Lifestyle

เรียนรู้ประวัติศาสตร์รำลึกรักชาติไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรียนรู้ประวัติศาสตร์รำลึกรักชาติไทย : คอลัมน์ ศิลปวัฒนธรรม เรื่อง-ภาพ... ณัฐธิดา ภูผิวผา


   
          "..เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า การที่จะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย.." พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จากกระแสพระราชดำรัสสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่มาที่ไปของประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีต ที่หากไม่มีอดีตก็คงไม่มีปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงถือโอกาสพาไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่อยากให้คนไทยได้ศึกษาและตระหนักถึงความเป็นไทยร่วมกัน
    
          ทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เริ่มมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่4 ในช่วงนั้นเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ยังไม่เปิดให้ประชาชนเข้าชม โดยรัชกาลที่ 4 ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของกิจการพิพิธภัณฑ์ ทรงริเริ่มเก็บรวบรวมสิ่งของ งานประณีตศิลป์สวยงาม สร้างห้องจัดแสดงขึ้น  จนมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำหรับพระนคร ที่ประชาชนสามารถเข้าชมได้ เรียกว่า “มิวเซียม” กิจการพิพิธภัณฑ์นั้นได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเรื่อยมา ภายหลังย้ายมาบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมหาราชวัง เขตพระนคร  และให้ชื่อว่า "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร"
    
          “ในช่วงนั้นเป็นยุคของการล่าอาณานิคม ประเทศไทยถูกคุกคามจากชาติตะวันตก ห้องที่ใช้จัดแสดงสิ่งของก็ผ่านตาเอกอัคราชทูตนานาประเทศที่มาเข้าเฝ้าฯ เรื่องของพิพิธภัณฑ์แต่เริ่มนั้นถูกใช้มากึ่งๆ การเมืองการปกครองเล็กน้อย เพราะในสมัยนั้นชาติตะวันตกกล่าวหาว่าเราเป็นประเทศป่าเถื่อนด้อยพัฒนา จึงจะมายึดประเทศไทยของเรา ในขณะเดียวกับที่กิจการพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นในยุโรปมาก่อนแล้ว พระองค์ท่านจึงได้ใช้เรื่องการจัดคอลเลกชั่นสิ่งของสวยงามต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่แสดงออกถึงความมีอารยะของประเทศ และเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีด้วย” ทศพรเล่าประวัติพิพิธภัณฑ์ให้ฟังคร่าวๆ
    
          พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปรียบเสมือนห้องเรียนประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุด ให้ประชาชนทั้งชาวไทยและต่างชาติได้มาเที่ยวชมพร้อมทั้งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมแต่ละยุคสมัยของไทย โดยมีอาคารที่สำคัญ อาทิ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน จัดแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย เริ่มตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยจนเกิดกรุงสุโขทัย เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงการสถาปนาราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ถ่ายทอดพระอัจฉริยภาพ พระราชกรณียกิจ และพระปรีชาของพระมหากษัตริย์ไทย ด้านหน้าทางเข้ามีศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แสดงรูปอักษร “ลายสือไทย” ถัดมาที่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทยแต่โบราณ ด้านบนเพดานและฝาผนังมีภาพวาดจิตรกรรมสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีความประณีตงดงาม และในปีนี้ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2557 มีกิจกรรม “นบพระนวรัฐ พระปฏิมา 9 แผ่นดิน” อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญให้ประชาชนได้มากราบไหว้สักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ได้ตั้งแต่วันนี้- 26 มกราคม 2557
    
          อาคารต่อมา พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เป็นห้องจัดนิทรรศการหมุนเวียน และจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ งานประณีตศิลป์ชิ้นเอกโดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ อาทิ เครื่องราชยานคานหาม เครื่องทอง เครื่องถ้วย เป็นต้น ต่อมาได้สร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีก 2 หลัง คือ อาคารมหาสุรสิงหนาท จัดแสดงความเป็นมา ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และในยุคประวัติศาสตร์ตั้งแต่อาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี ตลอดจนอิทธิพลอารยธรรมอินเดียสมัยก่อนพุทธศักราช 1800 และอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงศิลปวัตถุ งานประณีตศิลป์จากอาณาจักรล้านนา สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์
    
          ทั้งนี้ ทศพร ยังสะท้อนอีกว่า เรื่องของประวัติศาสตร์อารยธรรมของชาติถือเป็นเรื่องสำคัญที่คนในชาติควรมีพื้นฐานความรู้ แต่ในปัจจุบันความนิยมเที่ยวพิพิธภัณฑ์นั้นค่อนข้างน้อย กลุ่มเป้าหมายหลักที่อยากให้เริ่มปลูกฝังการเรียนรู้คือเด็กๆ และเยาวชน  อยากให้เยาวชนรุ่นใหม่และคนไทยตระหนักถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ของชาติ การเรียนประวัติศาสตร์ในหนังสือคงไม่สนุกเท่ากับการมาเห็นของจริง
    
          สำหรับผู้สนใจเที่ยวชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดให้บริการทุกวันพุธ-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 9.00-16.00 น.

.......................................
(หมายเหตุ เรียนรู้ประวัติศาสตร์รำลึกรักชาติไทย : คอลัมน์ ศิลปวัฒนธรรม  เรื่อง-ภาพ... ณัฐธิดา  ภูผิวผา)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ