Lifestyle

ความเสมอภาคทางเพศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันที่ ๘ มีนาคม ของทุกๆ ปี โลกกำหนดให้เป็น "วันสตรีสากล" โดยในปีนี้ผู้เขียนได้รับนิมนต์ไปร่วมบรรยายในงานฉลองวันสตรีสากล ปีนี้ ครบ ๑๐๐ ปี เขาจัดงานมหกรรมที่ ม.ธรรมศาสตร์ ที่เรียกว่า มหกรรม เพราะจัดหลายวัน เห็นมีหลายงาน หลายเวที หลายประเด็นมากเลยค่ะ

 ในบรรยากาศห้องประชุมชั้น ๓ ที่ตึกอเนกประสงค์ ได้เวลาเสวนาแล้ว แต่ดูวิทยากรจะมากกว่าผู้ฟัง เวลาล่วงไปร่วมครึ่งชั่วโมง เครื่องติดพออุ่น ญาติโยมค่อยๆ ทยอยเข้ามาร่วมฟังการเสวนา พออบอุ่น
เรื่องบทบาทสตรี เรื่องความเสมอภาคทางเพศ ก็พูดกันมานาน แทบจะเรียกว่า ตลอดชีวิตการทำงานของผู้เขียน ในสมัยที่เป็นฆราวาส

 ท่าทีอย่างหนึ่งที่เห็นได้บ่อยๆ คือ ท่าทีที่เบื่อหน่าย ผู้หญิงพวกนี้ก็พูดเรื่องผู้หญิงอีกแล้ว แม้กระทั่งผู้หญิงเองที่เรียกว่ามีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่เข้าใจปัญหาที่ผู้หญิงเผชิญก็มีท่าทีเช่นเดียวกัน
คราวนี้เวทีจึงมีการเปิดประเด็นเสนอว่า เราควรศึกษาว่า ทำอย่างไรเราจึงจะพูดถึงเรื่องราวของเรา คือ ทั้งหญิงชาย และเพศอื่นๆ โดยทุกคนมีความรู้สึกว่า เป็นเรื่องของตัว

 นั่นคือ ความตระหนักรู้ว่า นอกเหนือจากตัวเราเองที่เป็นหญิง เป็นชาย และเป็นอื่นๆ นั้น บริบทที่สำคัญกว่านั้น คือ ความเป็นมนุษย์

 เราพยายามปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นหญิง แต่ก็ไม่ค่อยได้แนวร่วมจริงจังมากนัก หากเราปิดประเด็นออกไป และวางเป้าหมายให้สูงขึ้น คือ การปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เราจะได้แนวร่วมอย่างกว้างขวาง เราจะสามารถครอบคลุมไปถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม การดูแล ผู้หญิง เด็ก เยาวชน และการโอบอุ้มพี่ชายน้องชายของเราด้วย

 ผู้เขียนเปิดประเด็นเรื่องผู้ชายก็ถูกกระทำเหมือนกัน อย่างน้อยในความคาดหวังของสังคมที่ไม่สมจริง เช่น การคาดหวัง ปลูกฝังให้ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว ให้ผู้ชายเป็นผู้นำ เท่านั้น ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนดอกที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้ ในความเป็นจริง ผู้หญิงหลายคนก็เป็นผู้นำที่ดี ก็เขาเป็นแม่ของเรายังได้นี่นา

 หากเราเปิดประตูเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถ มีความถนัดได้ขึ้นมาทำงานที่เหมาะสม เราจะได้งานที่ดีกว่ามาก มาถึงตอนนี้เราควรจะฉลาดที่จะก้าวข้ามเรื่องหญิงชายไปได้แล้ว     

"ธัมมนันทา"
www.thaibhikkhunis.org

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ