Lifestyle

เรียนรู้เห็นธรรม ผ่านงานศิลป์วิจิตร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มหาวิทยาลัยศิลปากร ประกาศผลการประกวดผลงานเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ทรงคุณค่า หัวข้อ "อารยธรรมเส้นทางสายไหมทางทะเล"

    เรียนรู้เห็นธรรม ผ่านงานศิลป์วิจิตร  

     ความเจริญ ความเสื่อม ล้วนเป็นพัฒนาการของสังคม ศิลปะ วิทยาการต่างๆ ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ยอมรับ และเริ่มต้นสิ่งใหม่  เฉกเช่นการเดินทาง “อารยธรรมเส้นทางสายไหมทางทะเล” อายุ 2,000 ปีที่ผ่านมา ล้วนมีเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ มีหลากหลายวิธีการบอกเล่าให้คนสมัยใหม่ได้ศึกษา หนึ่งในนั้นคืองานศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากรชี้ภาพรวมผลงานเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ทรงคุณค่า จัดการประกวดผลงาน โครงการประกวดงานจิตรกรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 1 และ งานประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎครั้งที่ 5 ประเภทงานจิตรกรรม หัวข้อ อารยธรรมเส้นทางสายไหมทางทะเล พร้อมจัดแสดงให้ชม บริเวณหอศิลป์แห่งชาติ (ถ.เจ้าฟ้า) ตลอดทั้งเดือนกันยายนนี้

    ภายในงานแถลงข่าวและประกาศผลการประกวด พระพรหมมังคลาจารย์ (ท่านเจ้าคุณธงชัย) ประธานจัดหาทุนโครงการประกวดจิตรกรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 1 และประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2559 ได้ให้เกียรติร่วมงาน ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิร่มฉัตร มูลนิธิคิงเพาเวอร์ และคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย อ.อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดีคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวก่อนประกาศผลตัดสินว่า คณะกรรมการได้แบ่งการประกวดออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ ประเภทที่ 1 งานประติมากรรม หัวข้อ “พระพุทธรูปปางคันธารราฐ” ประเภทที่ 2 งานประติมากรรม หัวข้อ “พระพิฆเนศ” และประเภทที่ 3 งานจิตรกรรม หัวข้อ “อารยธรรมเส้นทางสายไหมทางทะเล” โดยแต่ละประเภทยังมีการแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับนิสิต นักศึกษา (อายุไม่เกิน 25 ปี) และประชาชนทั่วไป (อายุ 25 ปีขึ้นไป)

เรียนรู้เห็นธรรม ผ่านงานศิลป์วิจิตร

พระพุทธรูปปางคันธารราฐ

      ผลการตัดสินปรากฏว่า ใน ประเภทที่ 1 งานประติมากรรม หัวข้อ “พระพุทธรูปปางคันธารราฐ” ไม่มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ส่วนรางวัลที่ 2  เป็นผลงานของ อาทิตย์ วงศ์ขัน ชื่อ “พระพุทธรูปปางคันธารราฐ” แนวความคิดจากพระพุทธรูปปางคันธารราฐ เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวโรมัน ซึ่งมีความงดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว งานปั้นชิ้นนี้พยายามปั้นให้มีความใกล้เคียงและถูกต้องมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนในระดับนิสิต นักศึกษา (อายุไม่เกิน 25 ปี) เป็นผลงานของ วรุต วรรณแก้ว ในชื่อ “พระพุทธรูปปางสมาธิ” ขนาด 12 นิ้ว ใช้แนวความคิดจากการมีสมาธิเป็นหลักการปฏิบัติขั้นพื้นฐานของชาวพุทธ พระพุทธรูปปางสมาธิ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการมีสติ ในการใช้ชีวิตประจำวันของเหล่าพุทธศาสนิกชน

เรียนรู้เห็นธรรม ผ่านงานศิลป์วิจิตร

พระพิฆเนศเทพแห่งความสำเร็จ

       ด้านรางวัล ประเภทที่ 2 งานประติมากรรม หัวข้อ “พระพิฆเนศ” ระดับประชาชนทั่วไป (อายุ 25 ปีขึ้นไป) รางวัลที่ 1 เป็นของ มงคล ฤาชัยราม ในชื่อผลงาน “พระพิฆเนศเทพแห่งความสำเร็จ” สร้างจากปลาสเตอร์ สูง 67 ซม. หน้าตัก 9 นิ้ว โดยแนวคิดความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยพละกำลังและสติปัญญาสิ่งใด เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย และผู้ชนะเลิศระดับนิสิต นักศึกษา เป็นผลงานของ ชัยวัฒน์ โพธิตะนัง ในชื่อ คเณศวร สร้างจากเรซิ่นขนาด 28 นิ้ว ภายใต้แนวคิดพระพิฆเนศเป็นเทพที่เข้าถึงทุกชนชั้น ผู้คนนิยมบูชานับถือ เพราะเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์และประสบความสำเร็จ จึงได้ถ่ายทอดออกมาเป็นงานประติมากรรมที่ยืนอย่างสงบ และเมตตาประทานพรแก่ผู้กราบไหว้

เรียนรู้เห็นธรรม ผ่านงานศิลป์วิจิตร

พระพุทธรูปปางสมาธิ

       ปิดท้ายที่ผลงาน ประเภทที่ 3 งานจิตรกรรม หัวข้อ “อารยธรรมเส้นทางสายไหมทางทะเล” ระดับประชาชนทั่วไป (อายุ 25 ปีขึ้นไป) รางวัลที่ 1 เป็นผลงานของ พระปวริศธีรปัญโญ (พูนเหลือ) ชื่อ “อารยธรรมไร้พรมแดน” ใช้เทคนิคสีฝุ่นและหมึกจีน ในคอนเซ็ปต์บนเส้นทางสายไหมมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของอารยธรรมที่ก่อตัวขึ้น จนนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางปรัชญาและความงอกงามทางพระพุทธศาสนาอย่างสูงสุด ตลอดการแผ่ขยายในแต่ละภูมิภาคบนแผ่นดินที่มีความเชื่อมโยงกัน จึงจินตนาการถึงดินแดนเหล่านั้น เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ส่วนผลงานของนิสิต-นักศึกษา ไม่มีผู้ได้รับรางวัลที่ 1 โดยรางวัลที่ 2 เป็นของ ศุภวัฒน์ วิบุลศิลป์ ในชื่อผลงาน “ซากวิถี 1” ใช้การวาดลายทองผสม  ในลวดลายในอุดมคติ ความผูกพันกับวิถีชีวิตชาวประมง เป็นการผสมผสานระหว่างอารมณ์ และจินตนาการแห่งท้องทะเล ชีวิตชาวประมงต่างผูกพันกับท้องฟ้าและทะเล ทั้งสองสิ่งล้วนให้ทุกข์และสุขคละเคล้ากันไป

เรียนรู้เห็นธรรม ผ่านงานศิลป์วิจิตร

ผลงาน ซากวิถี 1

เรียนรู้เห็นธรรม ผ่านงานศิลป์วิจิตร

 ผลงาน  คเณศวร

     ศ.เมธี นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ประธานการตัดสิน ให้ความเห็นว่า ผลงานของมงคล ฤาชัยราม ใช้การปั้นมือทำได้ยาก และศิลปินสามารถจัดองค์ประกอบรูปลักษณ์ดูป้อนๆ หัวช้างกลม งวงช้างงาม ขา สะโพกต้นขา ดูรวมๆ แล้วงดงาม ขณะที่ ศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ ให้ความเห็นผลงานจิตรกรรมที่ได้รางวัลที่ 1 ที่เป็นผลงานของ พระปวริศ ธีรปญโญ (พูนเหลือ) ว่ามีการตีความการแทนค่าเป็นรูปแบบสัญลักษณ์ที่ศิลปินมีความฉลาดในการหยิบยกเอารูปแบบสัญลักษณ์ของแผนที่ทวีปสุวรรณภูมิที่แสดงอาณาบริเวณพื้นดิน และเกาะแก่งทวีปต่างๆ ในสุวรรณภูมิเป็นแรงดลใจ 

         “จุดเด่นสำคัญอยู่ที่การตีความการแทนค่าเป็นรูปแบบสัญลักษณ์ถึงแผ่นดินทวีป เกาะแก่ง ทะเล สถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้าง ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ภูมิทัศน์ ทัศนียภาพ เป็นการแทนค่าแบบสร้างสรรค์ โดยหยิบยกเอารูปแบบเรื่องราวสัญลักษณ์ของภาพจิตรกรรมแบบอุดมคติของประเทศในสุวรรณภูมิมาผสมกลมกลืนกับรูปแบบจินตนาการส่วนตัว และมีการใช้โครงสีน้ำหนักสีที่เรียบง่ายคล้าย รูปแบบการบันทึกจดหมายเหตุ เป็นภาพลายเส้นน้ำหนักสีที่เบาบาง  นับได้ว่าผลงานชิ้นนี้เป็นการนำเอาแนวคิดรูปแบบ และเทคนิควิธีการของผลงานจิตรกรรมในท้องถิ่นไทย และสุวรรณภูมินำมาประกอบสร้างแทนค่าและอธิบายความหมายใหม่ถึงเนื้อหาสาระของเส้นทางสายไหมทางทะเลในมุมมองวิสัยทัศน์ของศิลปินในยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างดีเยี่ยม” ศ.เกียรติคุณปรีชา กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ