Lifestyle

‘อิระวดี’ สายน้ำแห่งชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สายน้ำเส้นใหญ่นั้นชื่อ “อิระวดี" หรือ “เอยันวดี” ออกเสียงแบบคนท้องถิ่น แม่น้ำแห่งชีวิตของชาวเมียนมาร์ที่ไม่เคยเหือดแห้ง

‘อิระวดี’ สายน้ำแห่งชีวิต

                                                               วิถีเรียบง่ายริมอิระวดี
  ต้นทางจากภูเขาน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยละลายเป็นสายน้ำน้อยใหญ่ก่อนจะไหลรวมเป็นเส้นเดียวผ่านชุมชน แปลงเกษตร เป็นแหล่งอุปโภคบริโภค ให้ชีวิตผู้คนหลากเชื้อชาติสองฟากฝั่ง สายน้ำเส้นใหญ่นั้นชื่อ “อิระวดี" หรือ “เอยันวดี” ออกเสียงแบบคนท้องถิ่น แม่น้ำแห่งชีวิตของชาวเมียนมาร์ที่ไม่เคยเหือดแห้งแม้หน้าแล้งความร้อนจะดึงเอาความชุ่มชื้นให้ลดลงไปบ้าง แต่อิระวดียังคงมีปริมาณมากพอที่จะหล่อเลี้ยงทุกชีวิต ความไม่จบสิ้นนี้เองก่อเกิดวัฒนธรรมสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นดุจสายน้ำที่ไม่ขาดตอน
    นอกจากนี้ มวลน้ำที่ลดเลี้ยวไปมาแบ่งครึ่งเมียนมาร์จากเหนือลงใต้ได้ถึงปลายปากอ่าวทะเลอันดามันราว 2,000 กิโลเมตร ยังมีความสำคัญในแง่ของการคมนาคม เศรษฐกิจ และความหลากหลายทางระบบนิเวศ และแน่นอนว่าสร้างความตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้มาเยือนจากต่างถิ่นที่โดยสารนกเหล็กของบางกอก แอร์เวย์ส มาลงจอดเมืองหลวงเก่ามัณฑเลย์เพื่อหาความสำราญระดับ 5 ดาวบนเรือ เดอะ แสตรนด์ ครูซ (R.V.STRAND) ให้ไม่อาจละสายตายามเมื่อทอดไปตามผืนน้ำที่ไหลเชียว โดยเฉพาะช่วงฤดูน้ำหลากราวเดือนสิงหาคมที่ผืนน้ำแผ่ขยายกว่าเดิมกินพื้นที่ริมตลิ่งเลยไปถึงหมู่บ้านที่ปลูกอยู่ริมน้ำ เป็นสถานการณ์น้ำท่วมที่ดูเหมือนจะอยู่ในวิถีปกติของชาวบ้าน จึงไม่แปลกหากจะเห็นภาพผู้หญิงนุ่งกระโจมอกนั่งซักผ้า อาบน้ำบริเวณน้ำท่วม เด็กๆ แก้ผ้าเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน ส่วนผู้เป็นพ่อที่ปลดวัวจากเทียมเกวียนก็จูงมาลงกินน้ำเป็นปกติ มองดูเพลินตาสำหรับแขกเมือง

‘อิระวดี’ สายน้ำแห่งชีวิต

                                                   เรือสำราญเดอะ แสตรนด์ ครูซ
   ต้องบอกว่าชั่วโมงนี้การลงเรือท่องไปตามแม่น้ำอิระวดีนั้น ได้รับความนิยมจากหมู่นักเดินทางมากขึ้นทุกขณะ ตามคุ้งน้ำแม้ไม่ได้จัดท่าเทียบจอดอย่างเป็นเรื่องเป็นราวก็สามารถพบเห็นเรือบริการนำเที่ยวอยู่หลายเจ้า บนดาดฟ้าแต่ละลำจะเปิดโล่งให้ผู้มาเยือนได้นั่งทอดอารมณ์ กินลม ชมวิว และรื่นรมย์กับบรรยากาศสองฟากฝั่งที่คึกคักไปด้วยวิถีชีวิตเดิมๆ โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ของมัณฑเลย์อย่างวัดวาอารมและโบราณสถานที่มักเห็นคนพื้นถิ่นออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยสินค้าที่ระลึกพร้อมการสื่อสารภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว ยิ่งที่เมือง “มิงกุน” (Min Gun) ริมแม่น้ำฝั่งทิศเหนือนั้นมีแลนด์มาร์คสำคัญคือ “มิงกุน ปะโธ ดอยี” อันหรือ “เจดีย์ที่สร้างไม่เสร็จ” ก็คลาคล่ำไปด้วยแม่ค้าสาวน้อยสาวใหญ่ตามติดเพื่อนำเสนอสินค้าอย่างไม่ลดละ แต่นั่นไม่สำคัญเท่าความน่าสนใจของสมบัติชาติที่บรรพบุรุษของพวกเขาสร้างไว้ให้ ตามหลักฐานมิงกุน ปะโธ ดอยีสร้างโดยพระเจ้าปดุง หรือ พระเจ้าโบดอพญา เมื่อปี ค.ศ.1790 บ้างว่าเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความทยานอยากของกษัตริย์ที่พยายามเนรมิตเจดีย์ให้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก สุดท้ายไม่อาจสำเร็จได้ด้วยติดปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะคำทำนายว่าหากสร้างสำเร็จจะต้องเกิดเรื่องร้ายขึ้นกับราชวงศ์ มิงกุงจึงยังคงค้างคากระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์ และเจดีย์มีรอยแตกร้าวลึกขึ้นเมื่อคราวเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ใน ค.ศ.1839 จึงมีสภาพคล้ายกองอิฐมหึมา บ้างก็ว่าปิรามิดแห่งเมียนมาร์ถึงวันนี้ โดยใกล้ๆ กันยังมีระฆังที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยมีน้ำหนักถึง 90 ตัน และสร้างโดยกษัตริย์เช่นกัน

‘อิระวดี’ สายน้ำแห่งชีวิต

                                                        มหาเจดีย์ธรรมยางจีในวันฝนพรำ
  พูดถึงศรัทธาอันแรงกล้าของชาวเมียนมาร์ต่อพระพุทธศาสนา สะท้อนแนวคิดนี้ได้ดีจากเจดีย์น้อยใหญ่ที่พบเห็นได้ทั่วไป จนได้เชื่อว่าประเทศแห่งเจดีย์ไปแล้ว จนมีเรื่องเล่าขานตามมาหากอยากรู้ว่ากษัตริย์ของประเทศนี้มีมากและยิ่งใหญ่เพียงใดก็ให้ลองนับจำนวนเจดีย์เท่าที่เห็น และหลักฐานที่สนับสนุนคำพูดนี้ได้ดีอยู่ไม่ไกลเพียงไหลตามสายน้ำอิระวดีไปทางใต้ของมัณฑเลย์ราว 145 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเมืองแห่งทะเลเจดีย์ “พุกาม” ใช้เวลาไม่มากไม่น้อยราว 1 วันเต็มก็ถึงจุดหมาย 
อาณาจักรโบราณอุดมไปด้วยเจดีย์ที่่ในสมัยรุ่งเรืองเคยมีกว่า 4,000 องค์ ผ่านกาลเวลาเหลือให้ยลไม่มากไม่น้อยในวันนี้ราว 2,000 องค์ โดยเจดีย์องค์แรกที่สร้างโดยพระเจ้าอโนรธามังช่อ ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรชื่อ “เจดีย์ชเวซีกอง” สูงใหญ่เด่นตระหง่าน ตามธรรมเนียมการสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ที่สุดกษัตริย์จะทรงสร้าง และองค์ขนาดลดหลั่นลงมาจะสร้างโดยเหล่าขุนนาง อำมาตย์ ตามบรรดาศักดิ์ ปัจจุบันชเวซีกองยังสมบูรณ์อยู่มาก เนื่องจากอยู่ในวัดที่ยังมีพระภิกษุจำพรรษาจึงมีการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างสม่ำเสมอ  นอกจากนี้ยังมีเจดีย์และวัดสำคัญๆ อีก เช่น เจดีย์ชเวซันดอ, เจดีย์อนันดา ที่ได้ชื่อว่าเป็นเพชรแห่งพุกามผสมผสานศิลปะแบบพุกามแท้ๆ เข้ากับสถาปัตยกรรมตะวันตกได้อย่างลงตัว เจดีย์สุลามณี ที่สร้างโดยพระเจ้านรปติสิทธูมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง งานปูนปั้น เล่าเรื่องพุทธประวัติ และวิถีชีวิตได้อย่างน่าสนใจ เจดีย์ธรรมยางจี ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพุกามแบบแปลนคล้ายเจดีย์อนันดา ทว่าสร้างไม่เสร็จเพราะกษัตริย์นราธุผู้สร้างสิ้นพระชนก่อน เป็นต้น 
     

‘อิระวดี’ สายน้ำแห่งชีวิต

                                                                   มิงกุนปะโธ ดอยี

     แม้จะยิ่งใหญ่สืบจากอดีตถึงปัจจุบันโดยยังคงรักษาความงดงามไว้อย่างไร้ที่ติ แต่พุกามก็ยังไร้ทะเบียนการันตีความเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก ส่วนเหตุผลจะด้วยรัฐบาลยังเฉยๆ หรือบ้างก็ว่ามีการบูรณะซ่อมแซมที่ผิดหลักการมรดกโลกหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ ที่แน่ๆ ทุกวันนี้จำนวนเจดีย์ที่พุกามยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากของใหม่ที่สร้างตามแรงศรัทธาและให้ดูเก่าคล้ายของดั้งเดิมแทรกตัวอยู่โดยทั่วไป 

‘อิระวดี’ สายน้ำแห่งชีวิต

                                                               ระฆังยักษ์ที่มัณฑเลย์
     ก็ว่ากันไป...แต่ที่่ไม่เคยเปลี่ยนเห็นจะเป็นสองฝั่งมหานทียังร่ำรวยด้วยเรื่องราว ทั้งตำนาน, ความรัก, ความเชื่อทางศาสนา และศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งการลัดเลาะไปตามอิระวดีเที่ยวนี้ถือว่าได้ศึกษาประวัติศาสตร์อีกหลายแง่มุมของเมียนมาร์ เป็นประสบการณ์ล้ำค่าในดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปีกับความรุ่งเรืองหลากยุคหลายสมัย...

‘อิระวดี’ สายน้ำแห่งชีวิต

                                                      ปลาเล็กปลาใหญ่ที่ตลาดพุกาม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ