Lifestyle

มุมมองสยามในสายตาชาวต่างชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านนิทรรศการ สยาม ผ่านมุมกล้องจอห์น ทอมสัน ๒๔๐๘–๐๙

เราคนไทยอยู่เมืองไทยมาแต่อ้อนแต่ออก ความคุ้นชินในความเป็นอยู่และผู้คนกลายเป็นเรื่องที่เรามองตัวเองได้ด้านเดียว เฉกเช่นส่องกระจกน้อยคนนักที่จะเห็นตัวเองรอบ 360 องศา (นอกจากมีกระจกรอบตัว) ยิ่งเป็นเรื่องในอดีตน้อยคนนักที่จะได้เห็นภาพเหล่านั้นอย่างชัดเจน แต่ล่าสุด ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ร่วมกับ บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ จำกัด จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายโบราณและศิลปวัตถุร่วมสมัย “สยาม ผ่านมุมกล้องจอห์น ทอมสัน พ.ศ.๒๔๐๘-๐๙” โอกาสสุดท้ายกับการชม “๖๐ ภาพถ่ายโบราณ” หาดูได้ยาก ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันเวลคัมแห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ  โดยงานจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 15  มกราคมนี้ ที่ห้องอาร์ซีบี แกลลอเรีย ชั้น 2 ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก (ค่าเข้าชม 50 บาท)

มุมมองสยามในสายตาชาวต่างชาติ นิทรรศการ สยาม ผ่านมุมกล้องจอห์น ทอมสัน ๒๔๐๘–๐๙

มุมมองสยามในสายตาชาวต่างชาติ

ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์

ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ประธานคณะกรรมการจัดนิทรรศการและภัณฑารักษ์ของงาน และซีอีโอของสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ เล่าว่า ภาพถ่ายในนิทรรศการครั้งนี้บันทึกโดย จอห์น ทอมสัน ช่างภาพชาวสกอตแลนด์ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วง พ.ศ.2408-2409 โดยเขาเป็นช่างภาพชาวต่างชาติที่ฉายพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว งานแสดงภาพสยามโบราณรวม 60 ภาพครั้งนี้ ประกอบด้วย ภาพถ่ายที่เกี่ยวกับประเทศไทย 43 ภาพ, ภาพนครวัด ประเทศกัมพูชา 6 ภาพ และ ภาพเมืองชายฝั่งประเทศจีนและฮ่องกง 11 ภาพ หลังงานแสดงครั้งนี้ภาพถ่ายทั้งหมดจะถูกส่งคืนเจ้าของลิขสิทธิ์ สถาบันเวลคัม กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทันที

“การจัดงานครั้งนี้มีความน่าสนใจอีกข้อคือที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก นี้อยู่ตรงข้ามกับบ้านที่นายจอห์น ทอมสัน พำนักอยู่เมื่อครั้งมาที่สยาม หรือสำนักงานเขตคลองสานในปัจจุบัน เปรียบได้กับจอห์น ทอมสัน และผลงานของเขาได้กลับมาอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานที่ที่เขาพำนักอีกครั้ง ถึงแม้ว่าจอห์น ทอมสัน จะไม่ใช่ช่างภาพคนแรกที่ได้เข้าไปถ่ายในพระราชสำนัก แต่ภาพของเขาสามารถนำมาตีพิมพ์ซ้ำได้ และเขายังเป็นคนที่โฆษณาตัวเองได้เก่งมากด้วย เพราะหลังจากที่เขากลับไปอังกฤษแล้ว เขานำเรื่องราวของเมืองสยามไปตีพิมพ์ลงนิตยสารและหนังสือพิมพ์มากมาย เพราะฉะนั้นความโด่งดังของไทยสมัยนั้น พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 ที่ถูกส่งต่อไปถึงมือกษัตริย์ของอังกฤษและประธานาธิบดีในสมัยนั้น ก็มาจากฝีมือจอห์น ทอมสัน เขาจึงเป็นสื่อกลางที่สร้างความเข้าใจในเมืองสยามว่าเป็นเมืองศิวิไลซ์ ดังจะเห็นจากภาพที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้” ม.ร.ว.นริศรา กล่าว

มุมมองสยามในสายตาชาวต่างชาติ กล่องเงินลายเถาไม้, ตลับสิงโตเงิน 3 ตัว, กาเงินดุนลวดลายมังกร, ถาดไม้ปุ่มตราพระอาทิตย์

พร้อมกันนี้ยังกล่าวถึงที่มาของการจัดนิทรรศการว่า เนื่องด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรงาน “นิทรรศการประเทศจีน ผ่านมุมกล้อง จอห์น ทอมสัน” และสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์เคยพิมพ์หนังสือมาแล้วก่อนหน้านี้ ประจวบกับสหายชาวฮ่องกงที่พำนักในอังกฤษของท่านคือ “เบ็ตตี้ เยา" เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจอห์น ทอมสัน และเป็นภัณฑารักษ์ของนิทรรศการภาพถ่ายของจอห์น ทอมสัน ที่มีการจัดแสดง ณ เมืองต่างๆ ทั่วโลกมาแล้ว 13 แห่ง ในระยะเวลา 7  ปีที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เหตุทั้งหมดจึงเป็นการดีที่จะนำผลงานภาพถ่ายโบราณของจอห์น ทอมสัน ที่ถ่ายไว้คราวเดินทางเข้ามาที่ไทยมาจัดแสดงที่ประเทศไทย ภาพทั้งหมดถูกคัดเลือกโดย ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ร่วมกับภัณฑารักษ์ไทยหลายท่าน รวมทั้ง เบ็ตตี้ เยา ด้วย

มุมมองสยามในสายตาชาวต่างชาติ

ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์-เอกรินทร์ เปลี่ยนไทย

    ด้าน ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ จำกัด ในฐานะภัณฑารักษ์ร่วม ผู้ทำหน้าที่ “อ่าน” ผลงานภาพถ่ายชุดนี้กล่าวว่า ภาพที่สำคัญที่สุดและหาชมได้ยากยิ่งในนิทรรศการนี้คือ พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 หลายภาพที่ยังมีความคมชัดมาก แม้จะผ่านกาลเวลามาแล้วกว่า 150 ปี นับเป็นภาพที่สำคัญมาก เพราะพระองค์โปรดให้จอห์น ทอมสัน เข้าเฝ้าฯ เพื่อฉายภาพของพระองค์โดยเฉพาะในพระบรมมหาราชวัง อีกภาพหนึ่งคือ พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ และยังไม่ได้เข้าสู่พระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) นอกจากนี้ยังมีภาพพาโนรามาของสยาม ที่ถ่ายจากปรางค์วัดอรุณฯ ให้เห็นทิวทัศน์ของแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นภาพสำคัญที่สุดของจอห์น ทอมสัน ที่ต้องใช้ภาพถ่ายถึง 3 ภาพมาต่อกัน

มุมมองสยามในสายตาชาวต่างชาติ

ภาพพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ 

มุมมองสยามในสายตาชาวต่างชาติ ภาพมุมกว้างเกาะรัตนโกสินทร์

นอกจากนี้ยังมีภาพในหลวงรัชกาลที่ 4 ฉลองพระองค์ชุดครุยทองคำตามโบราณราชประเพณี ชุดโจงกระเบนคาดเข็มขัดทองคำ ประทับบนพระที่นั่ง ตั้งเครื่องประกอบพระอิสริยยศ เป็นภาพที่เคยจัดแสดงในงานเอกซ์โป ณ กรุงปารีส เมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งภาพพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 4 ในยุคที่ชาติตะวันตกมีการล่าอาณานิคม พระองค์ทรงหาแนวทางแสดงให้ชาติตะวันตกเห็นถึงความศิวิไลซ์ในการฉลองพระองค์ฉายพระรูปในชุดจอมพลฝรั่ง ภาพของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์จำนวน 2 ภาพ ภาพสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา ต้นราชสกุลมาลากุล ภาพเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ เจ้านายน้อย และนางกำนัลทาสหญิง ที่ทำให้เห็นถึงชนชั้นวรรณะ ระบบเจ้าขุนมูลนาย และระบบทาสในสมัยนั้น ภาพวิวทิวทัศน์วัดวาอาราม บ้านเมืองริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนครและธนบุรี ภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นทั้งขนบธรรมเนียมในวัง รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในยุคนั้น และยังมีภาพสถานที่ต่างๆ ของกัมพูชาและเมืองชายฝั่งของประเทศจีนจากฝีมือของจอห์น ทอมสัน อีกด้วย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ