Lifestyle

ภาพของพ่อ จากปลายพู่กันดาวเด่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้เข้าแข่งขันร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลป์ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ โดยถ่ายทอดแรงบันดาลใจผ่านภาพวาดจำนวน 10 ภาพ

      ภาพของพ่อ จากปลายพู่กันดาวเด่น

 อ.ปัญญา วิจินธนสาร-คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช-ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา

      เข้าสู่ปีที่ 9 สำหรับการค้นหาดาวเด่นดวงใหม่ในเวทีประกวดงานศิลปะระดับเยาวชน “ดาวเด่นบัวหลวง 101” ภายใต้หัวข้อ “๗๐ ปีรัชกาลที่ ๙ ของพวกเราชาวไทย” โดย มูลนิธิบัวหลวง ร่วมกับ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คัดเลือกตัวแทนนักศึกษาศิลปะดีเด่นจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการแข่งขันวาดภาพสดในรูปแบบเรียลิตี้โชว์ ทั้งหมด 70 คน พร้อมจัดอบรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้โดยศิลปินแห่งชาติ เปิดโอกาสให้นักวาดรุ่นใหม่ได้ซักถามเทคนิคจากปรมจารย์วงการศิลป์ไทยเต็มที่ โดยแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ มีการร่วมพูดคุยกับ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการพระราชวัง และคณะกรรมการ ได้แก่ คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช รวมทั้งศิลปินแห่งชาติ ศ.เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง, ศ.วิโชค มุกดามณี และ อ.ปัญญา วิจินธนสาร มาให้คำแนะนำแก่นักศึกษาผู้เข้าแข่งขันดาวเด่นบัวหลวง ครั้งที่ 9 จาก 35 คณะ 33 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ภายในหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯ ถ.ราชดำเนินกลาง เมื่อวันก่อน

ภาพของพ่อ จากปลายพู่กันดาวเด่น

ศ.เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง

      ก่อนเริ่มสร้างสรรค์ผลงานมีกิจกรรมปฐมนิเทศ ให้ผู้เข้าแข่งขันร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลป์ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ โดยถ่ายทอดแรงบันดาลใจผ่านภาพวาดจำนวน 10 ภาพ ซึ่งจะจัดแสดงผลงานดังกล่าวบริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถ.สีลม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้

       ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เผยแนวทางนำเสนอผลงานในโจทย์ 70 ปี รัชกาลที่ 9 ว่าโครการนี้จะทำให้เยาวชนได้พัตนาความรู้ความสามารถ อีกทั้งยังได้ถ่ายทอดความคิดเชิงศิลปะสะท้อนเรื่องราวตลอด 70 ปี การครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยน้อมนำพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันพฤหัสบดี 12 ตุลาคม 2510 ใจความว่า “การศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นการศึกษาที่สำคัญ และควรจะดำเนินควบคู่กันไปกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เพราะความเจริญของบุคคล ตลอดจนถึงความเจริญของประเทศ และของโลกโดยส่วนรวมด้วยนั้น มีทั้งทางวัตถุและจิตใจ ความเจริญทั้งสองทางนี้ จะต้องมีประกอบกัน เกื้อกูลและส่งเสริมกันพร้อมมูล จึงจะเกิดความเจริญที่แท้จริงได้” นั้นทำให้เห็นว่าพระองค์เห็นความสำคัญของงานศิลปะไม่ได้น้อยกว่าวิทยาการ วิทยาศาสตร์ หากศิลปินมีการถ่ายทอดศาสตร์ของพระราชาผ่านงานศิลป์ออกมาจากพรสวรรค์ ความรู้ลึก ความใส่ใจ ผลงานที่ออกมาจะแฝงด้วยศิลปะพัฒนาจิตใจ และศาสตร์ความรู้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคมได้

ภาพของพ่อ จากปลายพู่กันดาวเด่น

 ศ.วิโชค มุกดามณี 

      ด้าน ศ.วิโชค มุกดามณี เผยว่า แนวเรื่องราวของงานศิลปะ 70 ปีทรงครองราชย์ ในปีนี้ น้องๆ น่าจะตีโจทย์เป็น 2 แบบ ได้แก่ถ่ายทอดเรื่องราวของพระองค์เป็นพระราชกรณียกิจ และใช้สัญลักษณ์แทนความดีของพระองค์ แน่นอนว่าทุกคนต้องวาดมาจากภาพในใจ ความประทับใจ หลังจากการศึกษาเรื่องราวของพระองค์

       “ผมเคยจัดนิทรรศการผลงานฝีพระหัตถ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เลยค้นพบว่าทรงเป็นอัครศิลปิน ที่มีผลงานศิลปะมากมายกว่า 130 ชิ้น แบ่งเป็นจิตรกรรม งานภาพวาดรูปเหมือน ประติมากรรม ได้แก่ งานปั้นพระ งานปั้นรูปเหมือน งานออกแบบ ที่เห็นได้บ่อยๆ คือการ์ดอวยพร ทรงศึกษาตั้งแต่การตีสเกลวาดรูป ทดลองร่างภาพ และวาดขยายเป็นรูปใหญ่ที่เหมือนจริงมากๆ ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จพระบิดา จากภาพถ่าย ทรงวาดภาพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยให้ทรงเป็บแบบจริง ด้วยความใส่พระทัย มีหลายสเกลภาพที่ทรงวาดไว้ ทำให้เห็นขั้นตอนการทำงานที่ศึกษามาอย่างดี มีหลายรูปแบบการวาดที่ทรงทดลองทำเรื่อยๆ เพื่อพัฒนาฝีพระหัตถ์ รวมถึงการเชิญเหล่าศิลปินเก่งๆ ของยุคนั้นมาพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองทางด้านศิลปะเป็นประจำอย่างไม่ถือพระองค์ ด้วยการศึกษาอย่างถ่องแท้ผลงานของพรระองค์จึงงดงามมีเรื่องราว มีความหมายทุกชิ้น” อ.วิโชค เล่าวิธีการศึกษางานศิลป์ของพระราชา เป็นแนวทางให้น้องๆ ผู้เข้าประกวด

ภาพของพ่อ จากปลายพู่กันดาวเด่น

สาวิณี ชมภูพาน

       สาวิณี ชมภูพาน นักศึกษาปี่ 4 ม.ราชภัฏนครราชสีมา หนึ่งในผู้เข้าแข่งขัน เผยว่าตัวเองถนัดการใช้เทคนิคสื่อผสม ซึ่งจะลองนำมาใช้กับผลงานในครั้งนี้ มีแนวคิดคร่าวๆ ว่า เมื่อนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครอบครัวซึ่งเป็นคนอีสานจะชอบเล่าเรื่องราวที่เสด็จฯ มาฟื้นฟูความแห้งแล้ง พัฒนาอาชีพให้ประชาชน โดยไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปที่ไหน สมเด็จพระราชชินีจะเคียงข้างไปด้วย ทรงโปรดสวมใส่ผ้าสวยๆ ของชาวอีสาน เป็นขวัญกำลังใจและความภูมิใจให้คนทำผ้าไทย จึงคิดจะเล่าเรื่องราวพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ควบคู่กับลายเส้นผ้าทออีสาน

ภาพของพ่อ จากปลายพู่กันดาวเด่น

เปจัง มิตรสาธิต 

       ขณะที่ “ปังเจ” เปจัง มิตรสาธิต นักศึกษา ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่ ผู้มีเชื้อสายกะเหรี่ยง เผยว่า แม้จะเกิดไม่ทันสมัยที่พระองค์ทรงขึ้นไปช่วยเหลือชาวไทยภูเขา แต่เกิดมาพร้อมเรื่องราวและความรักที่ชนเผ่ามีให้ต่อพระองค์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร ทุกคนในหมู่บ้านเชื่อว่าพระองค์จะคอยช่วยเหลืออยู่ข้างหลัง ส่วนตัวรู้สึกว่าพระองค์ดูเเลชาวเขาอย่างอบอุ่นอยู่ตลอด โดยจะเอาความรู้สึกนี้ตั้งใจวาดรูปสีน้ำมันเป็นเรื่องราวของแผ่นดินที่ทุกคนมีความสุข ใช้ชีวิตพอเพียง มีข้าว มีน้ำ มีปลา มีสัตว์ร้าย มีเรื่องร้ายบ้าง แต่เราไม่กลัวเพราะมีพระองค์คุ้มครอง

ภาพของพ่อ จากปลายพู่กันดาวเด่น

       ทั้งนี้ รางวัลสำหรับผู้ชนะในโครงการศิลปินดาวเด่นบัวหลวง จะแบ่งออกเป็นรางวัลยอดเยี่ยม, รางวัลความคิดสร้างสรรค์ และรางวัลดีเด่น ซึ่งผลงานที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นรางวัลยอดเยี่ยมจะได้รับการกลั่นกรองผ่านสายตาจากคณะกรรมการ อันมีทั้งศิลปินแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ มากมาย

        โดยเหล่าผู้เข้าประกวดมีเวลา 10 วัน ระหว่างวันที่ 19-28 พฤศจิกายน ในการสร้างสรรค์ผลงานและตัดสินในวันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ที่หอศิลป์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สนใจร่วมค้นหาดาวเด่นดวงใหม่กับโครงการ สามารถติดตามทุกความเคลื่อนไหวได้ที่เว็บไซต์ www.bualuang101.com, เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/bualuang101 และร่วมโหวตศิลปินที่ชื่นชอบกันได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 27 พฤศจิกายนนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ