Lifestyle

เส้นทางพัสตราภรณ์ สู่โขนพระราชทาน “พิเภกสวามิภักดิ์”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตามไปดูเส้นทางการทำเสื้อผ้าอาภรณ์ กว่าจะมาเป็นชุดสวยๆ บนตัวนักแสดงโขน

           เส้นทางพัสตราภรณ์ สู่โขนพระราชทาน “พิเภกสวามิภักดิ์”

          นับเป็นเวลานานถึง 1 ทศวรรษที่ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวณีย์ทรงอนุรักษ์และฟื้นฟู “การแสดงโขน” ให้กลับมามีชีวิตและได้รับความนิยมสูงสุดอีกครั้ง ในปีนี้ที่นับเป็นวาระอันเป็นมหามงคล 2 ได้แก่ การครบรอบครองสิริราชสมบัติของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 70  ปี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงได้จัดการแสดงโขนพระราชทาน ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ขึ้นแต่ก่อนจะถึงวันแสดงจริง หนึ่งในไฮไลท์ที่ควรค่าแก่การรับรู้ก่อนเข้าชม คือการนำชมฝีไม้ลายมือการปักเครื่องโขนที่ใช้สำหรับการแสดง รวมถึงการทอผ้ายกทองของสมาชิกศูนย์ ศิลปาชีพสีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง

เส้นทางพัสตราภรณ์ สู่โขนพระราชทาน “พิเภกสวามิภักดิ์” อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย-ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ

          ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เล่าว่า การแสดงทุกตอนที่ผ่านมาองค์ประกอบต่างๆ ของโขนฯ ล้วนสร้างความประทับใจและความซาบซึ้งในความงดงามของศิลปะไทย ไม่ว่าจะเป็นฉาก แสง สี เสียง พัสตราภรณ์ และเครื่องประดับต่างๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างประณีต ตามจารีตโบราณ รวมถึงผ้ายกทองที่นักแสดงใช้นุ่งตามบทบาทต่างๆ ที่ได้มีความพยายามในการฟื้นฟูการทอผ้ายกแบบโบราณมาหลายปีจนประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งได้รับการฟื้นฟูในการสืบลายผ้ามาจาก จ.นครศรีธรรมราช แต่ด้วยกระบวนการในการปักเครื่องโขน และการทอผ้า ต้องใช้ระยะเวลาจึงมีการสืบสานงานในส่วนนี้ โดยนำครูจากศูนย์ศิลปาชีพเนินธัมมัง จ.นครศรีธรรมราช มาพัฒนาอาชีพให้กับสมาชิกที่นี่ เพื่อเป็นแรงกำลังสำคัญในครั้งนี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านแล้ว ยังนับเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์การปักเครื่องโขน และการทอผ้ายกแบบโบราณให้คงอยู่สืบไป

เส้นทางพัสตราภรณ์ สู่โขนพระราชทาน “พิเภกสวามิภักดิ์”

เส้นทางพัสตราภรณ์ สู่โขนพระราชทาน “พิเภกสวามิภักดิ์”

เส้นทางพัสตราภรณ์ สู่โขนพระราชทาน “พิเภกสวามิภักดิ์”           ด้าน อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ดูแลในส่วนของเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เผยว่า การแสดงโขนเป็นการจำลองเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพระราชสำนัก การแต่งกายของตัวแสดงจึงต้องคำนึงถึงจารีตในราชสำนักเป็นหลัก ซึ่งผ้าที่นำมาใช้ตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า “ผ้าเยียรบับ” เป็นผ้ายกลวดลายสวยงามแต่ละลายระบุถึงศักดินาของผู้สวมใส่ อย่างลายที่นำมาสอนให้สมาชิกที่นี่ทอนั้นหลักๆ จะเป็นลายก้านแย่งพุ่มข้าวบิณฑ์ดอกใน เป็นลายที่มีความสลับซับซ้อนสวยงาม ใช้สำหรับตัวแสดงที่รับบทเป็นกษัตริย์เชื้อพระวงศ์ และขุนนางชั้นสูง ส่วนไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การย้อมสีธรรมชาติ อย่างสีแดงจากคลั่ง สีเหลืองจากไม้มะพูด สีน้ำเงินจากใบคราม สีเขียวจากการผสมระหว่างไม้มะพูดกับคราม และสีม่วงจากคลั่งและคราม  เส้นทางพัสตราภรณ์ สู่โขนพระราชทาน “พิเภกสวามิภักดิ์” ลายแย่งพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าขบ

เส้นทางพัสตราภรณ์ สู่โขนพระราชทาน “พิเภกสวามิภักดิ์” ลายทักษิณาวัตร

          “ส่วนเครื่องโขนทำทั้งหมด 4 ลาย ได้แก่ ลายราชวัตรดอกลอย ลายพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าขบ ลายราชวัตรย่อมุมไม้สิบสอง และลายทักษิณาวัตร ซึ่งในแต่ละปีจะมีการปักเพื่อใช้สำหรับพัสตราภรณ์ในการแสดงที่แตกต่างกันออกไป ใช้สำหรับตัวละครที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พิเภก, ทศกัณฑ์, เสนายักษ์” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้า อธิบาย

เส้นทางพัสตราภรณ์ สู่โขนพระราชทาน “พิเภกสวามิภักดิ์”           วสะวรรณ โตงาม สาวพิการวัย 42 ปี หนึ่งในสมาชิกจากแผนกปักผ้า เล่าให้ฟังว่า เข้ามาทำงานที่ศูนย์นี้เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ด้วยความที่เป็นคนชอบเย็บปักถักร้อยอยู่แล้ว พอทราบข่าวว่าที่นี่เปิดแผนกปักผ้าจึงเข้ามาสมัครและได้สิทธิ์ให้เข้ามาฝึกอาชีพได้เลย ตอนแรกที่เริ่มทำงานต้องปักผ้าซอย เป็นรูปสัตว์ รูปทิวทัศน์ทั่วไป จนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาจึงมีโอกาสทำงานปักผ้าโขน ซึ่งยอมรับว่ายากมากต้องฝึกอยู่นานกว่าจะได้ลวดลายที่อ่อนช้อยสวยงาม 

          “เข้ามาทำงานที่นี่ชีวิตเปลี่ยนไปมาก  รู้สึกเลยว่าชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น ยิ่งได้มาปักเครื่องโขนภูมิใจที่ได้ทำงานสวยๆ ทั้งยังมีโอกาสไปดูการแสดงจริงที่กรุงเทพฯ ด้วย เห็นตัวแสดงสวมใส่ชุดที่เราปักแล้วดีใจ ภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะได้สืบสานศิลปะชั้นสูงที่การแสดงที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงฟื้นฟูขึ้นให้คงอยู่สืบไป และจะพยายามทำเต็มที่เท่าที่จะทำได้" วสะวรรณเล่าด้วยแววตาภาคภูมิใจ ขณะกำลังปักลายราชวัตรดอกลอยอย่างตั้งใจ

          อีกหนึ่งในสมาชิกจากแผนกปักผ้า นิตยา ศรีเมืองวัย 42 ปี ที่กำลังปักลายพุ่มข้าวบิณฑ์หน้าขบ สำหรับตัวแสดงเป็นเสนายักษ์ บอกถึงความยากง่ายของการปักเครื่องโขนว่า ตัวเองเข้ามาฝึกอาชีพตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ก่อนที่จะมาปักเครื่องโขนปักผ้าซอยมาก่อน ซึ่งการปักแบบนั้นจะต้องเทียบสีให้เหมือนกับแบบที่ให้มา แต่สำหรับการปักลายบนเครื่องโขนไม่ต้องเทียบสีเพราะลายนี้จะใช้สีทองเพียงสีเดียว แต่จะเน้นไปที่ความประณีต จึงต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะเสร็จแต่ละส่วน อย่างส่วนหน้าของเสื้อที่ปักอยู่นี้ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งนับเป็นความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงที่ยิ่งใหญ่

เส้นทางพัสตราภรณ์ สู่โขนพระราชทาน “พิเภกสวามิภักดิ์”           น้ำฝน ชื่นกลิ่น วัย 21 ปี บอกว่า เข้ามาเป็นสมาชิกในศูนย์ได้ 3 ปีแล้ว เข้ามาปีแรกก็มีโอกาสได้ปักผ้าโขนเลย แต่ก็ต้องฝึกลายเดินเกลียวก่อน พอชำนาญแล้วจึงมาปักเป็นลวดลาย ต่างๆ อย่างลายที่ปักอยู่ตอนนี้เป็นลายราชวัตรย่อมุมไม้ 12 เป็นหนึ่งในลายที่ตัวเด่นของเรื่องคือพิเภกสวมใส่ ซึ่งในวันแสดงจริงจะได้ไปดูการแสดงด้วย ทุกครั้งที่เห็นจะรู้สึกดีใจ และภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่สืบไป

          สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี พ.ศ.2559 ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” กำหนดจัดแสดง ระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน–5 ธันวาคม ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ