Lifestyle

พื้นที่สะท้อนจิตวิญญาณ ‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้จักรพันธุ์ โปษยกฤต ความหวังครั้งใหม่ของ อ.จักรพันธุ์

พื้นที่สะท้อนจิตวิญญาณ ‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต’

          ถามถึงศิลปินมากฝีมือที่มากกว่าจิตรกรรม หากยังช่ำชองทั้งวรรณกรรม ประติมากรรม ประณีตศิลป์ และหุ่นกระบอก อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต คือผู้นั้นอย่างเบ็ดเสร็จ...น้อยคนนักยามได้สัมผัสลายเส้น สีสัน ท่วงท่า อันเป็นเอกลัษณ์ที่ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (วิจิตรศิลป์) บรรจงเสกสรรค์ขึ้นแล้วจะไม่หลงใหล ด้วยทุกสิ่งล้วนกลั่นมาจากจิตวิญญาณ มาวันนี้ “ศิลปินชั้นครู” ในวัย 73 ปีเต็ม (เมื่อวันที่ 16 ส.ค.) ยังคงเดินทางบนเส้นทางศิลปะในฉบับตัวเองแม้ว่าเรี่ยวแรงจะอ่อนลงด้วยโรคชรา และหนักกว่านั้นคืออาการป่วยเส้นเลือดในสมองตีบเมื่อปลายปีก่อน

พื้นที่สะท้อนจิตวิญญาณ ‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต’
       

            ภัยภายในร่างกายดูเหมือนว่าทำใจยอมรับได้ไม่ยาก หากภัยจากปัจจัยภายนอกนั้นรุมเร้าให้ต้องครุ่นคิดหาทางแก้อยู่เนืองๆ เหตุอันเนื่องมาจากหลายปีก่อน อ.จักรพันธุ์ มีกรณีพิพาทกับโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมบริเวณที่ดินติดกับบ้านในซอยเอกมัยที่ใช้เป็นพื้นที่สร้างงานศิลป์ และที่ทำการมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ซึ่งหากมีการลงเสาก่อสร้างจริงจะกระทบกระเทือนต่อโครงสร้างบ้านไม้เก่าแน่นอน เพื่อเป็นการคลี่คลายปัญหาที่ยังไม่มีแนวทางแก้ชัดเจน หนึ่งทางออกที่ได้หารือร่วมกันก็คือการหาพื้นที่สำรองสำหรับเก็บรักษาผลงาน พร้อมกับจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ ท้ายที่สุดได้ที่ดินย่านสายไหม กรุงเทพมหานคร ลงหลักปักฐานเป็น “พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้จักรพันธุ์ โปษยกฤต” โดยงบประมาณส่วนหนึ่งได้มาจากการจัดทำและจำหน่ายหนังสือ “จักรพันธุ์ โปษยกฤต 6 รอบ” ในโอกาสอายุครบ 72 ปี รวมถึงการให้เช่าบูชาพระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย ออกแบบและปั้นโดย อ.จักรพันธุ์ 

พื้นที่สะท้อนจิตวิญญาณ ‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต’


          หลายวันก่อน “คม ชัด ลึก” มีโอกาสแวะไปเยี่ยมเยือนศิลปินแห่งชาติผู้นี้ในวันที่อาการป่วยเริ่มดีขึ้นแต่ยังไม่สามารถพูดคุยได้มากนัก จึงเป็นหน้าที่ของคนใกล้ชิดอย่าง “ต๋อง” วัลลภิศร์ สดประเสริฐ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะรองประธานมูลนิธิ เล่าที่มาที่ไปของโครงการพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ศิลปะว่าช่วงเกิดปัญหาได้คิดหาทางออกโดยระดมทุนได้ก้อนหนึ่งจึงไปซื้อที่ดินย่านสุขาภิบาล 5 ซอย 58 เขตสายไหม เนื้อที่ 5 ไร่เศษ สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์รูปแบบเรียบง่ายและร่วมสมัยออกแบบโดยสถาปนิก จิรากร ประสงค์กิจ และ สมชาย จิตคงกาล แฟนคลับตัวยงของ อ.จักรพันธุ์ สำหรับเก็บรวบรวมและจัดแสดงผลงานของอ.จักรพันธุ์ ตลอดชีวิตการทำงานอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานสากล เพราะตอนนี้มีบางส่วนที่อาจยังปะปนกันและมีจำนวนมากนับไม่ถ้วน 

พื้นที่สะท้อนจิตวิญญาณ ‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต’


          "เราระดมทุนเบื้องต้นได้ 30 ล้านบาทเพื่อซื้อที่ ส่วนมูลค่าการก่อสร้างอยู่ราว 90 ล้านบาท ตัวอาคารออกแบบเป็น 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 5,000 ตร.ม. ชั้นล่างเป็นใต้ถุนสูงสำหรับจัดอีเวนท์เกี่ยวกับศิลปะ ขึ้นมาชั้น 2 เป็นโรงละครความจุ 300 ที่นั่ง เพดานสูง 7 เมตรสำหรับกิจกรรมเชิดหุ่นกระบอก มีชั้นลอยด้วยสำหรับแสดงผลงานที่เปราะบางของอาจารย์ มีคาเฟ่ และร้านขายของที่ระลึก ส่วนชั้น 3 เป็นโซนนิทรรศการ มี 3 ห้อง ห้องแรกแสดงผลงานจิตรกรรม ห้องที่ 2 แสดงหุ่นกระบอก และห้องที่ 3 เป็นพื้นที่ทำงานของอาจารย์ ไฮไลท์สำคัญแน่นอนว่าเป็นภาพเขียนล้ำค่าหาดูยากของอาจารย์ รวมถึงหุ่นกระบอก เฉพาะเรื่องตะเลงพ่ายหุ่นที่เป็นคนก็ร่วม 200 ตัว ไม่รวมช้าง จระเข้ ม้า ยังมีหุ่นสามก๊กอีก 40 ตัว เรื่องนางลอย เรื่องพระอภัยมณี แล้วก็หุ่นของคุณยายชื้นสมัย ร.6 อีกหลายตัว จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมงานศิลป์ที่ประเมินค่าไม่ได้อีกแห่งหนึ่งเลยทีเดียว" มือขวา อ.จักรพันธุ์ กล่าว

 

พื้นที่สะท้อนจิตวิญญาณ ‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต’
         

          วัลลภิศร์ ยอมรับว่างบประมาณที่หาได้มีความไม่แน่นอน ปัจจุบันตัวอาคารได้ก่อสร้างเสร็จแล้วกว่าร้อยละ 90 เหลือเพียงงานตกแต่งภายในที่ค่อยๆ ทำไปด้วยงบประมาณที่จำกัด โดยเฉพาะค่าติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่มีราคาสูงถึง 15 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีระบบไฟฟ้า ตู้จัดแสดงผลงานศิลปะ ซึ่งความจริงตามแผนงานควรจะเสร็จเรียบร้อยทั้งอาคารภายในปีนี้ แต่ยังติดปัญหาด้านงบประมาณ คาดว่าคงต้องต่ออายุการก่อสร้างออกไปอีก 1 ปี ตามกฎหมายก่อสร้างของกรุงเทพฯ 
          “เร็วๆ นี้เราตั้งใจจัดนิทรรศการเพื่อระดมทุนอีกทาง แต่คุยกันแล้วอยากให้หมดช่วงหน้าฝนก่อน เพราะการเอาผลงานต้นฉบับของอาจารย์ออกมาแสดงต้องมั่นใจว่าจะไม่เสียหาย ที่วางแผนไว้คือเอาออกมาแสดงหมุนเวียนทุกๆ 3 เดือนครั้งละ 20 ชิ้น มีการเชิดหุ่นกระบอกด้วย เรื่องตะเลงพ่าย แบ่งเป็นฉากๆ ต่อเรื่องไปเรื่อยๆ และถึงแม้ว่าตอนนี้อาจารย์จะทำงานลำบากแต่ท่านก็ไม่ถอดใจ ล่าสุดขณะรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลก็ยังให้เอาอุปกรณ์วาดภาพไปให้แล้วท่านก็เป่าสีเป็นรูปชะนีกับสิงโต” วัลลภิศร์ เล่าพร้อมรอยยิ้ม

 

พื้นที่สะท้อนจิตวิญญาณ ‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต’


          ทั้งนี้ ในส่วนของการระดมทุนเพิ่มเติมด้วยการจัดนิทรรศการนั้น ได้รับการยืนยันว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมนี้แน่นอน โดยจะเปิดให้เข้าชมฟรี ส่วนใครอยากอุดหนุนหนังสือรวบรวมผลงานของ อ.จักรพันธุ์ ในโอกาสอายุครบ 6 รอบ ที่ภายในเล่มบรรจุผลงานจิตรกรรมกว่า 500 ชิ้น ตั้งแต่เริ่มขีดเขียนจนเป็นศิลปินแห่งชาติ พร้อมบทบรรยายภาษาไทยและอังกฤษ บอกเล่าเรื่องราวชีวิต ความคิด และการทำงานศิลป์ในแบบเฉพาะตัว หนึ่งชุดมี 2 เล่มราคา 6,000 บาท ก็เชิญได้ตามกำลังศรัทธา....  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ