Lifestyle

พาผลงานชั้นครู “กลับบ้าน”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สานต่อเจตนารมณ์ของ “เทพ จุลดุลย์” นักสะสมผลงานศิลปะชาวไทยในรัฐออริกอน นำสุดยอดผลงานศิลปะกลับเมืองไทย ในนิทรรศการ "กลับบ้าน"

           

พาผลงานชั้นครู  “กลับบ้าน”

           จากความตั้งใจที่จะสานต่อเจตนารมณ์ของ “เทพ จุลดุลย์” นักสะสมผลงานศิลปะชาวไทยในรัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการให้ผลงานที่เขาสะสมไว้ได้กลับสู่ประเทศไทยบ้านเกิด เพราะผลงานเหล่านั้นล้วนเป็นของศิลปินไทยชั้นครู ที่หลายชิ้นไม่เคยนำมาจัดแสดงมาก่อน ล่าสุด สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ได้นำมาจัดแสดงและเรียบเรียงเป็นเรื่องราวผ่านนิทรรศการผลงานสะสม “กลับบ้าน” เพื่อให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่สะท้อนข้อคิด มุมมอง เกร็ดความรู้ ข้อมูลเชิงวิชาการต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของไทย กระตุ้นให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนหันมาสนใจงานศิลปะที่ทรงคุณค่า 
              วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า นิทรรศการผลงานสะสม “กลับบ้าน” ที่นำของสะสมซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมของศิลปินที่มีชื่อเสียงและเป็นปูชนียบุคคลในวงการศิลปะไทยมาเผยแพร่นี้ ถือเป็นการเปิดตัวภาพประวัติศาสตร์ที่กระทรวงวัฒนธรรมสะสมและมีแผนจะนำไปจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งใหม่ ถนนรัชดาภิเษก พื้นที่รองรับ 5 หมื่นตารางเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งผลงานทั้ง 29 ภาพ มีคุณค่าและราคาสูง อย่างไรก็ตาม ได้มอบนโยบายให้ซื้อผลงานสะสมกลับเมืองไทยหากเป็นผลงานคุณภาพ ทั้งยังมีโครงการยืมภาพมาจัดแสดงโดยเป็นความร่วมมือกับหอศิลป์ในต่างประเทศหลายแห่งด้วย

               ด้าน วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เผยถึงแนวทางสะสมผลงานของ สศร.ว่า นิทรรศการ “กลับบ้าน” เป็นหนึ่งในโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจัดตั้ง สศร. ที่ส่งเสริมให้มีหอศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งใหม่เหมือนเป็นเวทีเผยแพร่ผลงานศิลปะของศิลปินไทยสู่ระดับนานาชาติ การสะสมผลงานดำเนินการมา 10 ปีแล้ว ระยะหลังได้ผลงานสะสมที่มีคุณค่ามากผ่านการจัดซื้อและผู้รักงานศิลป์มอบให้เก็บสะสม ซึ่งหลังรับผลงานจะมีการตรวจสอบคุณภาพ หากชำรุดจะซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์อีกครั้งก่อนเผยแพร่
         “ผลงานสะสมครั้งนี้เป็นผลงานชุดใหญ่สุดที่ได้รับมอบ ทั้งเอกสารลายมือเขียนบนหมึกดำบนกระดาษ ปี พ.ศ.2475 ของพระเจนดุริยางค์ ถือเป็นการกำเนิดของเพลงชาติ ผลงาน อ.ศิลป์ ภาพ อ.เฟื้อ หาชมจากที่ไหนไม่ได้ การกลับบ้านของงาน 29 ชิ้น จะเป็นพื้นที่ให้คนไทยได้ศึกษาเรียนรู้อย่างแท้จริง และขอให้ประชาชนมั่นใจผลงานจะเก็บสะสมให้เป็นสมบัติชาติ ทำนุบำรุงอย่างดีเช่นเดียวกับที่ครอบครัวจุลดุลย์ดูแลรักษาไว้” วิมลลักษณ์ ย้ำ

พาผลงานชั้นครู  “กลับบ้าน”

ศ.กมล ทัศนาญชลี นำชมนิทรรศการ

         ด้าน ศ.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2540 ภัณฑารักษ์นิทรรศการครั้งใหญ่นี้ กล่าวว่า รู้จัก เทพ จุลดุลย์ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว มีผลงานทรงคุณค่าของศิลปินยุคบุกเบิกก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ในมือจำนวนมาก ถือเป็นรากแก้วของวงการศิลปะไทย เคยคุยกันจะนำผลงานกลับไทย แต่ครั้งนั้นเขายังไม่พร้อม จากนั้นปี พ.ศ.2525 ครบ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ตัวเองได้ยืมผลงานของมาแสดงเผยแพร่สู่สายตาชาวสหรัฐ ซึ่งเจ้าของผลงานมีความสุขมากและเป็นหนึ่งในความประสงค์ด้วย จนกระทั่งเสียชีวิต ผลงานสะสมตกเป็นของครอบครัวจุลดุลย์ ก่อน สศร.จะติดต่อซื้อผลงาน 10 ชิ้น และครอบครัวมอบให้เพิ่มเติมอีก 19 ชิ้น ซึ่งจะนำมาจัดแสดงครั้งยิ่งใหญ่
             “คุณเทพ จุลดุลย์ เป็นหนึ่งในนักสะสมที่สะสมงานชั้นเยี่ยมของอาร์ติสท์ไทยไว้จำนวนมาก ซึ่งเป็นผลงานรุ่นแรกๆ มีความสำคัญ หาดูได้ยาก ซึ่งนับวันจะมีค่าและน่าชม การได้ผลงานที่เป็นรากแก้วคืนมาถือเป็นการเติมเต็มประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ที่ขาดหายไป ภาพเหล่านี้สมบูรณ์มาก มีเพียงบางภาพที่ชำรุดต้องซ่อมแซม ทุกภาพราคาสูง แต่สำคัญสุดคือคุณค่าของรูป อาทิ ภาพสีน้ำ “ทิวทัศน์เพชรบุรี” ของ อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ ความพิเศษของชิ้นนี้ คือ เทคนิคการนำกระดาษหนังสือพิมพ์มาแช่น้ำ ประกบซ้อนเป็นชั้นๆ ด้วยแป้งเปียก ทาสีขาวเป็นสีพื้น ใช้วาดแทนกระดาษเขียนภาพที่ขาดแคลนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สะท้อนแม้มีภัยสงคราม แต่ไม่ใช่อุปสรรค ท่านเขียนรูปทิวเขา แปลงนา ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เป็นแบบอย่าง อีกหนึ่งภาพได้กลับบ้านชื่อ “ดอกไม้” ของ อ.สวัสดิ์ ตันติสุข สร้างปี 2505 เทคนิคสีน้ำมันบนแผ่นไม้ ท่านเป็นผู้บุกเบิกงานนามธรรมคนแรกๆ ในไทย ชิ้นนี้ยืนยันความสำเร็จได้รางวัลที่ 2 เวทีประกวดศิลปกรรมนานาชาติครั้งที่ 1 ที่ไซง่อน เวียดนามใต้  ในนิทรรศการยังมีภาพพิมพ์แกะไม้ “ม้าคำรณ” อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ สร้างขึ้นปี 2505 มีเพียง 2 ชิ้นเท่านั้น หาดูที่ไหนไม่ได้ ภาพสเก็ตช์รูปคนนั่ง ผลงานภาพสุดท้ายที่ อ.ศิลป์ พีระศรี สร้างสรรค์เมื่อ 55 ปีที่แล้ว ก่อนเสียชีวิตเพียง 3 วัน งานจิตรกรรมของ อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ ซึ่งสร้างสรรค์ในค่ายกักกันช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศอินเดีย ภาพพิมพ์ชุดแรกของ อ.ชลูด นิ่มเสมอ ที่พิมพ์บนกระดาษสา คว้ารางวัลในการประกวดศิลปกรรมครั้งที่ 5 ที่ประเทศยูโกสลาเวีย ปี 2506 ภาพสีน้ำมันวัดโพธิ์ของ อ.ทวี นันทขว้าง สร้างสรรค์ไว้ปี 2496 ที่ถูกทอดทิ้งไว้ใต้ถุนสถานทูตไทยประจำกรุงโรม อิตาลี อ.ประหยัด พงษ์ดำ ทนไม่ได้จึงนำมาเก็บรักษาไว้ ก่อนจะเป็นของสะสมคุณเทพ แล้วยังมีภาพที่อาจารย์ประหยัดเขียนขึ้นเมื่อไปร่วมงานศพคุณแม่ที่สิงห์บุรี หลังกลับจากอิตาลีไม่กี่วัน อีกงานชื่อ “สิ้นหวัง” เป็นภาพพิมพ์ ปี 2506 ผลงานไปอยู่ร้านเจ๊กขายกาแฟ เอากรอบรูปไว้ ไม่สนใจภาพ สุดท้ายคุณเทพไปซื้อมาสะสม ยังมีอีกหลายชิ้นที่ประวัติศาสตร์ช่ำชอง ด้านหลังภาพนักสะสมบันทึกข้อมูลไว้ละเอียดชัดเจน ทุกภาพมีที่มาอย่างน่าอัศจรรย์” อ.กมล แจง

          ทั้งนี้ นิทรรศการ “กลับบ้าน” จะจัดแสดงไปจนถึง 28 กุมภาพันธ์ เปิดทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน และจะจัดเป็นนิทรรศการหมุนเวียนอีก 4 ครั้ง หลังเดือนกุมภาพันธ์

 

                  พาผลงานชั้นครู  “กลับบ้าน”

หมู่บ้านนนทบุรี ผลงาน ดำรง วงศ์อุปราช

พาผลงานชั้นครู  “กลับบ้าน”

ภาพสีน้ำมันวัดโพธิ์ ของ อ.ทวี นันทขว้าง

พาผลงานชั้นครู  “กลับบ้าน”

ภาพสเก็ตช์รูปคนนั่ง โดย อ.ศิลป์ พีระศรี

พาผลงานชั้นครู  “กลับบ้าน”               

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ