนละฝ่ายกับรัฐบาล รวมทั้งกำจัดนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ ยังทรงรวบโครงการใหญ่ๆ ไปดูแลเอง ขณะเดียวกันก็ทรงปฏิรูปการศึกษาให้ทันสมัย อีกทั้งทรงเป็นแกนนำในการจัดตั้งขบวนการสังคมราษฎร์นิยม อันเป็นขบวนการทางการเมืองที่ควบคุมรัฐบาลอีกต่อหนึ่งในช่วงทศวรรษ 2513 ซึ่งถือเป็นยุคทองสมัยใหม่ของประเทศ

          โจเซฟ ตีโต อดีตประธานาธิบดีตลอดกาลของยูโกสลาเวีย ซึ่งได้ร่วมมือกับเจ้าสีหนุในการตั้งกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเพื่อคานอำนาจกับกลุ่มประเทศโลกที่ 1 กับโลกที่ 2 ในยุคสงครามเย็น เคยให้ความเห็นระหว่างเดินทางเยือนกัมพูชาในช่วงนั้นว่า "กัมพูชาเป็นประเทศที่กำลังเติบโตเบ่งบาน มีมาตรฐานการครองชีพสูง และมีศักยภาพทางอุตสาหกรรม โชคร้ายตรงที่แม้ต้องการจะปลีกตัวเองให้พ้นจากปัญหาวุ่นวายต่างๆ แต่กัมพูชาก็ไม่สามารถกำหนดโชคชะตาตัวเองได้"

          ผ่านไปไม่นานนัก ความเห็นของตีโตได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง เพราะแม้ว่าเจ้าสีหนุต้องการจะรักษาความเป็นกลาง แต่ก็ไม่สามารถทานกระแสสงครามเวียดนามที่สหรัฐถาโถมเข้ามายุ่งเกี่ยวเต็มตัวและต้องการดึงกัมพูชามาเป็นพวกด้วย

          ท้ายสุด นายพลลอนนอลที่สหรัฐหนุนหลังอยู่ ก็ได้ทำปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลสีหนุ พระองค์ต้องเสด็จไปลี้ภัยในต่างประเทศเและตั้งขบวนการต่อต้านขึ้นเป็นครั้งแรกในจำนวนหลายๆ ครั้งด้วยกัน รวมไปถึงการร่วมมือกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลลอนนอลที่มีอยู่หลายกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มเขมรแดง ซึ่งสามารถโค่นรัฐบาลลอนนอลได้ในปลายปี 2518 ปูทางให้เจ้าสีหนุได้เสด็จกลับประเทศ แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก พระองค์ก็ทรงถูกกักบริเวณภายในพระราชวังช่วงที่เขมรแดงยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด "ข้าพเจ้าตระหนักดีว่าพอข้าพเจ้าไม่มีประโยชน์อีกต่อไป พวกเขาก็เขี่ยข้าพเจ้าทิ้งง่ายๆ เหมือนกับเป็นเศษสวะไร้ค่า" เจ้าสีหนุทรงระบายความในใจระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อตะวันตก 

          เมื่อเวียดนามกรีธาทัพโค่นรัฐบาลเขมรแดงเมื่อปี 2522 แล้วยึดครองกัมพูชาภายใต้รัฐบาลหุ่นเฮง สัมริน  เจ้าสีหนุก็ได้เป็นผู้นำรัฐบาลเขมร 3 ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเฮง สัมริน รวมทั้งเป็นผู้นำเปิดเจรจาสันติภาพนำไปสู่การถอนทหารเวียดนามในอีก 10 ปีให้หลัง ตามด้วยการลงนามในข้อตกลงสันติภาพที่กรุงปารีสเมื่อปี 2534 ปูทางให้กองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติเข้าไปจัดการเลือกตั้งในอีก 2 ปีให้หลัง แล้วก็ได้รัฐบาลผสมนำโดยนายฮุน เซน และเจ้านโรดม รณฤทธิ์ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระองค์

          พระองค์เคยพระราชทานสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส เกี่ยวกับหลักการทางการเมืองว่า ทรงมุ่งมั่น "ปกป้องเอกราช บูรณภาพแห่งดินแดน ศักดิ์ศรีของประเทศและประชาชน"

          เมื่อบ้านเมืองเริ่มกลับคืนสู่ความสงบ เจ้าสีหนุก็ทรงขึ้นครองราชย์อีกครั้งในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยว่า
“พระกรุณา พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ราชหริวงษ์ อุภโตสุชาติ วิสุทธิวงษ์ อัคคมหาบุรุษรัตน์ นิกโรดม ธัมมิกมหาราชาธิราช บรมนาถ บรมบพิตร พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี” ทรงมุ่งมั่นหาทางประกันเสถียรภาพทางการเมืองโดยไม่เข้าสู่สนามการเมืองโดยตรงเหมือนในยุคแรก กระทั่งเมื่อพระองค์เริ่มมีปัญหาด้านพระพลานามัย ต้องเสด็จไปรับการรักษาที่กรุงปักกิ่งหลายครั้ง ท้ายสุด จึงทรงประกาศสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2547 ขณะทรงมีพระชนมพรรษา 82 พรรษา และให้เจ้านโรดม สีหมุนี ขึ้นครองราชย์แทน โดยทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น “พระมหาวีรกษัตริย์ พระวรราชบิดา เอกราช บูรณภาพดินแดน และความเป็นเอกภาพแห่งชาติเขมร” และประทับที่กรุงปักกิ่งตราบกระทั่งสิ้นพระชนม์อย่างสงบ 

          สำหรับชีวิตส่วนพระองค์นั้น ทรงมีพระชายารวม 6 พระองค์ด้วยกัน มีพระโอรส 7 พระองค์ และพระธิดาอีก 7 พระองค์ รวม 14 พระองค์ โดยพระอัครมเหสีองค์สุดท้ายคือ พระมหาวีรกษัตรีย์ นโรดม มุนีนาถ สีหนุ พระวรราชมารดา หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในพระนาม ราชินีโมนิก พระราชมารดาพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ